โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด..
มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานในการเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นที่เคยมีให้กลับมาอีกครั้ง
ทุกวันนี้ความรู้สึกเกรงขามที่หลาย ๆ ทีมเคยมีต่อความเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว หรือหากจะใช้คำว่าไม่เหลืออยู่เลยก็คงไม่ผิด
ไม่มีใครกลัว แมนยู แล้ว
โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เองก็เช่นกัน
อาการใจสั่นขาสั่นตั้งแต่ก่อนเตะเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องไปเล่นที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เป็นอย่างไรไม่รู้ เพราะมันหายไปนานแล้ว
ไม่มีใครไปเยือนโรงละครแห่งความฝันด้วยความกลัวอีกต่อไป ตรงกันข้ามมีแต่ความฮึกเหิมอยากจะลงสนามเร็ว ๆ เพื่อไปสร้างเกียรติประวัติให้ตัวเอง
บรรยากาศต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นผลมาจากการพังทลายของความเป็นภูผาใหญ่ที่ค่อย ๆ ถูกกร่อนเซาะจากผลการแข่งขันที่น่าผิดหวัง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตลอดเวลา 11 ปีที่ผ่านมาหลัง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือเมื่อปี 2013
ความรู้สึกหวาดหวั่นที่มีต่อ แมนยูไนเต็ด ค่อย ๆ น้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยพวกเขาไม่สามารถกระชากตัวเองให้ขึ้นมาอยู่ในจุดที่เคยเป็นได้ จากที่เคยแพ้ยากก็กลายเป็นแพ้ง่ายขึ้น จากที่เคยเอาชนะได้ยากก็กลายเป็นชนะได้ง่ายขึ้น
จากที่เคยแข็งแกร่งเล่นในบ้านเหมือนเป็นยักษ์ใหญ่แฟนบอลก็ได้เห็นผลการแข่งขันแย่ ๆ คาโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด บ่อยขึ้น
เกมแล้วเกมเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า จากความกลัวเต็มสิบก็ค่อย ๆ ลดลง และลดลง
ฤดูกาลแล้ว ฤดูกาลเล่า ที่ แมนยู ยังคงขลุกอยู่กับปัญหา ไม่ว่าใครเข้ามาก็แก้ไม่ตก จาก เดวิด มอยส์ สู่ หลุยส์ ฟาน กัล สู่ โชเซ่ มูรินโญ่ สู่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา สู่ ราล์ฟ รังนิก มาถึง เอริค เทน ฮาก
เมื่อไม่มีใครเลยที่สามารถพาทีมกลับไปอยู่ในจุดเดิมได้ คือสามารถชนะแบบรันยาว 7 นัด 10 นัดได้ แพ้ยากแบบที่คู่ต่อสู้โดนบดจนต้านทานไม่ไหวทำนบพังทลายได้ หรือไล่ขยี้โจมตีอีกฝ่ายด้วยความกระหายเผ็ดร้อนและเร่งเร้าเหมือนขับรถบนทางด่วนตลอดเวลาได้
ความเกรงกลัวที่ทุกคนเคยมีต่อ แมนยู จึงค่อย ๆ ลดน้อยลง
จากที่เคยกลัวเช็ดเม็ด ก็ค่อย ๆ กล้าขึ้นเป็นความกล้า ๆ กลัว ๆ
จากที่เคยกล้า ๆ กลัว ๆ ก็ค่อย ๆ กล้าขึ้นอีกจนกลายเป็นความกล้าที่จะสู้
จากความกล้าที่จะสู้เมื่อทำได้หรือเห็นทีมอื่นทำได้บ่อยขึ้นก็กลายเป็นความฮึกเหิม คึกคักอยากลงไปเล่น อยากไปชนะพวกปีศาจแดงถึงบ้าน
แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าแต่มันก็คือความจริง เกมเยือน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ไม่ได้ให้ความรู้สึกครั่นคร้าม ใจสั่นด้วยความหวาดกลัวเหมือนอดีตอีกแล้ว
และมันเป็นอย่างนี้มาพักใหญ่ ๆ แล้ว
ในเมื่อคุณเห็น แมนยูไนเต็ด สามารถแพ้ นอริช ซิตี้ แพ้ ซันเดอร์แลนด์ แพ้ สวอนซี แพ้ เซาธ์แฮมป์ตัน แพ้ เวสต์บรอมวิช แพ้ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ แพ้ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด แพ้ ฟูแล่ม แพ้ได้ทุกทีมที่นั่น แล้วคุณจะต้องไปกลัวพวกเขาทำไม
แน่นอนครับ สมัยของเซอร์อเล็กซ์ แมนยูไนเต็ดก็เคยแพ้เกมที่ไม่น่าแพ้เหมือนกัน เด็ก ๆ ของเฟอร์กี้ แพ้ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ แพ้ มิดเดิลสโบรช์ แพ้ ฟูแล่ม, โบลตัน, ฟอเรสต์, วิมเบิลดัน ทั้งยังเคยถูก ลิเวอร์พูล บุกมาถลุง 1-4 เคยแพ้ แมนซิตี้ น่าอับอาย 1-6
แต่เราล้วนทราบดีว่ามันเกิดขึ้นได้ในเกมฟุตบอล และในผลงานโดยรวมความองอาจในโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ยังปกคลุมชัดเจน
เกมพรีเมียร์ลีกนัดเหย้าในโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ยุคเซอร์อเล็กซ์คือกำแพงยักษ์ ไม่ชนะติดต่อกันกันนานที่สุดแค่ 3 เกม และมันเกิดขึ้นเพียง 5 ครั้งตลอดเวลา 21 ฤดูกาล (นับเฉพาะพรีเมียร์ลีก).............
