รู้จัก 5 สังเวียนแข้งศึกเจลีก 2023 เทคโนโลยีสุดโต่ง น้ำท่วมยาก!

เมื่อพูดถึงสนามฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น มีอยู่หลายสนามเลยทีเดียวที่ได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย และไม่ใช่แค่การออกแบบสนามที่สวยงามเพียงแท่านั้น แต่รวมไปถึงสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในและนอกสนามยังเป็นที่โดดเด่นอย่างมาก

โดยเฉพาะพื้นสนามฟุตบอลที่วางระบบระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมสนามไว้ได้อย่างดีเยี่ยม เรียกว่าต้องยกนิ้วให้กับความใส่ใจของพวกเขาเลยจริงๆ

เราได้คัดสรรเลือก 5 สนามฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น ที่ทันสมัย และดูรวม ๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน จนอยากจะให้แฟนบอลชาวไทย ได้ไปสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองสักครั้ง

เริ่มที่อันดับ 5 สนามซัปโปโร โดม รังเหย้าของสโมสรฮอกไกโด คอนซาโดเล่ ซัปโปโร ที่มีความจุ 38,794 ที่นั่ง เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2544 ถือเป็นสนามที่ใช้รองรับการแข่งขันกีฬายอดฮิตอยู่ 2 อย่างคือเบสบอล และฟุตบอล แถมยังเคยใช้จัดฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้ายมาแล้วถึง 3 เกมในรอบแบ่งกลุ่มด้วย

แน่นอนว่าสนามแห่งนี้แฟนบอลชาวไทยคงจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมีนักฟุตบอลชาวไทยไปค้าแข้งที่นี่ถึง 2 คนได้แก่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ และคนปัจจุบันอย่าง สุภโชค สารชาติ ทำให้สาวกชาวไทยคงได้ติดตามจากการถ่ายทอดสดจากสนามแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตามสนามดังกล่าว ตัวของสนามนั้น ได้มีกลไกที่สามารถสับเปลี่ยนพื้นของสนามทั้งสองชนิดกีฬาได้อีกด้วย แถมเทคโนโลยีนี้ยังทันสมัยมาก เพราะยังได้ใส่อ็อปชันอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อมีสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งฝนตก หรือหิมะตะ ก็ยังมีหลังคาที่ปิดครอบคลุมทั้วสนาม

ถือเป็นโดมเอนกประสงค์ที่รองรับสภาพอากาศทุกฤดูกาลจริงๆ

อันดับ 4 สนามพานาโซนิค สเตเดี้ยม ซูอิตะ รังเหย้าของสโมสรกัมบะ โอซาก้า ที่มีความจุ 39,694 ที่นั่ง เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ในเขตนครซูอิตะ จังหวัดโอซาก้า ถือเป็นสนามที่มีเสน่ห์มากๆ เพราะไม่มีลู่วิ่ง อัฒจรรย์ติดขอบสนาม ทำให้แฟนบอลมีความรู้สึกใกล้ชิดจึงส่งผลให้เสียงเชียร์ดังก้องกังวาลทั่วสนาม

โดยสนามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาคล้ายคลึงกับสนามของสโมสรในศึกพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ที่ไม่มีลู่วิ่ง แถมตัวหลังคายังออกแบบพิเศษเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้โคมไฟ LED และพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งส่วนนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากโคมไฟ LED โดยลดต้นทุนการดำเนินงานผ่านการประหยัดพลังงาน อายุการใช้งานที่ยาวนาน และการคืนสภาพแสงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสนามแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับอพยพและกองบัญชาการรับมือภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย

อันดับ 3 สนามอายิโนะโมโตะ สเตเดี้ยม รังเหย้าของสโมสรเอฟซี โตเกียว ที่มีความจุ 47,851 ที่นั่ง เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2544 ถือเป็นสนามที่ค่อนข้างใหญ่ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง แถมยังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองโจฟุ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งขององค์การวิจัยและพัฒนาคารสำรวจอวกาศ หรือองค์กรที่เทียบเท่า NASA นั่นเอง

โดยสนามแห่งนี้มีกิจกรรมที่ขึ้นชื่อของเหล่าสาวกนักช็อปปิ้ง เพราะรอบๆด้านนอกสนามแห่งนี้จะมีตลาดนัดของมือสองทุกช่วงสุดสัปดาห์ และสิ่งหนึ่งที่ที่ทำให้สนามแห่งนี้แตกต่างไปจากสนามอื่น ทั้งมีสนามหญ้าสีเขียวสวยสะอาดปกคลุมทั่วสนาม

รวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ได้เอง และสถาปัตยกรรมกรีนวอล (Green Wall) ซึ่งสนามแห่งนี้นอกจาก เอฟซี โตเกียว จะใช้เป็นรังเหย้าแล้ว ยังมี โตเกียว เวอร์ดี้ ทีมในระดับเจลีก 2 ใช้เป็นรังเหย้าอีกทีมด้วย

อันดับ 2 สนามไซตามะ สเตเดี้ยม 2002 รังเหย้าของสโมสรอุราวะ เรดส์ ต้นสังกัดใหม่ของ เอกนิษฐ์ ปัญญา ที่มีความจุ 62,010 ที่นั่ง ถือว่าเป็นสนามเฉพาะฟุตบอลที่ใหญ่อลังที่สุดแล้วในเอเชีย และเคยผ่านสมรภูมิการจัดฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้ายมาแล้วประกอบด้วย รอบแบ่งกลุ่ม 3 นัด และรอบรองชนะเลิศอีก 1 นัด

โดยสนามแห่งนี้ใช้หญ้าธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งกว้าง 68 เมตร และยาว 105 เมตร แถมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบทั้งคนปกติรวมไปถึงคนพิการด้วย แถมยังเป็นหนึ่งในสนามในเอเชียที่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ จอที่ถ่ายทอดด้านในมีขนาดใหญ่ยักษ์

จึงไม่แปลกใจว่าแต่ละเกมจะมีแฟนบอล "ปีศาจแดงแห่งเอเชีย" เข้าไปเชียร์กับเกือบเต็มความจุทุกเกม

มาถึง อันดับ 1 คงต้องขอยกให้กับสนามนิสสัน สเตเดี้ยม รังเหย้าของสโมสรโยโกฮาม่า เอฟ มารินอส ความจุสนาม 71,822 ที่นั่ง ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และยังจุคนได้มากกว่าสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นแห่งใหม่ ที่จุคนได้ 68,698 ที่นั่งเท่านั้น

นอกจากนี้นิสสัน สเตเดี้ยม เคยเป็นสนามที่ใช้ในรอบชิงชนะเลิศ ศึกฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้าย และนัดชิงชนะเลิศทั้งบอลชายและบอลหญิง ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ตลอดจนใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน รักบี้ชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2019 มาแล้วอีกด้วย

สนามแห่งนี้ 3 ส่วน 4 ของสนามมีหลังคาคลุมอัฒจรรย์กันแดดและลม โดยรัฐบาลใช้งบราว 60.3 ล้านเยน ในการเนรมิตสนามแห่งนี้ขึ้นมาเมื่อปี 1998 และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2541 ก่อนนิสสันได้เข้ามาทำสัญญาต่อถึงปัจจุบัน

โดยจุดเด่นของสเตเดี้ยมแห่งนี้คือการเดินทางที่สะดวกสบาย เพราะสามารถเดินจากสถานีรถไฟฟ้า ชินโยโกฮาม่า มาถึงสเตเดี้ยม ใช้เวลาเพียงแค่ 15 นาที เท่านั้น

ต้องบอกเลยว่า ทั้ง 5 สนามของประเทศญี่ปุ่นที่เลือกมานั้น แต่ละสเตเดี้ยมมีความเป็นเอกลักษณ์และรองรับกับทุกสภาพอากาศ ทุกที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แถมแต่ละสนามยังเอาใจใส่ทุกๆสัดส่วน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เหล่าแฟนลูกหนัง ที่รักฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจได้อย่างยอดเยี่ยม

ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดวงการฟุตบอลญี่ปุ่น จึงถูกยกให้เป็นลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย หวังว่าสนามฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น จะเป็นต้นแบบให้กับชาติต่างๆ ได้ศึกษาและนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

" กอล์ฟ เบนเทเก้ "


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport