สงครามลูกหนัง แมนซิตี้ vs พรีเมียร์ลีก

สงครามลูกหนัง แมนซิตี้ vs พรีเมียร์ลีก
ผมเขียนไว้ในเพจ jackie เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา การไต่สวนแห่งศตวรรษ ลองไปสืบค้นกันดูครับ

นั่นคือที่มาของประเด็นข่าวล่าสุดเมื่อทาง แมนฯซิตี้ แถลงการณ์แบบเล่นใหญ่

ว่าพวกเขาชนะคดีฟ้องพรีเมียร์ลีกที่ออกกฏงบการตลาด APT โดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย รวมทั้งข้อปลีกย่อยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

โดยแมนฯซิตี้ ยื่นเอกสารทางกฏหมาย 165 หน้าต่อ คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการไปตั้งแต่มิ.ย. ที่ผ่านมา  

ผลการเริ่มไต่สวนคดีโดยคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ 3 ท่าน (ดิ แอธเลติก รายงานชื่อด้วย) ออกมาเป็นข่าวใหญ่กลบข่าว เอริก เทน ฮาก ไปพลางๆก่อน

อ้อ....พยานฝั่งแมนฯซิตี้ มีเชลซี, นิวคาสเซิล และเอฟเวอร์ตัน

พยานฝั่งพรีเมียร์ลีก นำโดย แมนฯยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล, สเปอร์ส, ไบรท์ตัน, เวสต์ แฮม ส่วนทีมที่ส่งจดหมายยืนยันเห็นด้วยกับพรีเมียร์ลีกมี เบรนต์ฟอร์ด, บอร์นมัธ, ฟูแล่ม และวูล์ฟแฮมป์ตัน

หลังไต่สวนเสร็จ....คณะกรรมการทั้งสามท่านอ่านผลการวินิจฉัย 175 หน้า 

ตามรายละเอียดปลีกย่อยหลายเรื่อง

 แต่สรุปเอาแบบให้เข้าใจง่ายๆ 2 เรื่องหลักๆครับ

- กฏ APT ของพรีเมียร์ลีกไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือ พรบ. การแข่งขันของสหราชอาณาจักรปี 1998  (UK competition Act1998) ในบางแง่มุม บางมุม เช่นการเข้าถึงข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบมาตรฐานของ "มูลค่าการตลาดที่แท้จริง"  รวมทั้งขัดขวางการเจรจากับผู้สนับสนุนทีมของแมนฯซิตี้

- เจ้าของทีมหรือหุ้นส่วนสโมสรออกเงินกู้ให้สโมสรตัวเองยืมไปใช้เป็นงบประมาณ

โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ ควรถูกนับรวมอยู่ในกฏ APT ด้วย

ผมเองนั่งอ่านจากสื่อหลัก 4-5 เจ้าที่เชื่อถือได้ตั้งแต่ The Times เจ้าแรกที่ได้เห็นข้อกล่าวหา 165 หน้าของแมนฯซิตี้ แล้วนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะชน รวมทั้ง บีบีซี, เดอะ การ์เดี้ยน, เดอะ เทเลกราฟ และ ดิ แอธเลติก ยูเค 

1 เรื่องมีอยู่ว่า....

 เมื่อ ธ.ค. 2021 หลังจากกองทุนรัฐซาอุPIF ซื้อนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เรียบร้อยแล้ว ทางพรีเมียร์ลีกนำเสนอร่างมูลค่าการตลาดที่เท่าเทียมกัน

fair market values (FMVs)เพื่อเข้มงวดเรื่องรายรับจากผู้สนับสนุนทีมที่มีเจ้าของเดียวกันกับเจ้าของสโมสรฟุตบอล ซึ่งพรีเมียร์ลีกมองว่ามันคือ "เงินอัดฉีด"จากเจ้าของทีมสู่สโมสรฟุตบอลผ่าน "ผู้สนับสนุน" (บริษัทตัวเอง) เพื่อมายังทีมบอล

พรีเมียร์ลีกมองว่านี่มันคือการสร้างมูลค่าการตลาดที่ไม่ยุติธรรม

เจ้าของทีมอาจตั้งวงเงินของแบรนด์สินค้า (ของตัวเอง) ตัวเลขใดก็ได้ ไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่แท้จริง

เช่น....Etihad อาจจ่ายงบประมาณสนับสนุนทีมแมนฯซิตี้ในอัตราที่เกินจริง เพราะ

เอติฮัด กับ แมนฯซิตี มีเจ้าของเป็นคนเดียวกันนั่นเอง

นี่คือสิ่งที่พรีเมียร์ลีกเข้มงวดพอนำร่างตัวนี้เสนอสโมสรสมาชิกแล้วทำการลงคะแนนกันในเดือนก.พ. 2022 เพื่อให้เปลี่ยนกฏงบการเงินการตลาดหรือ  associated party transaction (APT)

จาก 20 สโมสร  ลงคะแนนเพื่อเปลี่ยนกฏ APT ไม่เอกฉันท์

12 เสียงเห็นชอบ

2 งดออกเสียง

6 เสียงไม่เห็นชอบ

เวลาผ่านไปสองปี....แมนฯซิตี้ นำเรื่องนี้มาต่อสู้กับพรีเมียร์ลีกจนได้รับชัยชนะในเบื้องต้น

2 APT คืออะไร ทำไมเรือใบชนะ

มาจาก  Associated Party Transaction มันคือกฏงบการเงินการตลาด ที่พรีเมียร์ลีกร่างกฏนี้ออกมาเพื่อบังคับใช้ให้เกิดการแข่งขันทางการเงินอย่างยุติธรรม ทีมที่เจ้าของรวยกว่าจะได้ไม่เอาเปรียบทางการเงิน 

เช่น....รายได้จากผู้สนับสนุนทีมที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับเจ้าของสโมสร ไม่ควรเกิมูลค่าการตลาดที่แท้จริง 

แมนฯซิตี้ มี  Etihad กับ  ธนาคาร อาบูดาบี หรือ  First Abu Dhabi Bank ซึ่งมี ชีค มานซูร์ เป็นเจ้าของ....นั่นเท่ากับว่า ชีค มานซูร์ เจ้าของแมนฯซิตี้ สามารถกำหนดเพดานเงินรายได้จากผู้สนับสนุนทั้งสองเจ้าสบายๆ 

เกินมูลค่าตลาดที่แท้จริงไม่ยาก

กระนั้นข้อนี้ คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยว่า  "กฏAPT ของพรีเมียร์ลีก ไม่ชอบด้วยกฏหมายตามที่ แมนฯซิตี้ ร้องเรียน เพราะไปขัดขวางการเจรจาระหว่าง แมนฯซิตี้ กับผู้สนับสนุนทีม" 

กฏนี้เป็นการควบคุมการแข่งขันมากเกินไป ยิ่งไปตีความพรบ การแข่งขัน 1998  (competition Act1998) พบว่ามันคือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ไม่เสรี มีการควบคุมเกิดขึ้น

3 วงเงินกู้ยืมของสโมสร

หลายท่านอาจนึกไม่ถึง.... 

ซีซั่น 2022-23 อาร์เซนอล ยืมเงินจากหุ้นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของทีม

นั่นคือ Kroenke Sports & Entertainment วงเงิน  £259 ล้าน

เอฟเวอร์ตัน กู้เงินจากหุ้นใหญ่ ฟาฮัด โมชิรี แบบไม่เสียดอกเบี้ย

จำนวน £450 ล้าน

โทนี บลูม ลงทุนกับไบรท์ตันวงเงิน £400 ล้าน โดยไม่เสียดอกเบี้ย

อ้อ...ลิเวอร์พูล กู้เงิน  FSG ประมาณ £70 ล้าน

กรณีเรื่องเงินกู้ยืมนั้น มีตัวเลขจากการอ่านคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการสามท่านว่า..... 

วงเงินกู้ของทีมในพรีเมียร์ลีกที่ได้รับจากเจ้าของทีมตัวเองกว่า £1.5 พันล้าน

และมีวงเงินกู้ยืมทั้งพรีเมียร์ลีกที่นอกเหนือจากเงินจากเจ้าของทีมตัวเองรวมแล้วทั้งหมด £4 พันล้าน!!!!

เงินกู้ยืมจากเจ้าของทีมหรือหุ้นใหญ่ โดยไม่เสียดอกเบี้ย จะต้องถูกนับรวมในงบการเงินและการตลาด  APT  ไม่งั้นขัดต่อหลักกฏหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ถูกรวมอยู่ในกฏนี้ และนั่นคือช่องโหว่ที่ ซิตี้ เอามาเล่นงานพรีเมียร์ลีก 

เพราะจะว่าไปเงินกู้ยืมจากเจ้าของทีมให้สโมสร มันก็ไม่ต่างอะไรกับเงินจากผู้สนับสนุนทีมที่มีเจ้าของเดียวกันกับทีมบอล 

อันนี้ PL พลาดเต็มๆ 

4 แมนฯซิตี้ ไม่ชนะ 100%

แม้แถลงการณ์ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ผ่านเวบไซด์สโมสรและสื่อโซเชียลของตัวเอง ดูเหมือนเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดมีคำว่า "ไม่ชอบด้วยกฏหมาย" หรือขัดต่อหลักกฏหมาย ก็ตาม แต่ข้อกล่าวหาพรีเมียร์ลีกกว่า 165 หน้านั้น ส่วนใหญ่ อนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้วว่า ไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหา...

เช่น....พรีเมียร์ลีกเลือกปฏิบัติและเจาะจงเล่นงานทีมที่มีเจ้าของจากอาหรับเป็นพิเศษ

และพรีเมียร์ลีกเป็น "เผด็จการเสียงข้างมาก" (tyranny of the majority) ข้อกล่าวหานี้ของเรือใบ "ตกไป" ไม่มีมูล 

กฏ APT ไม่ถูกเขียนมาเพื่อแบ่งแยก...มีความโปร่งใสและชอบธรรม แต่ต้องปรับให้ถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้นเอง

5 พรีเมียร์ลีกต้องแก้ไขกฏ APT

แม้ข้อร้องเรียนส่วนมากนั้น แมนฯซิตี้ จะพ่ายแพ้ อนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยให้ พรีเมียร์ลีกชนะ แต่.....สาระสำคัญที่สุดในชัยชนะส่วนน้อยของแมนฯซิตี้ กลับมีความสำคัญต่อการดวลกันระหว่าง เรือใบ และ พรีเมียร์ลีก

แน่นอนครับ....จากนี้ พรีเมียร์ลีก จะต้องเรียกประชุมสโมสรสมาชิก และต้องมีการปรับแก้กฏ APT เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฏหมาย หรือพรบ การแข่งขันของ UK ซึ่งนั่นจะทำให้ แมนฯซิตี้ สามารถสร้าง "ดีลประวัติศาสตร์" อัดฉีดเงินตัวเองได้เสรี แน่นอน 

นึกภาพเล่นๆว่า เอติฮัด แอร์ไลนส์ ทุ่มงบโฆษณาปีละ £ 150 ล้าน แค่นี้ก็ได้มากกว่า อดิดาสที่สนับสนุนแมนฯยูฯ เกือบสองซีซั่น

ต่อไปการกู้ยืมเงินต้องอยู่ใน APT และมีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามกลไกลตลาดจริง

นี่แหละหลายสโมสรที่ใช้งบก้อนนี้จากเจ้าของทีมหรือหุ้นส่วนใหญ่ เจองานหนักเรื่องงบดุลบัญชี ตามกฏ  PSR (profit and sustainability rules) ที่ให้ขาดทุนได้ £105 ล้านต่อสามซีซั่น หรือปีละ £30 ล้าน.....

เอาเป็นว่า.....ข่าวที่พาดหัวกันทั่วโลกนี้

มันคือชัยชนะของแมนฯซิตี้กับข้อร้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับคดี 115 นะครับ 

ต้องแยกจากกันมันคนละเรื่อง และอย่างที่ผมเขียนเล่าไปเมื่อก.ย. ว่า เรือใบสีฟ้า โชว์แทกติกนอกสนามในแง่กฏหมายเล่นงานพรีเมียร์ลีก ให้ไขว้เขว ก่อนการไต่สวนคดี 115 ที่ แมนฯซิตี้ เป็นจำเลย และอยู่ระหว่างการไต่สวนกว่าจะแล้วเสร็จปีหน้า....

กรอบเวลาในการตัดสินคดีน่าจะ ก.พ. 2025 ครับ

เพียงแต่....ว่าชัยชนะในฐานะที่เรือใบสีฟ้า เป็นโจทก์ นั้นจะทำให้ พรีเมียร์ลีกระมัดระวังตัวมากขึ้นในการร่างกฏออกมาบังคับใช้ และแน่นอนพวกเขาพร้อมสมาชิกที่จะประชุมกันสัปดาห์หน้า....เตรียมปรับแก้กฏ  APT ให้ มันชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่ได้ยกเลิกแน่นอน 

ส่วนที่จะเป็นผลกระทบต่อหลายๆสโมสรคือเรื่องเงินกู้ยืมจากเจ้าของทีมหรือหุ้นส่วนของทีมตัวเองนั้น จะต้องเป็นเงินกู้ที่เสียดอกเบี้ยและถูกนับรวมในกฏ APT  ด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้หลายสโมสรมีโอกาสเจอปัญหาหนี้สินเกินเพดาน "งบการเงิน"  PSR ของพรีเมียร์ลีก แน่นอน

ส่วนแมนฯ ซิตี้จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพื่อชดเชยจากพรีเมียร์ลีก กรณีที่ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบจากงบการเงิน ก็มีสิทธิ์ทำได้เช่นกัน

อ่า.....จากนี้ก็ไปรอลุ้นคดี 115 กัน ใช้เวลานานหลายเดือนจนถึงปีหน้าโน่น

ดูทรงแล้ว....เรือใบมีโอกาสโดนเอาคืนแน่ๆเลย แม้คณะกรรมการไต่สวนจะเป็นชุดอิสระก็ตามที

JACKIE


ที่มาของภาพ : getty images
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport