โมเดลสโมสรเครือข่าย(Multi-Club) กระทบยังไงต่อ ลิเวอร์พูล?!

โมเดลสโมสรเครือข่าย(Multi-Club) กระทบยังไงต่อ ลิเวอร์พูล?!
ตอนที่ ไมเคิ่ล เอ็ดเวิร์ดส์ กลับมาร่วมงานกับ เฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป หรือ เอฟเอสจี ในตำแหน่งประธานฝ่ายบริหารฟุตบอลขององค์กรนี้เมื่อมีนาคมปีที่แล้ว ชัดเจนเลยว่างานหลักที่รับผิดชอบคือนำโมเดล Multi-Club หรือเครือข่ายสโมสรฟุตบอลมาใช้กับ ลิเวอร์พูล

ซึ่งล่าสุดมีรายงานจาก เดวิด ออร์นสตีน เหยี่ยวข่าวจาก ดิ แอธเลติก บอกว่า เอฟเอสจี กำลังพิจารณาข้อตกลงเพื่อซื้อสโมสร มาลาก้า ทีมในลีก เซกุนด้า สเปน

เรื่องราวรายละเอียดจะเป็นอย่างไรในบทความนี้ เมื่ออ่านจบแล้ว "เดอะ ค็อป" อาจจะได้คำตอบถึงโปรเจ็คต์ที่ทาง เอฟเอสจี ได้วางไว้มากขึ้น

บอกก่อนว่าวิสัยทัศน์นี้ของ เอฟเอสจี คือแผนการขยายสู่การเป็นเจ้าของหลายสโมสร เพื่อก้าวให้ทันแนวโน้มกับ พรีเมียร์ลีก ในยุคปัจจุบัน

มากกว่าครึ่งหนึ่งของทีมในลีกสูงสุด อังกฤษ มีความเชื่อมโยงกับสโมสรยุโรปทีมอื่น ๆ โดยแนวโน้ม ขยายตัวมากขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา

นี่คือสิ่งที่ ลิเวอร์พูล ต้องตามให้ทัน ดังที่ ไมค์ กอร์ดอน ประธานเอฟเอสจี เคยบอกไว้ตอนที่แต่งตั้ง เอ็ดเวิร์ดส์ เข้ามา

"เรามองว่านี่เป็นเส้นทางที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สโมสรของเราในอนาคต"

และตัว เอ็ดเวิร์ดส์ เองก็เผยว่า "หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจของผมคือ ความมุ่งมั่นในการเข้าซื้อและบริหารสโมสรเพิ่มเติม ขยายขอบเขตขององค์กรนี้"

"ผมเชื่อว่า หากต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนและการขยายทีมฟุตบอลปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็น"

สำหรับ เอฟเอสจี มีไอเดียซื้อสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ แล้วดำเนินการควบคู่ไปกับ ลิเวอร์พูล มานานแล้ว 

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวเชื่อมโยงกับสโมสรในบราซิลถึง 4 แห่ง ได้แก่ ครูเซโร่, โบตาโฟโก, แอตเลติโก พาราเนนเซ่ และ อินเตอร์นาซิอองนาล

แล้วทำไม มาลาก้า ถึงอยู่ในความสนใจ?

สิ่งที่ชัดเจนของทีมพรีเมียร์ลีกที่สนใจในสโมสรเครือข่ายคือ ทีมต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันบนลีกสูงสุดของประเทศ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่มีราคาซื้อที่สูงเกินไป

ก่อนหน้านี้ เอฟเอสจี เคยสนตลาดในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะ บราซิล แต่สำหรับก้าวแรกของแผนขยายเครือข่ายนั้น เหมือนว่าสโมสรในยุโรปจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

ปัจจัยประการหนึ่งคือผลกระทบจากการลงประชามติ Brexit เมื่อปี 2016 ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการในปี 2020 ทำให้เกิดความซับซ้อนในเรื่องการเซ็นสัญญานักเตะจากต่างประเทศ โดยแข้งจากนอกสหราชอาณาจักรได้รับใบอนุญาตทำงานยากขึ้นเมื่อย้ายมาเล่นที่นี่

การเป็นเจ้าของสโมสรในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU จะช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้

ผู้เล่นสามารถอัปคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการขอใบอนุญาตทำงานใน อังกฤษ ผ่านการเล่นในลีกยุโรป ซึ่งสามารถใช้เป็นสโมสรชั่วคราวสำหรับดาวรุ่งที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่เซ็นสัญญากับสโมสรอังกฤษ ได้

นี่จึงเป็นเหตุผลที่สโมสรใน พรีเมียร์ลีก หลายแห่งเร่งสร้างเครือข่ายกับทีมยุโรปอื่น ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำหรับ เอฟเอสจี นั้น มองว่า มาลาก้า คือตัวเลือกที่เหมาะสม คล้ายกับที่เคยสนใจ บอร์กโดซ์ มาก่อน ทว่าพวกเขาตัดสินใจถอนตัวออกมาหลังได้มีการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

มาลาก้า เป็นสโมสรที่เคยมีประวัติบนลีกสูงสุด เคยเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อปี 2013

อย่างไรก็ตาม มาลาก้า ถอยหลังลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถึงขนาดร่วงไปเล่น เซกุนด้า เบ (เทียบเท่าดิวิชั่น 3) กระทั่งเพิ่งเลื่อนมา เซกุนด้า (ดิวิชั่น 2) เมื่อซีซั่นที่แล้ว

เอฟเอสจี เชื่อว่าสโมสรแห่งนี้มีโอกาสจะฟื้นฟูและกลับมาเป็นทีมชั้นนำในวงการฟุตบอลสเปน อีกครั้ง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีตัวแทนจาก เอฟเอสจี ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ มาลาก้า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อกิจการ

เพราะ มาลาก้า อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการพยายามขายสโมสรให้กับกลุ่ม BlueBay Hotels ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ อัยการของศาลยังอยู่ระหว่างการสืบสวนกรณีการใช้เงินของสโมสรโดยมิชอบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอดีตประธานสโมสร อับดุลลาห์ บิน นาสเซอร์ อัล-ธานี นักธุรกิจชาวกาตาร์(ถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเจ้าตัวยืนยันความบริสุทธิ์มาโดยตลอด

ทั้งนี้ เอฟเอสจี ดูเหมือนกำลังพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ด้วย และลงพื้นที่ศึกษาไปแล้วหลายแห่งตลอดปีที่ผ่านมา อาทิ เลบันเต้, เอลเช่, เอสปันญ่อล, เคตาเฟ่ และ บายาโดลิด

อีกทั้งพวกเขายังสนใจตลาดใน ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำหรับการขยายเครือข่าย

โมเดลนี้เป็นประโยชน์ต่อ ลิเวอร์พูล อย่างไร?!

ว่ากันตามตรงก็เป็นเหมือนการป้อนนักเตะให้กับสโมสรเครือข่ายที่ใหญ่กว่าที่มีอยู่ในมือ (feeder club)

อาจเป็นเหมือนการลดคุณค่าของสโมสรที่อยู่ระดับต่ำกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าโมเดลนี้กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นใน พรีเมียร์ลีก

นอกจากช่วยให้ ลิเวอร์พูล ได้เปรียบในการสรรหาดาวรุ่งแล้ว โมเดลนี้ยังเปิดโอกาสในการพัฒนาเยาวชนของทีมเองอีกด้วย

การส่งนักเตะไปเล่นกับสโมสรพันธมิตรทำให้ ลิเวอร์พูล สามารถดูแลการเติบโตของแข้งเหล่านั้นได้ เพราะโครงสร้างสโมสรเครือข่ายมักเล่นฟุตบอลด้วยปรัชญาและสไตล์ที่คล้ายกัน

ท็อดด์ โบห์ลี่ เจ้าของร่วม เชลซี เคยอธิบายถึงการใช้โมเดลนี้เมื่อปี 2023 ไว้แบบชัดเจนว่า "เป้าหมายคือทำให้แน่ใจว่าเราสามารถสร้างเส้นทางให้กับดาวรุ่งของเราในการก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของ เชลซี พร้อมกับได้รับโอกาสลงเล่นจริง"

ภายใต้โมเดลนี้ ลิเวอร์พูล สามารถปล่อยยืมนักเตะไปยังสโมสรพันธมิตร โดยมั่นใจได้เลยว่าพวกเขาจะได้รับโอกาสลงเล่นในระดับการแข่งขันที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมอื่น ๆ (ไม่ใช่สโมสรเครือข่าย) ไม่สามารถรับประกันเรื่องนี้ได้

นักเตะบางคนอาจไม่ได้จบเส้นทางอาชีพของตัวเองกับ ลิเวอร์พูล แต่พวกเขาจะสร้างมูลค่าทางตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์เอามาก ๆ โดยเฉพาะในยุคที่มีกฎ Profit and Sustainability Rules (PSR) ที่เข้มงวดขึ้น 

การเพิ่มมูลค่าของนักเตะจึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความแตกต่างทางการเงินให้กับสโมสร

อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของโมเดลหลายสโมสรคือการแบ่งปันข้อมูลการวิเคราะห์และการสเกาต์นักเตะ โดยสามารถขยายขอบเขตของการหาผู้เล่นที่มีศักยภาพไปทั่วโลก 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่ม Red Bull ที่ประสบความสำเร็จมากมายกับสโมสรในเครือ เช่น แอร์เบ ไลป์ซิก ใน เยอรมนี และ เร้ด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ในออสเตรีย

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ ไมค์ กอร์ดอน ที่เคยกล่าวไว้ว่า เขาต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้ ลิเวอร์พูล ซึ่งโมเดลหลายสโมสรอาจเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนั้น

ข้อเสียต่อสโมสรมันก็มีไม่ใช่ไม่มี

โมเดลนี้ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป และบางครั้งอาจนำไปสู่ความไม่พอใจจากแฟนบอล 

ตัวอย่างเช่น เจ้าของกลุ่ม BlueCo ของ เชลซี ที่เข้าซื้อสโมสร สตราส์บูร์ก ใน ฝรั่งเศส 

แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในฤดูกาลนี้ หลังจากทีมเอาชนะลียงและขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5 ในลีกเอิง แต่พวกเขาเคยเผชิญกับแรงกดดันจากแฟนบอลที่ไม่พอใจกับการบริหารภายใต้เจ้าของใหม่ 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีการประท้วงที่ ลียง ต่อกลุ่มทุน Eagle Football Group ของ จอห์น เท็กซ์เตอร์ และที่ ลอริยองต์ ที่เจ้าของ บอร์นมัธ อย่าง บิลล์ โฟลี่ย์ ถือหุ้นผ่านกลุ่ม Black Knight Football Entertainment

อีกปัญหาสำคัญคือ การที่สองสโมสรในเครือเดียวกันได้สิทธิ์เข้าแข่งขันรายการฟุตบอลยุโรปพร้อมกัน

กฎยูฟ่า ระบุว่า สโมสรที่มีเจ้าของเดียวกันไม่สามารถแข่งขันในรายการเดียวกันได้ ซึ่งหลายทีมเจอปัญหาลักษณะนี้ในซีซั่นที่ผ่านมา

อย่าง ไบรท์ตัน กับ แซงต์ กีลัวส์ (เบลเยี่ยม) ที่ต่างผ่านเข้าเล่น ยูโรปา ลีก ซึ่ง โทนี่ บลูม ต้องพิสูจน์ให้ ยูฟ่า เห็นว่าเขาเองไม่มีอิทธิพลโดยตรงต่อ แซงต์ กีลัวส์ จนท้ายสุด ไบรท์ตัน ได้เข้าไปเล่นรายการนั้นได้

อีกทีมคือ แอสตัน วิลล่า และมี วิคตอเรีย กีมาไรซ์(โปรตุเกส) เป็นทีมพันธมิตร ทั้งคู่ต่างได้เล่น ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก ทำให้ นาสเซฟ ซาวิริส และ เวส เอเดนส์ ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของทีม โปรตุเกส เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ของ ยูฟ่า

มิลาน กับ ตูลูส ก็เคยเจอปัญหาแบบเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองทีมอยู่ภายใต้การควบคุมของ RedBird Capital ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 11% ของ เอฟเอสจี โดย ยูฟ่า อนุญาตให้ทั้งสองทีมแข่งได้ แต่มีเงื่อนไขห้ามซื้อขายนักเตะระหว่างกันจนกว่าตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์จะปิด

สุดท้าย เอฟเอสจี จะใช้โมเดลเดียวกับ City Football Group หรือ BlueCo หรือไม่?

แม้แนวคิดหลักของ เอฟเอสจี จะคล้ายกับกลุ่มอื่น ๆ คือ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่การเลียนแบบโมเดลของ City Football Group (CFG) โดยตรงคงเป็นเรื่องยาก

CFG ใช้เวลากว่า 10 ปีในการสร้างเครือข่ายสโมสรครอบคลุมทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, ออสเตรเลีย, เอเชีย และยุโรป ทำให้พวกเขามีอิทธิพลอย่างมากในวงการฟุตบอล

แม้ว่าหลายกลุ่มทุนจะพยายามเลียนแบบแนวทางของ CFG แต่ยังไม่มีใครแสดงให้เห็นว่าต้องการขยายเครือข่ายให้กว้างขนาดนั้น และ เอฟเอสจี ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหารด้วยความระมัดระวังเรื่องการเงินคงไม่น่าจะพยายามทำแบบเดียวกัน 

ขณะเดียวกัน BlueCo เจ้าของ เชลซี ก็เริ่มต้นแนวทางหลายสโมสรในปี 2023 ด้วยการซื้อ สตราส์บูร์ก และคาดว่าจะซื้อทีมอื่นเพิ่มอีกในอนาคต

สำหรับ เอฟเอสจี แม้จะยังไม่ได้เปิดเผยแน่ชัดว่าแผนขยายเครือข่ายของพวกเขาจะไปไกลแค่ไหน แต่ ไมเคิ่ล เอ็ดเวิร์ดส์ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น และบางที มาลาก้า อาจเป็นก้าวแรกของพวกเขา

HOSSALONSO


ที่มาของภาพ : getty image
BY : Hossalonso
ธีรศานต์ คงทอง
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport