แมนเชสเตอร์คึกคักกันน่าดู

แมนเชสเตอร์คึกคักกันน่าดู
ทีมในเมืองกับทีมชานเมืองแมนเชสเตอร์ เริ่มความเคลื่อนไหวตลาดนักเตะซัมเมอร์นี้กันแล้ว โดยเฉพาะทีมชานเมืองแมนเชสเตอร์ ที่กำลัง "ล้างสต๊อก"ของเดิมและเติมของใหม่เข้าห้าง

ข่าวออกมารัวๆ เลยตอนนี้มาแล้ว 2+1 คน ที่โรงละคร

ส่วนทีมเพื่อนบ้านเสียงดังนั้นแม้ได้ดาวรุ่งพุ่งแรง แต่มันมีแง่มุมการย้ายทีมที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เริ่มทีมในเมืองก่อนละกันมีความน่าสนใจในแง่ "ดีล" และ "กฏ" ที่ยูฟา ผ่อนผันให้ชั่วคราวสักซีซั่นหนึ่งก่อนสำหรับ "หนึ่งเจ้าของหลายสโมสร"  (multi-club ownership)หรือ MCO ที่สามารถลงแข่งขันสโมสรยุโรปรายการเดียวกันได้ แต่ซื้อขายย้ายทีมระหว่างทีมโดยตรงไม่ได้ 

มี2 เรื่องที่ต้องแยกกันนะครับ

ตามที่คณะกรรมการควบคุมการเงินของยูฟา (CFCB) ดำเนินการผ่อนปรนเรื่อง "หนึ่งเจ้าของหลายสโมสร" หรือ  MCO ได้มีข้อบังคับเรื่องนี้แจ้งให้ทุกสโมสรในยุโรปรับทราบถึง ข้อบังคับในการแข่งขันบอลสโมสรยุโรป กรณี "หนึ่งเจ้าของหลายสโมสร"ในสองประเด็นที่แตกต่างดังนี้

1 MCO หรือ "หนึ่งเจ้าของหลายสโมสร" สามารถลงแข่งสโมสรยุโรปรายเดียวกันได้ ทั้ง แมนฯซิตี้ , กิโรนา หรือ แมนฯยูไนเต็ด กับนีส ในยูโรปา ลีก โดยเจ้าของทีมหลัก ต้องมีสัดส่วนหุ้นในสโมสรลูกแค่ 30% หรือมอบการบริหารจัดการสโมสรให้กับ  blind trust กล่าวคือให้ผู้บริหารมืออาชีพมาบริหารทรัพย์สินและสโมสรแทน (เป็นทางเลี่ยงอย่างหนึ่ง)  ภายใต้การรับรองของยูฟา

blind trust สำหรับนักการเงินเรื่องปกติ เช่นเดียวกันกับนักการเมืองที่มักจะมอบธุรกิจของตัวเองให้ผู้บริหารมืออาชีพบริหารสินทรัพย์ของตัวเองแทน 

สรุปให้เข้าใจง่ายๆเรื่อง  blind trust คือ การบริหารจัดการสโมสรด้วยการมอบทรัพย์สินให้ผู้บริหารมืออาชีพ มาทำหน้าที่แทน โดยต้นสังกัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการบริหารจัดการ นอกจากรับผลประโยชน์ด้านการเงินเท่านั้น

โดยจ้างมืออาชีพบริหารทีมให้ เพื่อป้องกันเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน และยูฟา หาทางออกให้สโมสรเหล่านี้ในเบื้องต้นก่อนนั่นเอง

2 MCO ห้ามซื้อขายย้ายทีมหรือยืมตัวระหว่างทีมเจ้าของเดียวกัน...ตั้งแต่ ก.ค. 2024- ก.ย.2025 (ยังมีเรื่องใช้แมวมองร่วมกันและอีกหลายกรณี.....) ที่ลงแข่งขันรายการสโมสรยุโรปรายการเดียวกัน

ทั้งหมดมันคือแนวทางแก้ปัญหาของยูฟา เบื้องต้นครับ เพราะตอนนี้ พวกเขาเดินแต้มช้ากว่าทีมระดับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่สร้างเครือข่าย 13 สโมสรลูกทั่วโลกในนาม  CFG อย่างที่ทราบกันมานาน 

ทั้งถือหุ้น 100% บ้าง 40-50% บ้าง... ทั่วโลก

จนมีผลกระทบเรื่องนี้ในยุโรปแล้วเมื่อสโมสรลูกดันผ่านเข้ามาแข่งขันสโมสรยุโรปด้วยกันอีกอย่างเช่น แมนฯซิตี้ กับ กิโรนา ซึ่งในตอนแรกผิดกฏยูฟาเรื่องเจ้าของทีมเดียวกัน....แต่เมื่อพวกเขาทำข้อตกลงกันก่อนกฏนี้ออกมาก็เลยซื้อขายกันได้ตามปกติ 

ข้อ1 ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะ ยูฟา ผ่อนปรนให้ ในแง่กฏ ข้อบังคับไปแล้ว ส่วนข้อ 2 อะไรที่ตกลงกันก่อน  MCO บังคับใช้ ถือว่าทำได้ ดังนั้น แมนฯซิตี้ "จมูกเร็ว" กว่าเรื่องนี้ ใช้ "บาย พาส" นักเตะจาก ทรัวส์ ในฐานะต้นสังกัดและทีมลูก ส่งให้ กิโรนา ยืมไปเล่น สร้างมูลค่าให้ ทรัวส์ ไปในตัว แล้วเมื่อมีการซื้อ ซาวินโญ ล่าสุดนั้นเท่ากับเป็นการซื้อ ซาวินโญ จาก ทรัวส์ ต้นสังกัดไม่ใช่ซื้อจาก กิโรนา (ที่เล่นช.ป.ลด้วยกัน) 

ส่วน แมนฯยูไนเต็ด เซ็นสัญญาซื้อตัว ฌอง-แคลร์ก โตดิโบ ไม่ได้นั้นเพราะ ติดกฏ MCO เนื่องจากเซอร์จิม แรทคลิฟฟ์ ยังเป็นเจ้าของทีมนีส ซึ่งเล่นยูโรปา ลีก ปีนี้ รายการเดียวกับแมนฯยูฯ โดยตรงเลย แล้วพอกฏนี้ออกมาก็จบข่าวทันที รอปีหน้า

พอเข้าใจนะครับ....

ส่วนจากข่าวล่าสุดยืนยันทุกสื่อหลักว่า...แมนฯซิตี้ เซ็นปีกบราซิลวัย20 ปี ซาวินโญ 5 ปี ราคา£ 21.1ล้าน (+£12.6 ล้านตามน้ำ) จากทรัวส์ หนึ่งในทีมลูกของแมนฯซิตี้เอง 

ประเด็นที่น่าสนใจ

-ซื้อจาก ทรัวส์ สโมสรลูกของแมนฯซิตี้ในกลุ่ม CFG  (city football group) หลังปล่อยยืมให้ กิโรนา อีกทีมหนึ่งในสังกัด CFG ซีซั่นที่แล้ว นี่คือมุมฉลาดของเรือใบเรื่องเล่นกับกฏ กติกา เพราะ ทรัวส์ คือทีมลูก ได้นักเตะไปฝากเลี้ยงกับ กิโรนา ทีมลูกอีกทีมที่ถือหุ้นตั้ง 47%  (ก่อนให้ blind trust ดูแลตามที่ยูฟา ผ่อนปรน) แล้วทรัวส์ ต้นสังกัดก็คือของ ซาวินโญ ที่ไม่ได้แข่งสโมสรยุโรปซะด้วยสิ 

- ซาวินโญ ลงทะเบียนชื่อ savinho ไม่ใช้ savio ตามที่ใช้ในทีม กิโรนาและ แอต.มิไนโรเจ้าตัวอยากกลับไปใช้ชื่อเดิมมากกว่า

- เล่นตัวรุกได้หมดซ้าย-หน้าต่ำ-ขวา ลีลาคล้ายๆ ริยาด มาห์เรส แถมใส่เบอร์26 เหมือนกัน เจ้าตัวบอกถนัดสุดปีกขวา!!! 

สรุปๆ...ความเก่งในงานรายละเอียดเชิงกฏหมายของแมนฯซิตี้ นั้นเหนือกว่ายูฟ่า เยอะเลย จะว่าไป มีช่องว่างให้ก็เสียบตรงนั้นทันที ไปได้หมดขอให้มือช่องให้เห็นเหมือนบอลหน้าไลน์รุกของ เรือใบนั่นเอง

555555

เอาละมาที่เพื่อนบ้านเสียงอ่อยกันบ้าง....

ล่าสุดนั้น แมนฯยูไนเต็ด นั้นเวลานี้มีข่าวเรื่องซื้อขายเรียบร้อยอย่างเป็นทางการแล้ว 2 คน ส่วน มานูเอล อูการ์เต้ จากเปแอสเช นั้นรอทางการ ตอนนี้ตกลงค่าจ้างส่วนตัวกันได้แล้ว  มาไธจ์ เดอลิกต์ ยังไม่ล้มดีล มีโอกาสตามมา

โจชัว เซิร์กซี (กองหน้า)

เลนี โยโร (เซนเตอร์แบ๊ก)

มานูเอล อูการ์เต้ (มิดฟิลด์)

ส่วนที่ออกไปแล้ว เมสัน กรีนวู้ด ไปมาร์กเซย

ส่วนพร้อมปล่อยนั้นมี สก็อต แมคโทมิเนย์, กาเซมิโร่, เอริกเซ่น, ลินเดอเลิฟ หรือ, แมกไกวร์ ตามข้อเสนอที่ทีมซื้อโดนใจ

เท่ากับเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ เดินหน้าเต็มตัวในการยกเครื่องใหม่ แมนฯยูไนเต็ด โดยเฉพาะการปาดหน้าคว้า โยโร เซนเตอร์อนาคตไกลที่เริ่มเล่นบอลซีเนียร์ ตั้งแต่อายุ 16 ปี จนเข้าตา เรอัล มาดริด ถึงขั้นเจรจา แต่ไม่สู้ค่าตัวแถมรอ "เซ็นฟรี" ปีหน้า ขณะที่ลิเวอร์พูลไม่สู้ "ค่าจ้าง" (รายงานว่าหลักแสนปอนด์)

จุดนี้น่าประทับใจอย่างยิ่งเพราะในอดีตนับจากหมดยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน การกระชากนักเตะระดับดาวโรจน์มา โอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่ออกแรงใช้เงินหนาฟาดหัวลากเข้ามา

การซื้อนักเตะเดี๋ยวนี้ซื้ออนาคตเพื่องานสร้างยาวๆ ขณะที่นักเตะใช้งานได้เลย ก็ต้องเข้ามาด้วยแต่ต้องซื้ออย่างมีแบบแผนด้วยเช่นกัน เพราะแมนฯยูฯ พึ่งมีทีมหลังบ้านมืออาชีพมาทำงาน ไม่ใช่ทีมหลังบ้านก่อนหน้านี้ทั้ง จอห์น เมอร์ทาห์, ดาร์เรน เฟลทเชอร์ ซึ่งยังไม่ถึงระดับโปร...

แตกต่างจากชุดล่าสุดที่มี

แดน แอชเวิร์ธ ผู้อำนวยการกีฬา หัวหน้าใหญ่ดูแลทั้งหมด

คริสโฟเฟอร์ วิเวลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายค้นหานักเตะทั่วโลก

เจสัน วิลคอกส์ ผู้อำนวยการเทคนิค

โดยเฉพาะ วิเวลล์ นั้นถูกยกให้เป็นหนึ่งใน "กูรู ค้นหานักเตะ" เอาผลงานระดับทอปคือ การกระชาก เอร์ลิง ฮาลันด์ จาก โมลด์ มายัง ซัลบวร์ก รวมทั้ง อูปาเมกาโน่, เบนจามิน เซสโก้ , คาริม อเดเยมี  

แน่นอน....นายใหญ่ของ วิเวลล์ ชื่อ ราล์ฟ รังนิก สมัยร่วมงานกับกลุ่ม เรดบูลล์ 

ส่วนการทำงานระยะสั้นในทีมเชลซี นั้นเข้าใจว่า วิเวลล์ ไม่ได้รับบทบาท อำนาจอะไรมากมาย เหมือนตำแหน่งไปทับกับ ปีเตอร์ เช็ก เมื่อปี 2017 

อย่างที่ผมเขียนไปเมื่อ6 เดือนก่อนหลังจากแมนฯยูฯ กระชาก โอมาร์ เบรราดา CEOใหญ่ของกลุ่ม  CFG ของแมนฯซิตี้ มาได้ เพื่อวางรากฐานโครงสร้างการเงินใหม่โดยเฉพาะเรื่อง "ค่าตัว" และ "ค่าจ้าง" งบดุลการซื้อขายให้กับแมนฯยูไนเต็ด 

กลุ่มนี้ ทำงานกับ เบรราดา และทั้งหมดขึ้นตรงกับ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เดอะ บิ๊กบอสของพวกเขาในฐานะผู้บริหารส่วนฟุตบอลจากหุ้น 27.7% ที่แบ่งซื้อมาจาก บ้านเกลเซอร์ (มีแนวโน้มจะเพิ่มทุนเรื่อยๆ)

เห็นกระบวนการนอกสนามอย่างจริงจังของเซอร์ จิมแล้ว แฟนผีย่อมฝันถึง...ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่กำลังจะมาถึง ภายใต้พิมพ์เขียวฟุตบอล หรือ โมเดลทีมหลังบ้านของซิตีและหงส์แดง

อย่างไรก็ตาม...นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของ "ปีศาจแดง" ยุคใหม่ ที่ควรนับหนึ่งมาตั้งแต่ท่านเซอร์วางมือเมื่อ 2013 แล้ว...ดังนั้นแฟนๆคงต้องอดทนรอดูผลงานของทีมนับจากนี้...

ส่วนจะได้ดั่งฝันหรือไม่...

มันก็เป็นได้ทั้งสองอย่างแหละครับ 

โมเดล "หลังบ้าน" ที่แข็งแกร่ง นี้ได้ผลแล้วก็ได้ผลอีก หรือ ไม่ได้ผลเลย 

ในฐานะแฟนบอลคู่แข่ง ขอเฝ้ารอดูการเปลี่ยนแปลงในโรงละครอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียวครับ

JACKIE

ข้อมูลเรื่องกฏข้อบังคับ....ยูฟา, เดอะ เทเลกราฟ, เดอะ ไทมส์


ที่มาของภาพ : getty images
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport