7 เกมสุดท้ายของกูดิสัน พาร์ค
จากวันแรกสุดเมื่อ 133 ปีก่อน ผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์ ผ่านยุคแห่งความตกต่ำ ผ่านผู้จัดการทีมคนแล้วคนเล่า ผ่านผลงานของนักฟุตบอลมากหน้าหลายตา
ผ่านความทรงจำมากมาย..
จากพัน ๆ เกมที่ลงฟาดแข้ง ในวันนี้.. เหลืออีกเพียงแค่ 7 เกม
12 ก.พ. ลิเวอร์พูล
22 ก.พ. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
15 มี.ค. เวสต์แฮม ยูไนเต็ด
5 เม.ย. อาร์เซน่อล
19 เม.ย. แมนเชสเตอร์ ซิตี้
3 พ.ค. อิปสวิช ทาวน์
และ 18 พ.ค. เซาธ์แฮมป์ตัน
ถ้าลองเอาตัวเราไปแทนพวกเขา เปลี่ยนจาก กูดิสัน พาร์ค เป็น แอนฟิลด์ เป็น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เป็น เซนต์ เจมส์ พาร์ค เป็น สแตมฟอร์ด บริดจ์ หรือเป็นที่ไหน ๆ ก็ตามที่อยู่กันมายาวนาน มีสายใยแห่งความผูกพันเชื่อมโยงแน่นแฟ้น
ลองจินตนาการดูว่าหากเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นกับเรา นับถอยหลังเข้าสู่ 7 เกมสุดท้ายของสังเวียนแข้งที่อยู่ตรงนั้นตั้งแต่เรายังไม่ลืมตาดูโลก เราก็คงเข้าใจพวกเขามากขึ้นว่าความรู้สึกซึม ๆ ทึม ๆ ที่กำลังปกคลุมอยู่นั้นมันเป็นอย่างไร
กาวันที่ในปฏิทิน ขีดฆ่ามันไปทีละเกม ทีละเกม
แต่ละเกมที่หายไป ก็หมายถึงแต่ละวันที่หายไปด้วย การจากลาก็ยิ่งร่นใกล้เข้ามาทุกที
ใจหาย.. แม้จะรู้ดีว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไปก็เถอะ
เกมพรีเมียร์ลีกนัดตกค้างระหว่าง เอฟเวอร์ตัน กับ ลิเวอร์พูล คืนนี้จะเป็น เมอร์ซี่ย์ไซด์ดาร์บี้ ครั้งสุดท้ายที่ กูดิสัน พาร์ค
มันยืนยันแน่นอนหลังจากเอฟเวอร์ตันตกรอบเอฟเอ คัพเมื่อวันเสาร์ ทั้ง 2 ทีมจะไม่มีโอกาสได้พบกันอีกแล้วในสนามแห่งนี้หลังจบเกมลีกคืนนี้
ทุกอย่างจะถูกตัดจบ บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เพียงความทรงจำ
สำหรับคนในเมืองลิเวอร์พูลก็อาจรู้สึกกับ "ครั้งสุดท้าย" นี้มากหน่อย ด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่พ่อแม่ของหลาย ๆ บ้านมีสมาชิกทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน
บรรยากาศในสนามคืนนี้คงเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม หลังจากเกมนี้ เจอกันใหม่อีกทีจะไม่ใช่สนามที่สามารถมองข้ามฟากสวนสาธารณะสแตนลี่ย์ พาร์ค ไปเห็นหลังคาอัฒจันทร์กันได้อีกแล้ว
มันคงเป็นเกมที่เข้มข้น เป็น Emotional night ที่ทั้งนักเตะและแฟนบอลในชุดสีน้ำเงินจะเล่นและเปล่งเสียงตะโกนเชียร์กันแบบถวายชีวิต พลังและความบีบคั้นของเกมน่าจะอยู่ในระดับมหึมา
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีเดิมพันสำคัญ ลิเวอร์พูลลงเล่นเพื่อหนีอันดับสองออกไปเป็น 9 แต้ม ส่วนเอฟเวอร์ตันต้องการรักษาโมเมนตัมที่ชนะมา 3 นัดติด
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น..
ขุนพลทอฟฟี่สีน้ำเงินจะลงเตะเพื่อทิ้งทวน สั่งลาเมอร์ซี่ย์ไซด์ดาร์บี้ครั้งสุดท้ายในสนามแห่งนี้ด้วยผลการแข่งขันที่ดีที่สุด..
แน่นอนครับ สำหรับแฟนบอลเอฟเวอร์ตันแล้ว พวกเขาคงใจหายยิ่งกว่าใคร
กูดิสัน พาร์ค อาจไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ กับความสำเร็จอีกเลยนับตั้งแต่คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 1995 และต้องเผชิญกับความยากลำบากดิ้นรนต่อสู้เลือดตาแทบกระเด็นอยู่บ่อย ๆ
แต่ที่แห่งนี้ก็คือบ้าน..
