ม้าขาวเจ้าพายุ.. จำได้ว่าฉายาแต่ดั้งเดิมของ อิปสวิช ทาวน์ นั้นมีคำว่า "เจ้าพายุ" ต่อท้ายอยู่ด้วย มันช่วยให้ อิปสวิช ทาวน์ ดูแข็งแกร่งดุดันขึ้นไม่น้อย
แต่มันคงจะยาวเกินไปเขียนลำบาก ในช่วงหลัง ๆ เราเลยเขียนกันสั้น ๆ ว่า ม้าขาว.. ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เท่ดีเหมือนกันนะครับ
"ม้าขาว" อิปสวิช ทาวน์
ผมเริ่มติดตามฟุตบอลในยุคปลายเอจตี้ส์ (ทศวรรษ 1980) วันที่ ลิเวอร์พูล แพ้ วิมเบิลดัน ในนัดชิงเอฟเอ คัพ ปี 1988 นั้นรู้สึกอินไปกับความผิดหวังแล้ว
ฟุตบอลอังกฤษของผมในเวลานั้น ลิเวอร์พูล คือเบอร์หนึ่ง เอฟเวอร์ตัน กับ อาร์เซน่อล คือคู่ปรับแย่งแชมป์ สเปอร์ส , น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ , แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เป็นคู่ต่อสู้ที่น่าชม ส่วนวิมเบิลดันมายังไงก็ไม่รู้..
กับ อิปสวิช ทาวน์.. ตอนนั้นพวกเขาคือทีมในระดับดิวิชั่นสอง เปรียบเทียบก็คือแชมเปี้ยนชิพในวันนี้ หลังจากตกชั้นไปเมื่อปี 1986
การรับรู้เกี่ยวกับทีมม้าขาวเจ้าพายุจึงเป็นเพียงการอ่านผ่านตัวหนังสือ ไม่ได้ซึมซับเรื่องราวของพวกเขามากมายนักทั้งที่ทีม ๆ นี้โลดโผนเหลือเกินเมื่อครั้งที่ยังโลดแล่นรันวงการช่วงทศวรรษ 1970
กระนั้นผมก็มีรุ่นพี่บางคนที่เชียร์ อิปสวิช จากความหลงใหลในมนต์เสน่ห์ชั้นเชิงลูกหนังที่ได้จินตนาการผ่านตัวหนังสือ และได้ดูผลงานของพวกเขาอยู่บ้าง
ถ้าในสมัยนั้นมีฟุตบอลให้ดูมากมายเหมือนวันนี้ ไม่แน่ทีมเอกแห่งย่านซัฟโฟล์คของอังกฤษทีมนี้อาจจะมีแฟนบอลมากขึ้นอีกมหาศาลก็ได้
ด้วยความเอกอุของเหล่าขุนพลแห่ง พอร์ตแมน โร้ด.. อาร์โนลด์ มูห์เรน, พอล มาริเนอร์, จอห์น วอร์ค, ฟรานส์ ไธจ์สเซ่น, เทอร์รี่ บุทเชอร์ และด้วยฝีไม้ลายมือของกุนซือหนุ่มอย่าง บ็อบบี้ ร็อบสัน ที่แม้จะทำทีมเป็นแชมป์ลีกไม่ได้สักทีแต่ก็ติดท็อปทรีท็อปซิกซ์แทบทุกซีซั่น
รองแชมป์ลีก 2 สมัย อันดับสาม 3 ครั้ง อันดับสี่ 2 ครั้ง อันดับหกอีก 2 ครั้ง.. ร็อบสันยังพา อิปสวิช ก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์เอฟเอ คัพ ปี 1978 และแชมป์ยูฟ่า คัพ ปี 1981
ฤดูกาล 1980/81 อิปสวิชได้ลุ้นถึงทริปเปิลแชมป์ทีเดียว นอกจาก ยูฟ่า คัพ ที่เอาชนะ อาแซด อัล์คมาร์ ในรอบชิงแล้ว เอฟเอ คัพ ก็ยังเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศก่อนแพ้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หวุดหวิด ขณะที่เกมลีกดวงแตกนักเตะเจ็บหลายคน
ในวันที่ฟุตบอลยังอยู่ในยุคที่แต่ละทีมใช้นักเตะแค่ 12-13 คน พ่วงด้วยโปรแกรมเตะอันชุกชุมจากการที่ยังอยู่บนเส้นทางทุกรายการ
7 จาก 9 เกมที่แพ้ตลอดฤดูกาลดิวิชั่นหนึ่ง 1980/81 เกิดขึ้นในช่วง 10 นัดสุดท้ายนี้เอง ทำให้ถูก แอสตัน วิลล่า ปาดหน้าคว้าแชมป์ไปครองและก้าวต่อไปเป็นแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพในฤดูกาลถัดมา
แชมป์ลีกสมัยแรกและสมัยเดียวของ อิปสวิช ทาวน์ เกิดขึ้นเกือบ 20 ปีก่อนหน้านั้น
อัลฟ์ แรมซี่ย์ พาทีมเลื่อนชั้นจากดิวิชั่นสองขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อปี 1961 และสร้างวีรกรรมเหลือเชื่อเป็นน้องใหม่ที่ทะลุกลางปล้องคว้าแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งในทันที
ฤดูกาล 1961/62 อิปสวิช ทาวน์ ของ อัลฟ์ แรมซี่ย์ เป็นแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งทั้งที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นเป็นปีแรก
มันเป็นภาพที่สวยงามเพราะอิปสวิชเลือกเสี่ยงกับแรมซี่ย์ตั้งแต่ปี 1955 หรือ 7 ปีก่อนหน้านั้นหลังจากอดีตแบ๊กขวาท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์และทีมชาติอังกฤษแขวนสตั๊ดในวัย 35 ปี
เวลานั้นทีมม้าขาวยังเล่นในดิวิชั่น 3 ห่างไกลเหลือเกินกับเกียรติยศสูงสุดระดับแชมป์ดิวิชั่นหนึ่ง ฝ่ายบริหารของสโมสรต้องการฝีเท้าของแรมซี่ย์และเสนอบทบาท ผู้เล่น/ผู้จัดการทีม ให้แม้เขาจะไม่เคยมีประสบการณ์เป็นโค้ชมาก่อน
แต่ แรมซี่ย์ ปฏิเสธบทบาทผู้เล่น เขาเลือกแล้วว่าจะเป็นผู้จัดการทีมเพียงอย่างเดียว มันคือความเสี่ยงของอิปสวิชแต่สุดท้ายการตัดสินใจครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ที่สุดของสโมสร
แรมซี่ย์ ใช้เวลาแค่ 2 ปีพาทีมเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 3 สู่ดิวิชั่น 2 และใช้เวลาอีก 4 ปีพาทีมเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 2 ขึ้นสู่ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรเมื่อปี 1878
แล้วฤดูกาลต่อมาก็คือประวัติศาสตร์.. อิปสวิชคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ด้วยขุนพลอย่าง เท็ด ฟิลลิปส์ กับ เรย์ ครอว์ฟอร์ด คู่หัวหอกที่ถล่มประตูรวมกัน 73 ลูกในทุกรายการซีซั่นนั้น
ขุนพลประวัติศาสตร์ของ อิปสวิช ทาวน์ ชุดนั้นยังมีกองกลางอย่าง ดั๊ก มอแรน, จิมมี่ ลีดเบทเทอร์, รอย สตีเฟนสัน, จอห์น เอลส์เวิร์ทธี่ย์ กองหลังอย่าง แอนดี้ เนลสัน, ลาร์รี่ คาร์เบอร์รี่, บิลลี่ แบกซ์เตอร์, จอน คอมพ์ตัน และ รอย เบลี่ย์ เป็นผู้รักษาประตู
ก้าวเดินต่อไปของทั้ง อัลฟ์ แรมซี่ย์ และ บ็อบบี้ ร็อบสัน คือตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติอังกฤษทั้งคู่ แรมซี่ย์คุมทีมสิงโตคำรามระหว่างปี 1963-1974 พาทีมเป็นแชมป์โลกปี 1966 ร็อบสันคุมทีมชาติอังกฤษระหว่างปี 1982-1990 พาทีมเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 1990
