กีฬาฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น ในอดีตยังคงไม่ได้เป็นกีฬาที่นิยมมากนัก แม้จะมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกในชื่อ เจแปน ซ็อคเกอร์ ลีก หรือ (JSL) ขึ้นครั้งแรกในปี 1965 แต่ยังเป็นกีฬาประเภททีมในญี่ปุ่นรองจากลีกเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่น ที่ถือกำเนิดก่อนตั้งแต่ปี 1936 และยังคงนิยมมากมาจนถึงตอนนี้
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่สมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งลีกฟุตบอลอาชีพอย่าง "เจลีก" ในปี 1992 และเริ่มเปิดฉากฤดูกาลแรกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1993 จนมาถึง ณ ปัจจุบันผ่านมาแล้วถึง 30 ปี หรือเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ กระแสการตอบรับจากแฟนบอลในญี่ปุ่นเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
วิวัฒนาการของวงการลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัย เดินหน้าแบบก้าวกระโดด จนถูกยกให้เป็นลีกลูกหนังอันดับหนึ่งของทวีปเอเชียแบบไม่ต้องสงสัย ที่การันตีด้วยการสร้างนักฟุตบอลสายเลือดซามูไร ส่งออกสู่เวทีชั้นนำของทวีปยุโรป และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย
ปัจจุบันศึกฟุตบอลเจลีก มีถึง 60 สโมสรที่ร่วมฟาดแข้งเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ฝันเอาไว้ แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย เจลีก 1 มี 18 ทีม, เจลีก 2 มี 22 ทีม และเจลีก 3 มี 20 ทีม แต่รากฐานสำคัญ และความมั่นคงที่ทำให้ทั้ง 60 ทีมยังยืนหยัดได้ คงหนีไม่พ้นบรรดาแฟนบอลที่คอยซัพพอร์ตเคียงข้างอยู่เสมอนั่นเอง
แฟนบอลของแต่ละสโมสรจะคอยสนับสนุนทั้งในและนอกสนาม โดยบทบาทในสนามมีวัฒนธรรมการเชียร์ที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ นอกจากการส่งเสียงเชียร์ ร้องเพลง กระโดดโลดเต้นเพื่อให้กำลังใจนักเตะตลอดทั้งเกมแล้ว บางสโมสรจะนำธงขนาดใหญ่มาโบกสะบัดเป็นจังหวะตลอดเกมการแข่งขัน จนเกิดเป็นภาพที่สวยงามตามการถ่ายทอดสดที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก
อีกทั้งหลังจบเกมการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่ขาดไม่ได้ จนทำให้แฟนบอลทั่วโลก ต้องยกนิ้วชื่นชมอย่างแพร่หลายนั่นคือ ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับ แฟนบอลญี่ปุ่นเกือบ 100 เปอร์เซนต์ จะช่วยกันเก็บขยะและทำความสะอาดบริเวณอัฒจันทร์ แน่นอนว่าเป็นภาพจำทั้งในระดับฟุตบอลลีก และเกมระดับทีมชาติญี่ปุ่น ที่มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ขณะที่บทบาทนอกสนาม แฟนบอลจะคอยอุดหนุนสโมสรด้วยการซื้อสินค้าที่ระลึก เพื่อให้ทีมรักได้มีเงินเข้าสู่สโมสร แถมแต่ละแมตช์สโมสรทีมเหย้ามักจัดกิจกรรมนอกสนามให้แฟนบอลได้ร่วมสนุกกันอีกด้วย เรียกได้ว่านอกเหนือจากฟุตบอลแล้ว ปัจจัยหลักที่ทำให้ฟุตบอลเจลีกเกิดพลังอันยิ่งใหญ่นั่นก็คือ แฟนฟุตบอลของพวกเขานั่นเอง
นอกจากนี้ทางเจลีกได้วางแพลนในการเปลี่ยนไปเตะแบบคร่อมปีที่คาดว่าจะในปี 2026 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นระบบเดียวกับฟุตบอลลีกทั่วโลก และยังช่วยเอื้อในเรื่องของตลาดซื้อขายผู้เล่น โดยเฉพาะนักฟุตบอลญี่ปุ่นที่เล่นอยู่ในประเทศ จะได้มีโอกาสออกไปเล่นที่ยุโรปได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ส่วนในปี 2024 หรือฤดูกาลถัดไป ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องการเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นให้กับศึกฟุตบอลเจลีก 1 จึงประกาศให้มีการเพิ่มทีมจากเดิม 18 ทีม เพิ่มมาเป็น 20 ทีม และเจลีก 2 หรือลีกรองของญี่ปุ่น ที่จากเดิมมี 22 ทีม ก็จะเหลือเพียงแค่ 20 ทีมเท่านั้น
การที่รากฐานของฟุตบอลลีกในประเทศนั้นแข็งแรง จนทำให้ต่อยอดสู่ฟุตบอลระดับทีมชาติญี่ปุ่นได้อย่างแข็งแกร่ง ตามแนวทางของสมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดปรัชญาแนวคิด "Japan's Way" หรือแผนงานที่จะเชื่อมช่องว่างของฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมระหว่างปัจจุบันและอนาคต
วงการฟุตบอลญี่ปุ่น มีความพยายามพัฒนาฟุตบอลในประเทศให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเยาวชน, การฝึกอบรมโค้ช, การพัฒนาฟุตบอลเจลีกทั้งระดับสูงไปจนถึงลีกรากหญ้า รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสโมสรกับแฟนบอลเพื่อให้เกิดครอบครัวฟุตบอลทั่วประเทศมากที่สุด
แผนงานแต่ละโปรเจกต์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ใหญ่ในแวดวงลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้เราได้เห็นถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบไม่รู้จบของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่แปลกใจเลยว่า ทำให้พวกเขาถึงกล้าตั้งเป้าหมายใหญ่ ทีมชาติญี่ปุ่นต้องเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ภายในปี 2050 ได้แน่นอน!
"กอล์ฟ เบนเทเก้"