30 ปีที่รอคอยความสำเร็จนับจากแชมป์เอฟเอ คัพ คราวนั้น คงยังเทียบไม่ได้กับความผูกพันที่มีต่อกันยาวนานถึง 133 ปี
นับตั้งแต่เกมแรกสุดเมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี 1892 ไม่กี่เดือนหลังฝ่ายบริหารส่วนใหญ่แตกหักกับ จอห์น โฮลดิ้ง ผู้บริหารคนสำคัญ และตัดสินใจย้ายออกจากแอนฟิลด์ ข้ามสวนสาธารณะสแตนลี่ย์ พาร์ค ขึ้นไปทางเหนือหนึ่งกิโลเมตร แล้วปักหลักยังสนามโล่ง ๆ ค่าเช่าถูกกว่าที่ชื่อ เมียร์กรีนฟิลด์
แล้ว กูดิสัน พาร์ค ก็ถือกำเนิดขึ้นในวันนั้น..
-จาก เซนต์ โดมิงโก้ ทีมฟุตบอลประจำโบสถ์ที่ก่อตั้งในปี 1878 เปลี่ยนชื่อเป็น เอฟเวอร์ตัน ฟุตบอล คลับ เมื่อปี 1879
-ใช้สนามเหย้าแรกสุดบริเวณพื้นที่มุมฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสวนสาธารณะสแตนลี่ย์ พาร์ค (ปัจจุบันคือลานจอดรถของสวน และเป็นพื้นที่เดียวกับที่สโมสรลิเวอร์พูลเคยมีความคิดจะสร้างสนามแอนฟิลด์ใหม่ขึ้นที่นั่น)
-ย้ายที่ทางไปยังสนามบริเวณหัวมุมถนนไพรออรี่ โร้ด ตัดกับถนน อาร์เคิ่ล เลน (พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างขึ้นไปทางตอนเหนือจากสนามแอนฟิลด์ในปัจจุบันราว 500 เมตร ทุกวันนี้เป็นสถานีน้ำมันอยู่เยื้องฝั่งตรงข้ามพื้นที่จอดรถสำหรับผู้มาใช้บริการสวนสแตนลี่ย์ พาร์ค)
-ย้ายสนามอีกครั้งไป แอนฟิลด์ เมื่อปี 1884 (สนามแอนฟิลด์เดียวกับที่เรารู้จักในปัจจุบัน)
-เอฟเวอร์ตันเล่นที่สนามแอนฟิลด์อยู่ 8 ปี กระทั่งความขัดแย้งเรื่องการขึ้นค่าเช่าสนามส่งผลให้เกิดการแตกหักภายในสโมสร
-เอฟเวอร์ตันย้ายออกจากแอนฟิลด์ไปปักหลักที่ เมียร์กรีนฟิลด์ เมื่อปี 1892 และเปลี่ยนชื่อเป็น กูดิสัน พาร์ค
-แอนฟิลด์ กลายเป็นเพียงสนามว่างเปล่า จอห์น โฮลดิ้ง เจ้าของสนามจึงก่อตั้งสโมสรลิเวอร์พูลขึ้นมาในปีเดียวกันกับการแยกตัว และลงเล่นที่นั่นนับจากนั้น
-ปี 1892 จึงเป็นปีที่สำคัญของวงการลูกหนังเมืองลิเวอร์พูล เมื่อ เอฟเวอร์ตัน กับ แอนฟิลด์ ที่เคยเป็นหนึ่งเดียวแยกตัวกันออกเป็น 2 สาย
-สายหนึ่งทีมเก่ากับสนามใหม่ (เอฟเวอร์ตันกับกูดิสัน พาร์ค) อีกสายหนึ่งทีมใหม่กับสนามเก่า (ลิเวอร์พูลกับแอนฟิลด์) และไม่เคยบรรจบกันอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
กับ กูดิสัน พาร์ค..
สนามแห่งนี้เคยมีช่วงเวลาที่ดีในฐานะสนามที่ทันสมัย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นสนามเดียวในเมืองลิเวอร์พูลที่ได้จัดนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ (ปี 1894 กับ 1910) ในยุคที่นัดชิงยังไม่ได้เตะกันที่เวมบลีย์
เป็นสนามแรกในอังกฤษที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นสนามฟุตบอลเพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรก (สนามอื่นบางสนามสร้างเพื่อเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอลอย่างเดียวในภายหลัง)
เป็นสนามแรกในอังกฤษที่มีอัฒจันทร์ 2 ชั้นรอบด้านทั้งสี่ (อัฒจันทร์ฝั่ง The Park End Stand ถูกทุบทิ้งเมื่อปี 1994 แล้วสร้างใหม่เป็นอัฒจันทร์ชั้นเดียวอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน)
เป็นสนามแรกในลีกอังกฤษที่ติดตั้งระบบทำความร้อนใต้พื้นสนาม (เดือนพฤษภาคม ปี 1958)
ในยุคเวมบลีย์เก่าก่อนจะทุบทิ้งสร้างใหม่ กูดิสัน พาร์ค คือสังเวียนแข้งที่รองรับเกมทีมชาติมากที่สุดนอกเหนือไปจากเวมบลีย์ เกมล่าสุดที่ฟุตบอลระดับนานาชาติฟาดแข้งกันที่นั่นคือแมตช์ระหว่าง บราซิล กับ ญี่ปุ่น เมื่อปี 1995
เกมแรกที่ทีมชาติอังกฤษแพ้ทีมนอกสหราชอาณาจักรก็เตะกันที่สนามแห่งนี้ (ไอร์แลนด์บุกชนะ 2-1 เมื่อ 21 ก.ย. 1949)
ฟุตบอลโลกปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ กูดิสัน พาร์ค รองรับการแข่งขันถึง 5 เกม เป็นรองเพียงแค่เวมบลีย์สนามเดียว
ทีมชาติบราซิลแชมป์เก่าที่มี "ไข่มุกดำ" เปเล่ ลงเตะเวิลด์คัพ 1966 ทั้ง 3 เกมในรอบแรกที่นั่น มีเรื่องเล่าว่าขุนพลแซมบ้าประทับใจความทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกของกูดิสัน พาร์ค และสนามซ้อม เบลล์ฟิลด์ เทรนนิ่ง กราวนด์ มากถึงขนาดถ่ายรูปห้องหับและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อส่งไปอวดคนที่บ้าน
แมตช์ประวัติศาสตร์ที่ โปรตุเกส รัว 5 ประตูรวดแซงชนะ เกาหลีเหนือ 5-3 ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายก็เกิดขึ้นที่สนามแห่งนี้ รวมถึงการรองรับเกมรอบตัดเชือกที่ เยอรมันตะวันตก พิชิต สหภาพโซเวียต
"เสือดำแห่งโมซัมบิก" ยูเซบิโอ สตาร์ทีมชาติโปรตุเกสพูดถึงสนามแห่งนี้ว่าเป็น “the best stadium in my playing life”
ในอายุที่ยาวนาน 133 ปี กูดิสัน พาร์ค อยู่ในลีกสูงสุดถึง 129 ปี ทำให้สนามแห่งนี้เป็นสนามที่รองรับเกมในลีกสูงสุดอังกฤษมากกว่าใคร มีเพียงแค่ 4 ฤดูกาลเท่านั้นที่ กูดิสัน พาร์ค เป็นสนามระดับดิวิชั่นสอง (ฤดูกาล 1930/31 และฤดูกาล 1951/52 ถึง 1953/54 ตอนที่ทีมตกชั้น)
เกมที่เรียกรอยยิ้ม เกมที่ต้องหลั่งน้ำตา เกมที่ได้กระชากอารมณ์
ประตูของ ดิ๊กซี่ ดีน.. เกมริมเส้นของ โจ เมอร์เซอร์.. บุคลิกผู้นำของ ไบรอัน ลาโบน.. ชั้นเชิงของ โคลิน ฮาร์วี่ย์.. พลังของ อลัน บอลล์
การแย่งแชมป์กับลิเวอร์พูลยุคทศวรรษ 1980.. มันสมองของ โฮเวิร์ด เคนดัลล์.. ความเหนียวหนึบของ เนวิลล์ เซาธอลล์.. อิทธิพลของ เควิน แรตคลิฟฟ์.. การคุมเกมของ ปีเตอร์ รีด.. การลากเลื้อยของ เควิน ชีดี้.. การจบสกอร์ของ แกรม ชาร์ป
วอลเล่ย์ลูกนั้นของ แบร์รี่ ฮอร์น.. ความดีเดือดของ ดันแคน เฟอร์กูสัน.. ลูกโหม่งของ ทิม เคฮิลล์.. ความมหัศจรรย์ของไอ้หนูชื่อ เวย์น รูนี่ย์
เสาค้ำหลังคาเรียงราย ที่นั่งคับแคบ เบียดเสียด แออัด ในแบบสนามฟุตบอลรุ่นเก่า ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนผู้คน แทบไม่มีพื้นที่ขยับขยาย
เสียงเพลง It's a Grand Old Team กับเสียงไซเรนอันเป็นเอกลักษณ์แห่งเพลง Z-Cars ปลุกเร้าพลังก่อนเริ่มเกม
จะมีเอฟเวอร์โตเนียนคนไหนลืมสนามแห่งนี้ได้ลง
“When places like Goodison turn off the lights, you lose a connection with the past,” ร็อบ ซอว์เยอร์ จากชุมนุมมรดกแห่งเอฟเวอร์ตัน เอฟซี บรรยายความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อสนามกูดิสัน พาร์ค
มันก็ถูกของเขา.. ระยะเวลา 133 ปีย่อมทำให้ กูดิสัน พาร์ค คือสิ่งที่เชื่อมโยงปัจจุบันไปสู่อดีต ทำใจลำบากอยู่เหมือนกันกับความเปลี่ยนแปลงนี้
แล้ว กูดิสัน พาร์ค หลังจากนี้เล่า จะเป็นอย่างไร
อันที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้แย่เท่าไหร่ สโมสรยังคงเป็นเจ้าของที่ดินตรงนั้น และการพัฒนาที่ดินในพื้นที่นั้นจะยังคงไม่ทิ้งความผูกพันกับชุมชน
กูดิสัน พาร์ค จะถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างศูนย์กลางชุมชนที่ทันสมัยแห่งย่านวอลตัน มีทั้งที่อยู่อาศัย ออฟฟิศสำนักงาน หน่วยงานด้านสาธารณสุข ศูนย์การเรียนรู้ ร้านค้า และพื้นที่สีเขียวในชื่อโครงการ Goodison Park Legacy Project
หน่วยงาน Everton in the Community ก็ยังอยู่ตรงนั้น ยังคอยดูแลงานด้านต่าง ๆ เพื่อชุมชนต่อไปไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน คนพิการ สุขภาพ การจ้างงาน กีฬา สันทนาการ การรวมกลุ่มผู้คน สุภาพสตรี รวมไปถึงอาสาสมัคร เป็นมรดกตกทอดในเชิงการดำรงอยู่เพื่อชุมชนอย่างที่เอฟเวอร์ตันยึดถือมาตลอดในคติ The People's Club
Goodison Park Legacy Project จะยกระดับคุณภาพชีวิตและภาพลักษณ์ของย่านวอลตันให้ดีขึ้นจากการจ้างงาน การขยายตัวของเทคโนโลยี และความทันสมัย โดยที่จิตวิญญาณแห่งการมีส่วนรวมกับชุมชนจะยังไม่จางหายไปจากย่านนั้น
รูปปั้นทั้งหลายก็ยังอยู่ที่เดิม.. รูปปั้น ดิ๊กซี่ ดีน รูปปั้น Holy Trinity ที่มี โฮเวิร์ด เคนดัลล์, อลัน บอลล์ และ โคลิน ฮาร์วี่ย์ ไม่ถูกเคลื่อนย้ายไปไหน
วงกลมกลางสนามจะถูกเก็บเอาไว้ตลอดกาล มันจะถูกตกแต่งให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว เป็นหัวใจของพื้นที่ตรงนั้น
สนามที่เป็นรูปลักษณ์มองเห็นจับต้องได้อาจไม่อยู่แล้ว แต่กลิ่นอายของ กูดิสัน พาร์ค จะยังคงอยู่
มันก็ไม่ได้แย่นักหรอก เพียงแต่คงต้องให้เวลาเยียวยาสักหน่อย
อย่างที่ อเล็กซานดร้า ท็อปปิ้ง แห่ง เดอะการ์เดี้ยน เขียนลงท้ายในสกู๊ปอำลา กูดิสัน พาร์ค ที่เธอเพิ่งจะพาลูกชายวัย 9 ขวบไปดูเกมที่ เอฟเวอร์ตัน ไล่ถล่ม เลสเตอร์ ซิตี้ 4-0 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาด้วยกันนั่นแหละ
"กับตอนนี้ที่พวกเราต้องกล่าวคำอำลาแม่เฒ่าของเรา (the Grand Old Lady) ในฤดูกาลสุดท้ายของเธอ ขออนุญาตให้เราได้เศร้า.. ขออนุญาตให้เราได้เสียใจสักครู่หนึ่งเถิด"
เป็นข้อความที่กินใจ และน่าจะถ่ายทอดความรู้สึกของเอฟเวอร์โตเนียนทั้งปวงได้ดีที่สุด
ครับ.. ในความใจหายและต้องเตรียมตัวเตรียมใจ บางทีคนที่เศร้าอาจไม่ได้มีแค่พวกคุณ หากพวกเราบางคนก็เช่นกัน
กูดิสัน พาร์ค 1892-2025
แด่ความทรงจำในวัยเด็ก.. 133 ปีแห่งความสุขสีน้ำเงิน
ตังกุย