ขณะที่ยุคหลังเฟอร์กี้การไม่ชนะ 3 เกมติดต่อกันในบ้านคือเรื่องปกติ มันเกิดขึ้น 5 ครั้งเหมือนกันแต่ในระยะเวลาที่น้อยกว่ากันครึ่งหนึ่งคือแค่ 11 ฤดูกาล ที่ยิ่งไปกว่านั้นแฟนบอลปีศาจแดงยังเคยต้องรอชัยชนะเกมลีกในบ้านนาน 4 นัดติดต่อกันอีก 2 ครั้ง และหลุดไปถึง 6 นัดติดต่อกันอีก 1 ครั้ง
ความน่าเกรงขามของ แมนยู ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ยังย่อมมีการเข้าเบรกชนะต่อเนื่องเป็นคุณสมบัติเอกที่ทำให้ที่นั่นคือภูผายักษ์
ในยุคหลังเซอร์อเล็กซ์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชนะในลีกที่โรงละครติดต่อกันนานที่สุด 8 นัด มันเกิดขึ้น 2 ครั้ง
แต่ในยุคเฟอร์กี้การชนะเกมในบ้าน 8 นัดติดในพรีเมียร์ลีกแทบจะเป็นกิจวัตรประจำปี
มันเกิดขึ้น 4 ครั้ง.. อาจจะดูเหมือนไม่ได้เยอะกว่ากันเท่าไหร่เมื่อเทียบกับ 2 ครั้งที่เกิดขึ้นยุคหลังเฟอร์กี้ แต่นั่นเพราะมันยังมีอีก 8 ครั้งที่ยูไนเต็ด "ไปต่อ" กับการเข้าเบรกชนะแบบเลยเถิด
ชนะ 9 นัดติด อีก 3 ครั้ง
ชนะ 10 นัดติด 1 ครั้ง
ชนะ 12 นัดติด อีก 3 ครั้ง
และทะลุไปถึงการชนะ 19 นัดติดต่อกันในช่วงรอยต่อฤดูกาล 2010/11 กับ 2011/12
มันแตกต่างกันเยอะเหลือเกินนะครับ ในฤดูกาลที่เฟอร์กี้วางมือคือ 2012/13 ท่านเซอร์ยังทิ้งทวนด้วยผลงานชนะ 14 จาก 15 เกมก่อนจะสะดุดชนะ 2 แพ้ 2 ใน 4 เกมสุดท้าย และถ้านับย้อนขึ้นไปถึงซีซั่น 2011/12 ด้วย แมนยูลงเล่นเกมลีกในโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 24 เกม ชนะไป 22 เสมอ 1 แพ้แค่ครั้งเดียว
เมื่อผลงานแข็งแกร่งขนาดนั้น ผนวกเข้ากับการเล่นในสนามที่หนักแน่น ดุดัน ตะลุยบุกเข้าใส่อย่างไม่ปราณีด้วยขุนพลระดับโลก และมีเสียงตะโกนเร่งเร้าจากกองเชียร์เหยียบแปดหมื่นชีวิต แค่ได้ยินว่าต้องไปเยือนที่นั่นแข้งขามันจึงสั่นสะท้านขึ้นมาเอง
ยิ่งตอนยืนเข้าแถวรอเดินลงสนาม คิดถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังจะออกไปเจอในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ด้วยคู่แข่งอหังการที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ก็ต้องกลืนน้ำลาย ใจแป้วหล่นไปถึงตาตุ่ม มันแพ้ชนะกันตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว
ความเป็น แมนยูไนเต็ด ที่สั่งสมมาทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ จะไม่ให้หวาดหวั่นก็คงไม่ได้ จะไม่ให้ยำเกรงก็คงไม่ไหว เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครที่รู้ตัวว่าต้องมาเยือนโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด โดยเฉพาะทีมเล็ก ๆ มันก็เหมือนแพ้ไปแล้วครึ่งตัว เคยมีบางทีมยอมทิ้งเกมนั้นเพื่อพักตัวหลักไว้เตะเกมหนีตายนัดอื่น ๆ ด้วยซ้ำ
ฟังแล้วก็คงได้แต่ถอนหายใจนะครับสำหรับแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มันเหมือนเป็น Good Old Day เก่า ๆ ที่ได้แต่อมยิ้มให้กับมันยามคิดถึง
จะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนบอกไม่ได้เหมือนกัน แฟนบอลแมนยูไนเต็ดคงได้แต่หวังว่าการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาลน่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
แต่จะเป็นเมื่อไหร่กันเล่า..
จะเป็นเมื่อไหร่กันที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ได้กลับไปอยู่ในจุดสูงสุดที่สังเวียนแข้งแห่งนี้เคยเป็น.. ณ เวลานี้ยังมองไม่เห็นจริง ๆ