บทความนี้แปลจาก The Athletic ที่ได้ คริส วีทเธอร์สปูน นักเขียนด้านการเงินฟุตบอลมาวิเคราะห์เรื่องการเงินของสโมสรใหญ่ ๆ แห่งเวทีพรีเมียร์ลีก โดยหนึ่งในนั้นคือ ลิเวอร์พูล
ตอนต้นเดือนมีนาคม ลิเวอร์พูล ภายใต้การคุมทีมของเฮดโค้ชอาร์เน่อ กำลังอยู่ในช่วงคึกคะนอง
ช่วงเวลานั้น ส่อเค้าจะกลายเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
พรีเมียร์ลีก ใกล้เคียงจะเข้าป้าย, รอเล่นชิงชนะเลิศ คาราบาว คัพ และเป็นตัวเต็งที่จะคว้าถ้วย แชมเปี้ยนส์ ลีก หลังจบรอบลีกเฟสด้วยการเป็นอันดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในเวลาเพียง 6 วันก่อนพักเบรกทีมชาติ ซีซั่นที่ดูสวยหรูของ ลิเวอร์พูล เปลี่ยนไปอีกอย่าง
ทีมของ อาร์เน่อ เหลือแค่ พรีเมียร์ลีก ให้ลุ้น จากเหตุแพ้ เปแอสเช และพ่าย นิวคาสเซิ่ล
แม้ความปราชัยต่อสองทีมดังกล่าวจะสร้างความเจ็บปวด แต่ผลกระทบทางการเงินกลับตรงกันข้าม
ความเสียหายเรื่องการเงินหลังจบเกมที่ เวมบลี่ย์ แทบไม่มี เพียงแต่การร่วงรอบ 16 ทีม ชปล. ทำให้พวกเขาพลาดรายได้มหาศาล
การเป็นแชมป์ แชมเปี้ยนส์ ลีก จะได้เงินรางวัลมากถึง 52.5 ล้านยูโร แล้วอาจต่อยอดถ้าคว้า ซูเปอร์ คัพ อีก 5 ล้านยูโร
ถึงกระนั้น ลิเวอร์พูล ทำรายได้จาก แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปแล้วประมาณ 100 ล้านยูโร ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเวทีสโมสรยุโรปนั้นมีมูลค่ามหาศาลมากเพียงใด
แม้มีอุปสรรค แต่ฤดูกาลนี้ยังเป็นปีที่สร้างรายได้เป็นสถิติของสโมสร โดยปีที่แล้วก็เป็นแบบนั้นเช่นเดียวกัน
ปีที่แล้ว(2023/24) ถึง ลิเวอร์พูล จะได้เล่นแค่ถ้วย ยูโรปา ลีก รายได้สโมสรอยู่ที่ 613.8 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 20 ล้านปอนด์ (3 เปอร์เซ็น) จากปีก่อนหน้า (2022/23) แม้ว่ารายได้จากการถ่ายทอดสดจะลงลง 37.9 ล้านปอนด์ (16 เปอร์เซ็นต์) เรื่องจากไม่ได้เล่นถ้วยใหญ่ยุโรปก็ตาม
การลดลงของรายได้ถ่ายทอดสดถูกชดเชยบางส่วนด้วยรายได้จากวันแข่งที่เพิ่มขึ้น
หลังมีการขยายอัฒจันทร์ แอนฟิลด์ โร้ด เอนด์ แบบเสร็จสมบูรณ์ตอนช่วงกลางฤดูกาล (สโมสรได้ค่าชดเชย 8.6 ล้านปอนด์ จากความล่าช้าในการก่อสร้าง) ส่งผลให้สโมสรทำรายได้จากการขายตั๋วเกิน 100 ล้านปอนด์เป็นครั้งแรก
ลิเวอร์พูล กลายเป็นหนึ่งในสี่่สโมสรอังกฤษที่แตะตัวเลขสามหลักร่วมกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล และ สเปอร์ส
สิ่งที่ส่งผลต่อรายได้โดยรวมมากสุดคือรายได้เชิงพาณิชย์
ลิเวอร์พูล ทำรายได้ด้านนี้สูงสุดเป็นสถิติที่ 308.4 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์จากฤดูกาล 2022/23 และช่วง 5 ซีซั่นที่ผ่านมา รายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 42 เปอร์เซ็นต์ และมันยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากข้อตกลงชุดแข่งใหม่กับ อาดิดาส ซึ่งจะเริ่มเดือนสิงหาคม 2025 ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับสโมสรมากกว่าสัญญาปัจจุบันกับ ไนกี้
แม้ช่วงหลังผลงานทีมดูดรอปลง แต่โดยรวมแล้วนี่คือผลงานที่น่าประทับใจ งบการเงินปี 2023/24 ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นถึงรากฐานการเงินที่แข็งแกร่ง
ลิเวอร์พูล ใช้จ่ายสุทธิบนตลาดซื้อขายนักเตะเพียง 0.1 ล้านปอนด์ในฤดูกาลนี้ และขุมกำลังของทีมส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิมกับยุค เจอร์เก้น คล็อปป์
ยุค คล็อปป์ บัญชีฤดูกาล 2023/24 เผยว่าตัวเขาและทีมงานเบื้องหลังได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาที่จ่ายเต็มจำนวน มีมูลค่า 9.6 ล้านปอนด์ ซึ่งช่วยลดความสงสัยเกี่ยวกับค่าเหนื่อยของสโมสรที่เพิ่มขึ้น 13.2 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี ปีที่แล้ว ลิเวอร์พูล ถูกบันทึกผลขาดทุนก่อนหักภาษี 57.1 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นผลประกอบการที่ไม่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากช่วงปี 2017-2019 ซึ่งพวกเขามีกำไร 206.6 ล้านปอนด์
...
ภาพรวมทางการเงินของ ลิเวอร์พูล ต่อสถานะ PSR เป็นอย่างไร?
การเข้ามาซื้อสโมสรของ เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (FSG) เมื่อเดือนตุลาคม 2010 ตอนนั้นหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าสโมสรลิเวอร์พูล เคยอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่ย่ำแย่เพียงใด แม้ว่าตระกูลเกลเซอร์อาจจะเป็นที่รู้จักจากการทำการซื้อต่อทีมในวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีคนที่ทำในแบบที่คล้าย ๆ กัน
การเข้ามาคุมสโมสรของ ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2007 เป็นการใช้แนวทางการกู้ยืมเงินที่เหมือน เกลเซอร์ ใช้ที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด (2005) ทว่าผลกระทบที่ทำลายสโมสรที่สองคนนั้นซื้อมามันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
3 ปีให้หลังจากที่ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ เข้ามายัง ลิเวอร์พูล สโมสรมีหนี้สินสูงถึง 378.4 ล้านปอนด์ ซึ่งในนั้นมี 234 ล้านปอนด์ที่ต้องชำระทันทีให้กับธนาคารในอัตราดอกเบี้ยสูง
ส่วนที่เหลือเป็นหนี้ต่อบริษัทโฮลดิ้งที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะเคย์แมน โดยมีการชำระดอกเบี้ยประจำปี 29.8 ล้านปอนด์ (คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของสโมสร) และทำให้เกิดการขาดทุนครั้งใหญ่ถึง 54.9 ล้านปอนด์ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของสโมสร
ในขณะที่ผู้ตรวจสอบบัญชีของสโมสรเตือนเกี่ยวกับความสามารถที่จะรอดปลอดภัยของ ลิเวอร์พูล และการที่แฟน ๆ ก่อเหตุประท้วง ศาลสูงก็มีคำตัดสินที่เปิดทางให้ชิงสโมสรมาจากสองเจ้าของทีมชาวอเมริกัน
FSG เข้ามาซื้อสโมสรด้วยมูลค่า 230.4 ล้านปอนด์ ในช่วงสามฤดูกาลแรก ลิเวอร์พูล เผชิญกับความยากลำบาก ลิเวอร์พูล ขาดทุนรวม 139.6 ล้านปอนด์ และอันดับในลีกก็วนเวียนอยู่อันดับ 6-4 แต่ที่สุดแล้ว พวกเขาก็พลิกฟื้นสถานการณ์สโมสรได้
ฤดูกาลก่อน ลิเวอร์พูล มีผลประกอบการในช่วงก่อนหักภาษีแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร แต่พวกเขาก็ยังเข้าใกล้กับการมีผลประกอบการที่เท่าทุนในยุค FSG ได้
นอกจากนี้ แม้จะมีการขาดทุนจำนวนมาก แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล ยังเป็นสโมสรที่ทำกำไรมากที่สุดใน อังกฤษ
กำไรก่อนหักภาษีของสโมสรคือ 136.2 ล้านปอนด์ระหว่างฤดูกาล 2014/15 และ 2023/24 ถือเป็นสถิติที่ไม่มีใครทำได้ มีเพียง แมนฯ ซิตี้ ที่ใกล้เคียงสุดที่ 126.4 ล้านปอนด์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียง 7 สโมสรใน พรีเมียร์ลีก และ แชมเปี้ยนชิพ ที่ทำกำไรได้
อาจฟังดูแปลก ๆ ที่ประกาศว่า สภาพการเงินอยู่ในสภาพดีทั้งที่มีการขาดทุนเกือบ 60 ล้านปอนด์ แต่ในบริบทฟุตบอลนั้น ลิเวอร์พูล ยังอยู่ในสถานะที่ดี
ฤดูกาลที่แล้วการขาดทุนได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้เล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกและการตัดสินใจจ่ายเงินให้กับ คล็อปป์ และทีมงาน
กำไรจากการขายนักเตะลดลงก็จริง แต่จะฟื้นตัวในฤดูกาลนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตัดจำหน่าย (amortisation) ของนักเตะน่าจะคงที่หรือลดลงหลังจากการจ่ายค่าตัวนักเตะในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาไม่น่ามีมาก
นอกจากการลดลงของรายได้จากการถ่ายทอดสด การขาดทุนที่เพิ่มขึ้นของ ลิเวอร์พูล มาจาก 29.2 ล้านปอนด์ในค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับพนักงานที่ไม่รวมการตัดค่าเสื่อมราคา ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเพิ่มกิจกรรมทางการค้า, ค่าใช้จ่ายในการจัดการที่สนามที่ใหญ่ขึ้น และแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งหมดนี้จะไม่ได้หายไปในฤดูกาลนี้ แต่การปรับปรุงรายได้จะช่วยชดเชยภาระค่าใช้จ่ายได้
จากกฎการทำกำไรและความยั่งยืน (PSR) ลิเวอร์พูล ไม่มีปัญหาในฤดูกาลที่แล้วแม้ว่าจะมีการขาดทุนจำนวนมาก กำไรก่อนหักภาษีของสโมสรในรอบสามปีของ PSR อยู่ที่ 58.6 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่า 43.6 ล้านปอนด์ จากข้อกำหนดการขาดทุนที่ 15 ล้านปอนด์ ข้อจำกัดการขาดทุนนี้ต่ำกว่าขีดจำกัดสูงสุด 105 ล้านปอนด์ที่อนุญาตให้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก เนื่องจาก FSG ไม่ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ลิเวอร์พูล ยังคงห่างไกลจากปัญหาหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายที่กำหนดออกไป ค่าเสื่อมราคา 39.2 ล้านปอนด์จากการขาดทุนในสามปีนี้ และการลบออกนั้นทำให้สโมสรเกือบจะกลับไปที่อยู่ที่ 15 ล้านปอนด์ ได้
การคำนวณ PSR ต้องอาศัยการประมาณการค่อนข้างมาก แต่หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่อนุญาตแล้ว The Athletic คาดการณ์ว่า ลิเวอร์พูล มีพื้นที่ PSR ที่ประมาณ 73 ล้านปอนด์ ในปี 2023/24
เช่นเดียวกัน พวกเขาควรจะไม่มีปัญหาในฤดูกาลนี้ การคำนวณในปีการเงินสุดท้ายของวงจร PSR ที่ยังไม่สิ้นสุดนั้นยิ่งต้องพึ่งพาการคาดการณ์มากขึ้น แต่จากมุมมองด้านการกำกับดูแล ลิเวอร์พูล จะปลอดภัยจากปัญหา
The Athletic ประเมินว่าสโมสรอาจขาดทุน 75 ล้านปอนด์ ในฤดูกาลนี้และยังคงปฏิบัติตามกฎ PSR ของพรีเมียร์ลีก และมีแนวโน้มมากกว่าที่พวกเขาจะทำกำไรได้ในปี 2024/25
PSR ของ ยูฟ่า มีขีดจำกัดการขาดทุนที่ต่ำกว่าและมีกฎระเบียบที่กำหนดว่าทีมสามารถใช้จ่ายในการสร้างทีมได้มากแค่ไหน ลิเวอร์พูล ก็จะไม่มีปัญหาที่นี่เช่นกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจาะลึกมากเกินไป โดยเป็นแนวคิดคร่าว ๆ ตามกฎอัตราส่วนค่าใช้จ่ายทีม (SCR) ที่ ยูฟ่า กำหนดให้สโมสรปฏิบัติตาม The Athletic ประเมินว่า SCR ของ ลิเวอร์พูล ฤดูกาลที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 61 เปอร์เซ็นต์ และจะลดลงเหลือ 53 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้
ซึ่งทั้งสองตัวเลขอยู่ในขอบเขตที่ต่ำกว่าขีดจำกัด 90 เปอร์เซ็นต์ และ 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
...
รายได้พาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายได้ของ ลิเวอร์พูล ในซีซั่นที่แล้วอยู่ที่ 613.8 ล้านปอนด์ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของสโมสร
การเติบโตของรายได้เชิงพาณิชย์เป็นปัจจัยหลักที่มีส่วนสำคัญ เป็นครั้งแรกที่รายได้เชิงพาณิชย์คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รวมทั้งหมด
นอกจากนี้ รายได้เชิงพาณิชย์ของพวกเขายังเป็นอันดับสองใน อังกฤษ รองจาก แมนฯ ซิตี้ เท่านั้น โดยรายได้ด้านนี้ของ ลิเวอร์พูล อยู่ที่ 308.4 ล้านปอนด์แซงหน้า แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นสิ่งที่ ลิเวอร์พูล ไม่เคยทำได้มาก่อน
ย้อนไปฤดูกาล 2015/16 แมนยู มีรายได้เชิงพาณิช์มากกว่า ลิเวอร์พูล ถึง 153 ล้านปอนด์ ดังนั้นจึงสามารถบอกได้ว่า ลิเวอร์พูล พัฒนาตรงจุดนี้ได้ดีเอามาก ๆ
รายได้เชิงพาณิชย์ของ ลิเวอร์พูล สูงกว่าฤดูกาลที่แล้ว แม้ว่า แมนยู จะได้เล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก ขณะที่ ลิเวอร์พูล เล่นแค่ ยูโรปา ลีก ซึ่งอาจสะท้อนถึงมุมมองของผู้สนับสนุนที่มีต่อเส้นทางในระยะยาวของทั้งสองสโมสร
ข้อตกลงกับ ไนกี้ ที่จะหมดลงในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ สโมสรได้รับเงินขั้นต่ำ 30 ล้านปอนด์ต่อปี แต่การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายสินค้าของสโมสรที่มีส่วนแบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์จากรายได้สุทธิช่วยให้รายได้จาก ไนกี้ สูงกว่า 60 ล้านปอนด์
ส่วนข้อตกลงกับ อาดิดาส คาดว่าจะได้รายได้มากขึ้น แม้ว่าจำนวนเงินมันสามารถแปรผันตามผลงานและยอดขายทั่วโลกก็ตาม
รายได้พาณิชย์สำคัญ ๆ อื่น ๆ ที่อาจช่วยเพิ่มก็มีได้แก่ การเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อกับ Standard Chartered มูลค่า 50 ล้านปอนด์ต่อปี, สิทธิ์ในการตั้งชื่อศูนย์ฝึกและการเป็นสปอนเซอร์ชุดฝึกจาก Axa 20 ล้านปอนด์ ซึ่งได้รับการต่อสัญญาในอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อย และการเป็นสปอนเซอร์แขนเสื้อจาก Expedia 15 ล้านปอนด์
ลิเวอร์พูล ได้ทำข้อตกลงใหม่ในฤดูกาล 2023/24 กับ UPS, Orion Innovation, Google และ Peloton ซึ่งคาดว่าจะนำรายได้รวมมากกว่า 45 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล รวมถึงการจับมืออันยาวนานกับ Carlsberg, EA Sports และ Nivea อีกทั้งตอนฤดูกาล 2024/25 ได้มีการลงนามในความร่วมมือกับ Engelbert Strauss, Husqvarna, Japan Airlines และ Visit Maldives เพิ่มขึ้นมา
...
ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายซื้อนักเตะน้อยกว่าคู่แข่ง
ตอนที่ Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับชั้นนำได้เผยรายงานประจำปี Football Money League เมื่อปลายเดือนมกราคมนั้น มีแฟนบอล ลิเวอร์พูล จำนวนมากสับสนเมื่อพบว่าเงินเดือนรวมของสโมสรในปีนั้นกลับเพิ่มขึ้น แม้ว่าทีมจะเล่นในบอลยุโรปที่ระดับต่ำกว่า และนักเตะหลาย ๆ คนที่มีค่าจ้างสูงได้ออกจากทีมไปในซัมเมอร์ที่ผ่านมา โดยที่ค่าแรงของ ลิเวอร์พูล ใน พรีเมียร์ลีก ปีที่แล้วน้อยกว่าแค่ แมนฯ ซิตี้ เท่านั้น
การเปิดเผยบัญชีที่ตามมาได้ช่วยอธิบายถึงการเพิ่มขึ้นนี้ โดยการจ่ายเงินให้กับ คล็อปป์ ถูกรวมในตัวเลขค่าแรง แต่แม้จะไม่รวมค่าจ่ายนี้ เงินเดือนรวมของ ลิเวอร์พูล ก็ยังเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านปอนด์
ซึ่งสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นมาจากการที่ ลิเวอร์พูล สามารถผ่านเข้ารอบ แชมเปียนส์ ลีก ในฤดูกาลนี้ และการกลับเข้าสู่รายการนี้ในฤดูกาล 2023/24 ทำให้ ลิเวอร์พูล ต้องจ่ายโบนัสตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในฤดูกาลที่แล้ว โดยโบนัสนี้ถูกบันทึกไว้ในบัญชีที่เปิดเผยล่าสุด
ลิเวอร์พูล ยังเป็นหนึ่งในทีมที่ว่าจ้างพนักงานมากสุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ จนถึงปลายฤดูกาลที่แล้ว มี แมนยู เท่านั้นที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารมากกว่า ลิเวอร์พูล และ ยูไนเต็ด เองก็กำลังดำเนินการลดจำนวนพนักงานอย่างที่มีการเผยแพร่ในข่าว
ฤดูกาลที่แล้ว ลิเวอร์พูล มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเฉลี่ย 782 คน น้อยกว่า แมนยู 30 คน และมากกว่า เชลซี ที่มีพนักงาน 646 คน(21 เปอร์เซนต์)
ลิเวอร์พูล ไม่ได้แยกค่าแรงนักเตะออกจากค่าใช้จ่ายค่าแรงหลัก แต่จากข้อมูลในอดีต ค่าใช้จ่ายค่าแรงของพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเล่นในปี 2022/23 อยู่ที่ประมาณ 109 ล้านปอนด์ ซึ่งไม่ห่างจากค่าใช้จ่ายค่าแรงของ แมนยู ในปีนั้นที่ประมาณ 115 ล้านปอนด์
ทั้ง ลิเวอร์พูล กับ แมนยู มีการจ้างพนักงานในวันที่มีเกมแข่งมากกว่า 2,000 คน ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดนี้ด้วย
แม้ว่าจำนวนพนักงานฝ่ายบริหารของ ลิเวอร์พูล จะเพิ่มขึ้นแค่ 12 คนในฤดูกาลที่ผ่านมา ขนาดของสโมสรทำให้ค่าใช้จ่ายค่าแรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลงานในสนามของ ลิเวอร์พูล นั้นสูงกว่าสโมสรในแชมเปี้ยนชิพทุกทีมและบางทีมใน พรีเมียร์ลีก ที่อยู่ท้ายตาราง การเคลื่อนไหวค่าใช้จ่ายค่าแรงของสโมสรในระดับนี้ไม่ได้เกิดจากการเซ็นสัญญาหรือการขายนักเตะเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ ลิเวอร์พูล เป็นหนึ่งในทีมที่จ่ายค่าแรงพนักงานสูงที่สุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่ในด้านการซื้อ-ขายผู้เล่น สโมสรได้ควบคุมการใช้จ่ายในด้านนี้อย่างเข้มงวด
ในปีที่แล้ว ค่าตัดจำหน่ายนักเตะของลิเวอร์พูล ผลกระทบทางบัญชีจากค่าธรรมเนียมการโอน กระจายไปตามอายุสัญญาของนักเตะอยู่ที่ 114.5 ล้านปอนด์ซึ่งถือเป็นสถิติสโมสร แต่ก็ยังต่ำกว่าทีมอื่นหลายทีม
ลิเวอร์พูล รั้งอันดับที่ 5 ของอังกฤษในด้านนี้ แต่ช่องว่างกับ แมนฯ ซิตี้ ที่อยู่อันดับ 4 (165.1 ล้านปอนด์) คือกว่า 50 ล้านปอนด์ ส่วนในตลาดของ เชลซี ที่ทำการซื้อ-ขายเยอะมากทำให้ค่าตัดจำหน่ายของพวกเขาใกล้เคียงกับสองเท่าของจำนวนของ ลิเวอร์พูล (203.3 ล้านปอนด์ในปี 2022-23)
ตัวเลขการตัดจำหน่ายของ ลิเวอร์พูล แทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มขึ้นเพียง 2.7 ล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้น 2%) ตั้งแต่ฤดูกาล 2018/19 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่ม Big Six พรีเมียร์ลีก
แต่ในความเป็นจริง นี่เป็นการเพิ่มขึ้นที่ต่ำที่สุดในหมู่ทีมระดับท็อปในฤดูกาลที่แล้ว โดยมีเพียง เอฟเวอร์ตัน และ คริสตัล พาเลซ ที่ลดค่าใช้จ่ายการตัดจำหน่ายของตัวเองในช่วงหกปีที่ผ่านมา
การใช้จ่ายการซื้อ-ขายนักเตะของ ลิเวอร์พูล ในช่วงหลัง ๆ มีมูลค่าต่ำกว่าคู่แข่งในประเทศ พวกเขาใช้เงินไปทั้งหมด 562 ล้านปอนด์สำหรับการซื้อผู้เล่นในห้าฤดูกาลที่ผ่านมา และใช้เงินสุทธิ 376.3 ล้านปอนด์ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ 7 ในอังกฤษ ตามหลังทีมใน Big Six ทั้งหมดรวมถึงสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
ลิเวอร์พูลอาจจะตกไปอยู่ที่อันดับ 8 เลยด้วยซ้ำ เมื่อ แอสตัน วิลล่า เปิดเผยบัญชีสำหรับฤดูกาล 2023/24 การใช้จ่ายในการโอนที่ต่ำเช่นนี้ช่วยอธิบายเหตุผลว่าทำไมค่าตัดจำหน่ายนักเตะของ ลิเวอร์พูล ถึงเติบโตในอัตราที่ช้ากว่า
แน่นอนว่า เมื่อเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ๆ ลิเวอร์พูล เป็นหนึ่งในทีมที่จ่ายค่าแรงสูงที่สุดโดยเลือกที่จะรักษาผู้เล่นตัวหลักให้อยู่กับทีมไปนาน ๆ
ค่าใช้จ่ายของ ลิเวอร์พูล ที่ 749.4 ล้านปอนด์ (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2024) เป็นทีมที่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นอันดับที่ 7 ในวงการฟุตบอลยุโรป และเป็นอันดับที่ 5 ในอังกฤษ ตามหลัง เชลซี, สองทีมแมนเชสเตอร์ และ อาร์เซน่อล
ช่องว่างระหว่าง ลิเวอร์พูล กับทีมอันดับ 4 ในอังกฤษนั้นค่อนข้างมาก
อาร์เซน่อล ที่สิ้นเดือนพฤษภาคม 2024 ใช้เงินในการสร้างทีมมากกว่า ลิเวอร์พูล 133 ล้านปอนด์
ฤดูกาลที่แล้ว ลิเวอร์พูล มีค่าใช้จ่ายจริง ๆ ลดลง แม้ว่าจะใช้เงินไป 194.5 ล้านปอนด์ ในการซื้อนักเตะใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็มีนักเตะกลุ่มหนึ่งที่ย้ายออกจากทีม ซึ่งมูลค่าการซื้อนักเตะในอดีตของพวกเขารวมกัน 232.2 ล้านปอนด์ เช่น นาบี้ เกอิต้า, ฟาบินโญ่, อเล็กซ์ อ๊อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน, โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ และ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน
ลิเวอร์พูล ฤดูกาลนี้มีโอกาสที่จะเป็นทีมที่มีค่าใช้จ่ายในการคว้าแชมป์ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่พวกเขาเองเคยคว้าแชมป์ครั้งล่าสุดในฤดูกาล 2019/20
ว่าที่แชมป์ พรีเมียร์ลีก ปีนี้ ใช้เงินในการสร้างทีม 350 ล้านปอนด์ (ลดลง 32 เปอร์เซ็นต์) น้อยกว่าทีมที่ทำสถิติคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่ 4 ติดต่อกันของ แมนฯ ซิตี้ ปีที่แล้ว
การใช้เงิน 194.5 ล้านปอนด์ สำหรับนักเตะใหม่และการขยายสัญญาในฤดูกาล 2023/24 ซึ่งการซื้อนักเตะใหม่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย โดมินิค โซโบซไล, อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์, ไรอัน กราเฟนแบร์ก และ วาตารุ เอ็นโด
แม้ไม่ใช่สถิติใหม่ของสโมสรสำหรับการใช้จ่ายในฤดูกาลเดียว แต่จำนวนเงินสดที่ลิเวอร์พูลใช้จ่ายในการเซ็นสัญญานักเตะใหม่นั้นถือเป็นสถิติใหม่
ปีก่อนสโมสรมีรายจ่าย 181.6 ล้านปอนด์ และมีรายได้เพียง 49.1 ล้านปอนด์จากการขายนักเตะ ยอดรวมการใช้เงินสุทธิที่ 132.5 ล้านปอนด์ถือเป็นตัวเลขที่สูงเป็นสถิติ หลังจากสถิติเดิมอยู่ที่ฤดูกาล 2019-20 ที่จำนวน 89.5 ล้านปอนด์
ทำนองเดียวกัน ลิเวอร์พูล ใช้การชำระเงินแบบงวด ๆ ในซื้อนักเตะน้อยกว่าคู่แข่งเอามาก ๆ โดยมีค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระสุทธิ 69.9 ล้านปอนด์ ต่ำกว่าสโมสรพรีเมียร์ลีกอีก 11 ทีม
พวกเขามีหนี้การซื้อขายที่น้อยกว่าคู่แข่งในกลุ่ม Big Six บางทีมอย่างมาก อาทิ แมนยู (หนี้การซื้อขายสุทธิ 300.1 ล้านปอนด์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2024), สเปอร์ส (หนี้ 268.7 ล้านปอนด์ ณ เดือนมิถุนายน 2023) และ อาร์เซน่อล (หนี้ 229.3 ล้านปอนด์ ณ เดือนพฤษภาคม 2024) ซึ่งต่างต้องชำระหนี้การซื้อขายเกิน 200 ล้านปอนด์
ขณะที่ เชลซี ซึ่งไม่เปิดเผยหนี้การซื้อขายนั้น มีแนวโน้มว่าหนี้ของพวกเขาจะเกินระดับนี้เช่นกัน ตัวเลขที่ต่ำกว่ามากของ ลิเวอร์พูล ในเรื่องนี้หมายความว่าสโมสรมีเงินสดอิสระมากขึ้นสำหรับกิจกรรมการโอนใหม่ เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยการชำระเงินจำนวนมากจากข้อตกลงในอดีต
การขายนักเตะของ ลิเวอร์พูล ยังคงเป็นจุดที่สำคัญ โดยการปล่อย ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ให้ บาร์เซโลน่า เมื่อปี 2018 ถือเป็นการขายที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร แต่กำไรจากการขาย คูตินโญ่ ทำให้ตัวเลขดูดีเกินจริงและอาจเป็นสาเหตุให้สโมสรยังไม่สามารถทำกำไรจากการขายนักเตะได้มากขนาดนั้นอีก
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กำไรจากการขายนักเตะของ ลิเวอร์พูล ที่ 453.9 ล้านปอนด์ เป็นเพียงอันดับสามรองจาก เชลซี (755.4 ล้านปอนด์ ซีซั่น 2014-23) และ แมนฯ ซิตี้ (583.7 ล้านปอนด์ ซีซั่น 2015-24)
อย่างไรก็ตาม หากจำกัดมองแค่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เรื่องราวกลับแตกต่างออกไป ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล 2019/20 กำไรจากการขายนักเตะของ ลิเวอร์พูล ที่ 150.1 ล้านปอนด์ น้อยกว่าอีก 9 สโมสรในอังกฤษ
บางส่วนของสถานการณ์นี้เป็นการตัดสินใจของพวกเขาเอง เนื่องจาก ลิเวอร์พูล มักจะเก็บสตาร์ของทีมไว้ ซึ่งป็นจุดสำคัญที่ตอนนี้พวกเขาดูเหมือนจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตามหลังทีมอื่น ๆ
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ที่สโมสรอาจจะเสียไปฟรี ๆ ในช่วงซัมเมอร์นี้
เทรนต์ อายุเพียง 26 ปี และเมื่อเริ่มต้นฤดูกาลนี้เขาถูกประเมินค่าตัวไว้ที่ 75 ล้านปอนด์ แม้ว่าจะเหลือสัญญากับลิเวอร์พูลไม่ถึงหนึ่งปี
...
การลงทุนที่สำคัญในระยะยาว
ลิเวอร์พูล ใช้เงินไป 56 ล้านปอนด์สำหรับโครงการลงทุนในฤดูกาลที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการขยาย แอนฟิลด์ โร้ด เอนด์ และการซื้อสนามฝึกซ้อมเก่า Melwood คืนมา ซึ่งการซื้อคืนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้เป็นสนามฝึกซ้อมของทีมฟุตบอลหญิงและอะคาเดมี่ได้
มันเป็นการใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสามในบรรดาสโมสรพรีเมียร์ลีก โดยมีเพียง เอฟเวอร์ตัน (การสร้างสนาม Bramley-Moore Dock) และ แมนฯ ซิตี้ (การขยายสนาม Etihad Stadium และการปรับปรุงพื้นที่รอบสนาม) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การลงทุนรวมของ ลิเวอร์พูล ในโครงการทุนในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้พุ่งสูงถึง 368.4 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดในบรรดาสโมสรฟุตบอล อังกฤษ ที่ไม่ได้สร้างสนามใหม่ ไม่นับ สเปอร์ส และ เอฟเวอร์ตัน ที่ได้ใช้เงินไปกับการสร้างรังเหย้าใหม่
ลิเวอร์พูล ใช้เงินมากกว่า แมนฯ ซิตี้ กว่า 100 ล้านปอนด์ (แม้ว่าในฤดูกาลนี้ ซิตี้ จะลดช่องว่างนี้ผ่านการขยายสนาม เอติฮัด) และมากกว่า แมนยู, อาร์เซน่อล และ เชลซี กว่า 200 ล้านปอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่ายนี้ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงและขยายสนามแอนฟิลด์
ความจุ แอนฟิลด์ ตอนนี้คือ 61,276 ที่นั่ง มากกว่าที่เคยมีเมื่อสิบปีที่แล้วกว่า 16,000 ที่นั่ง
...
ความยั่งยืนคือกลยุทธ์สำคัญของ FSG
ด้วยการใช้จ่ายจำนวนมากในโครงการลงทุนเมื่อปีที่แล้วและการใช้จ่ายในนักเตะจำนวนมหาศาล รวมทั้งยอดเงินสดที่มีอยู่ที่ปลายเดือนพฤษภาคม 2023 อยู่ที่ 3.4 ล้านปอนด์
คำถามที่ชัดเจนเกิดขึ้นคือ ลิเวอร์พูล ได้เงินจากไหนในการจ่ายทั้งหมดนี้?
กรณีแรก สโมสรยังมีแหล่งเงินสดที่แข็งแกร่ง โดยมีการบันทึกการไหลเข้าจากการดำเนินงาน (ก่อนที่จะมีการใช้จ่ายในเรื่องการซื้อขายหรือทุน) จำนวน 83.7 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดี แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการไม่ได้เล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำที่สุดของ ลิเวอร์พูล ตั้งแต่ปี 2017 โดยสโมสรในกลุ่ม บิ๊กซิกซ์ (ยกเว้น แมนฯ ซิตี้ ที่ไม่ได้เปิดเผยงบการเงิน) ทุกทีมในกลุ่มนี้มีรายได้จากการดำเนินงานที่มากกว่า 100 ล้านปอนด์
แม้จะดูดี แต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าธรรมเนียมการซื้อขายนักเตะ และยิ่งไปกว่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการขยายแอนฟิลด์และการซื้อ เมลวู้ด คืน
เงินที่จำเป็นต้องใช้มาจากเงินกู้จำนวน 127.3 ล้านปอนด์จาก FSG เป็นครั้งแรกที่เจ้าของสโมสรได้จัดหาทุนให้กับสโมสรตั้งแต่ปี 2016 และจำนวนนี้แทบจะเพิ่มทุนทั้งหมดที่ FSG ใช้ในการลงทุนกับสโมสรตั้งแต่เข้ามาบริหาร
โดยรวมแล้ว FSG ได้มอบเงินทุนให้กับ ลิเวอร์พูล จำนวน 263.6 ล้านปอนด์ รวมกับการซื้อหุ้นเริ่มต้น ทุนรวมทั้งหมดของพวกเขามีมูลค่าถึง 494.0 ล้านปอนด์
สิ่งที่เกิดไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น แม้ว่าเงินกู้ 127.3 ล้านปอนด์จะมาจาก FSG แต่เงินดังกล่าวเกิดจากการทำข้อตกลงในเดือนกันยายน 2023 โดยที่ Dynasty Equity ซื้อหุ้นเล็ก ๆ ใน FSG ผลจากการขายหุ้นนั้นได้นำไปลงทุนใน ลิเวอร์พูล
ขนาดของหุ้นที่ขายให้กับ Dynasty ไม่ได้ถูกระบุ แต่เชื่อกันว่าอยู่ในช่วงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ Dynasty ไม่ได้ซื้อหุ้นในสโมสรโดยตรง และไม่ชัดเจนว่าพวกเขาซื้อหุ้นในบริษัทใด แต่หากพิจารณาแล้วก็น่าจะเป็น FSG Football, LLC ซึ่งมีสินทรัพย์หลักเพียงอย่างเดียวคือสโมสรฟุตบอล (ขณะที่ FSG เป็นเจ้าของทีมเบสบอล Boston Red Sox)
การทำธุรกรรมนี้ถูกประกาศว่าเป็น -การลงทุนในหุ้นของสโมรสรลิเวอร์พูล- และเนื่องจากไม่มีการซื้อขายหุ้นในสโมสร
การแถลงการณ์นี้จึงสมเหตุสมผลหาก Dynasty ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทแม่ที่ดูแลเฉพาะส่วนฟุตบอลของ FSG การลงทุนครั้งนี้มีมูลค่า FSG ในการควบคุมฟุตบอลของพวกเขาที่ 4.24 พันล้านปอนด์ หรือมากกว่า 18 เท่าของราคาที่ ลิเวอร์พูล ถูกซื้อในปี 2010
การประกาศออกมานั้นได้กล่าวถึงการชำระหนี้ธนาคารเป็นลำดับแรกในการใช้จ่ายเงินทุน แต่หนี้ธนาคารของสโมสรลดลงเพียง 9.8 ล้านปอนด์ในฤดูกาลที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ของเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นถูกนำไปใช้ในการจ่ายค่าใช้จ่ายสุดท้ายในการขยาย แอนฟิลด์ และการชำระค่าธรรมเนียมการซื้อขายนักเตะที่สำคัญ
FSG ไอัดฉีดเงินกว่า 250 ล้านปอนด์ให้กับ ลิเวอร์พูล ในช่วงเวลาที่เข้ามาบริหาร (แม้ครึ่งหนึ่งจะมาจากการขายหุ้น ซึ่งอาจจะโต้แย้งได้ว่าไม่ใช่เงินของพวกเขาตั้งแต่แรก) แต่แฟนบอลหลายคนก็เคยสงสัยเกี่ยวกับกลยุทธ์ของ FSG ในการจัดหาเงินทุนให้กับสโมสร เมื่อเทียบกับจำนวนเงินมหาศาลที่ไหลเข้าไปยังคู่แข่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
บางครั้ง FSG ถูกมองว่าเป็นพวกที่ประหยัดมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงการเจรจาสัญญากับ โมฮาเหม็ด ซาลาห์
ไม่ว่าจะเป็นมุมมองที่ยุติธรรมหรือไม่ ก็คงยากที่จะบอกได้ จากอีกมุมหนึ่ง การลงทุนของพวกเขาก็ยังน้อยกว่าของ แมนเชสเตอร์ซิตี้ และ เชลซี ซึ่งทั้งสองทีมได้รับเงินทุนจากเจ้าของกว่า 800 ล้านปอนด์นับตั้งแต่ FSG เข้ามาบริหารในช่วง 14 ปีครึ่งที่ผ่านมา
แต่อีกด้านหนึ่ง FSG ก็ได้ช่วยให้ ลิเวอร์พูล รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ และพลิกฟื้นโชคชะตาทั้งในกับนอกสนาม
ทีมเดียวที่มีผลงานเหนือกว่า ลิเวอร์พูล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ แมนฯ ซิตี้ ซึ่งมีเงินทุนที่ลึกกว่ามากในการดึงออกมาใช้เมื่อจำเป็น
แฟนบอล ลิเวอร์พูล อาจจะถามว่า ถ้า คล็อปป์ มีงบประมาณในการสร้างทีมที่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง เช่นมีงบประมาณ 350 ล้านปอนด์ จะทำให้เขามีแชมป์ พรีเมียร์ลีก มากกว่าหนึ่งสมัยหรือไม่?!
ใช่ มันอาจจะมากกว่าหนึ่งสมัยก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่า ลิเวอร์พูล เป็นทีมที่ขี้เหนียว
ขนาดที่เราเห็นกันอยู่ พวกเขาคือทีมที่จ่ายค่าแรงสูงที่สุดเป็นอันดับสองใน อังกฤษ
บนตลาดนักเตะ พวกเขามักจะมีความสามารถในการทำการซื้อที่เฉียบคมภายใต้การสร้างทีมที่มีคุณภาพระดับโลกในราคาที่ต่ำกว่าทีมอื่น
FSG อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยากที่จะไม่สงสัยว่าพวกเขาอาจจะได้รับการชื่นชมมากกว่านี้ หากฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่มักจะมองว่าการใช้จ่ายเงินเป็นสิ่งที่ควรได้รับคำยกยอโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้จ่ายนั้น
...
อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?
กลับมาเล่นเวที แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้ง และด้วยโอกาสที่จะคว้าส่วนแบ่งใหญ่จากเงินรางวัลของ พรีเมียร์ลีก ลิเวอร์พูล จะทำลายสถิติต่าง ๆ ของสโมสรในเรื่องรายได้ในฤดูกาลนี้
พวกเขาน่าจะทำรายได้เกิน 700 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2024/25 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เคยถูกทำลายโดย แมนฯ ซิตี้
เมื่อรวมกับการเติบโตของค่าจ้างและการตัดจำหน่ายที่มีน้อย (ถ้ามี) และกำไรจากนักเตะที่ดีขึ้น รวมถึงรายได้จากการเข้าชมเกมที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ส่วนขยายของ แอนฟิลด์ โร้ด เอนด์ เปิดใช้งานเต็มฤดูกาล จะทำให้ ลิเวอร์พูล กลับมามีกำไรโดยรวมได้อีกครั้ง
การคาดการณ์ผลกำไรสุดท้ายของสโมสรเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่การประมาณการจาก The Athletic เผยว่ากำไรก่อนหักภาษีของ ลิเวอร์พูล ฤดูกาลนี้อาจจะสูงถึง 40 ล้านถึง 50 ล้านปอนด์
ส่วนที่ยังไม่ชัดเจนคือค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลนี้ แม้ว่ามันจะถึง 400 ล้านปอนด์ แต่ ลิเวอร์พูล ก็ยังสามารถทำกำไรได้ 30 ล้านปอนด์
การพยายามคาดการณ์ช่องทางที่ลิเวอร์พูลจะใช้จ่ายในฤดูกาลหน้ายิ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากต้องรวมการประมาณการการหักเงินจากปีที่ผ่านมาเข้ากับการคาดการณ์กำไรของปี 2024/25
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ชี้ไปที่ข้อสรุปเดียว คือ พวกเขามีพื้นที่มากพอใน PSR (Profitability and Sustainability Rules) ที่จะใช้จ่ายในช่วงซัมเมอร์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสัญญาของ ซาลาห์, เทรนต์, เฟอร์จิล ฟาน ไดจ์ค และ อิบราฮิม่า โคนาเต้ (เหลือสัญญาอีกแค่ปีเดียว) หรือการคว้าตัว อเล็กซานเดอร์ อิซัค จาก นิวคาสเซิล แม้ราคาอาจจะจะสูงถึง 150 ล้านปอนด์ก็ตาม
แน่นอนว่า ช่องทาง PSR และความสามารถในการใช้จ่ายเงินสดจริง ๆ เป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ถามว่า ลิเวอร์พูล มีเงินสดให้ใช้จ่ายหรือไม่? จากการดูภายนอก พวกเขาน่าจะมีเงินเหลือ
สโมสรมีหนี้ค้างจากการซื้อ-ขายที่ค่อนข้างต่ำ และน่าจะเห็นการไหลเวียนของเงินสดในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขากลับมาเล่นใน แชมเปี้ยน ลีก อีกครั้ง การใช้จ่ายทุนจะลดลงเมื่อโปรเจ็คต์ใหญ่ ๆ เสร็จสิ้นแล้ว
ดังนั้น ลิเวอร์พูล จะมีเงินสดให้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อซื้อผู้เล่นอย่าง อิซัค จะขึ้นอยู่กับการระดมทุนเพิ่มเติมจากการขาย ดาร์วิน นูนเญซ โดยที่ ลิเวอร์พูล คงไม่คว้ากองหน้าราคาสูง ๆ เข้ามาโดยที่ยังไม่ปล่อยกองหน้าคนอื่นออกไป
การจะคาดการณ์ว่า ลิเวอร์พูล จะใช้จ่ายไปเท่าไหร่ในการซื้อนักเตะนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้
แต่ชัดเจนว่าพวกเขามีพื้นที่ที่จะลงทุนในทีมถ้าต้องการ ในแง่การเงิน FSG ได้พาสโมสรไปในทิศทางที่ถูกต้อง แม้ว่าผลประกอบการของปีที่แล้วจะมีการหดตัวไปบ้าง
เรื่องบนสนาม ลิเวอร์พูล ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พวกเขาดูเหมือนเป็นทีมที่ใครจะเอาชนะได้ยาก แต่เรื่องนั้นกลับลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
อาร์เน่อ ทำผลงานได้ดีมากกับทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว การเสริมทรัพยากรใหม่ ๆ ในช่วงซัมเมอร์นี้จะเป็นสิ่งที่ดีเพื่อช่วยเขาในฤดูกาลถัดไป
HOSSALONSO