ทั้ง 2 คนสร้างคุณูปการมากมายให้กับวงการลูกหนังอังกฤษจนได้รับการประดับยศเป็นอัศวิน
อิปสวิช ทาวน์ จึงมีผู้จัดการทีมระดับตำนานที่เป็นท่าน "เซอร์" ถึง 2 คน
เซอร์อัลฟ์ แรมซี่ย์ กับ เซอร์บ็อบบี้ ร็อบสัน
สโมสรสร้างรูปปั้นของทั้งคู่ไว้ที่หน้าสนามพอร์ทแมน โร้ด และยังตั้งชื่ออัฒจันทร์ของสังเวียนเหย้าที่พวกเขาใช้มาตั้งแต่ปี 1884 ตามผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 คนอีกด้วย
เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ สแตนด์ สำหรับอัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้
เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน สแตนด์ สำหรับอัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือ
---------------
อิปสวิช ทาวน์ ไม่สามารถรับมือกับการเสียยอดผู้จัดการทีมให้กับทีมชาติอังกฤษได้เลยทั้ง 2 ครั้ง
หลังจากเสีย อัลฟ์ แรมซี่ย์ ไปเมื่อปี 1963 ทีมม้าขาวตกชั้นทันทีเมื่อจบฤดูกาล 1963/64
หลังจากเสีย บ็อบบี้ ร็อบสัน ไปเมื่อปี 1982 พวกเขามีอันดับแย่ลงเรื่อย ๆ.. จากตำแหน่งรองแชมป์ที่ ร็อบสัน ฝากไว้ สู่อันดับ 9 อันดับ 12 อันดับ 17 และในที่สุดก็ตกชั้นด้วยอันดับ 20 เมื่อฤดูกาล 1985/86
อิปสวิชจมอยู่ในดิวิชั่น 2 ถึง 6 ฤดูกาลก่อนจะเลื่อนชั้นได้สำเร็จเมื่อปี 1992 ทำให้พวกเขาได้เป็นสมาชิกรุ่นแรกของพรีเมียร์ลีก 1992/93 พอดี แต่ก็ยืนระยะในลีกสูงสุดได้แค่ 3 ฤดูกาลก็ตกชั้นเมื่อปี 1995
จมอยู่ในดิวิชั่น 1 (แชมเปี้ยนชิพในปัจจุบัน) อีก 5 ฤดูกาล เลื่อนชั้นด้วยการชนะเพลย์ออฟขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกซีซั่น 2000/01 แต่อยู่ได้แค่ 2 ปีเท่านั้นก็ตกชั้นอีกหนเมื่อปี 2002
และคราวนี้ อิปสวิช ทาวน์ ก็หายหน้าจากพรีเมียร์ลีกไปนาน.. นานจนลืม
หลายคนมีความทรงจำร่วมสมัยกับทีมม้าขาวในยุคพรีเมียร์ลีกช่วงทศวรรษ 1990 อาจจะมีเรื่องที่ไม่น่าปลื้มเท่าไหร่อย่างเกมที่ถูก แอนดี้ โคล ยิงคนเดียว 5 ประตูในเกมโดน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถลุง 0-9 ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1995
แต่ในการจดจำด้านอื่น ๆ ก็มีไม่น้อย อย่างนักเตะที่ก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักหรือขุนพลมีชื่อเสียงที่ทีมดึงตัวมาเสริมความแข็งแกร่งก็มีหลายคน
เอียน มาร์แชลล์, เจสัน ดอซเซลล์, ลี แชปแมน, สตีฟ เซดจ์ลี่ย์, แฟร้งค์ ยัลล็อป, เคร็ก ฟอร์เรสต์, พอล เมสัน, บอนโช เกนเชฟ, สจ๊วร์ต สเลเตอร์, เมาริซิโอ ทาริคโก้, คริส คิวอมย่า, สตีฟ พาลเมอร์
ริชาร์ด ไรท์, แอนดี้ มาร์แชลล์, ฟาเบียน วิลนิส, เจมี่ แคล็ปแฮม, มาร์ค วีนัส, ไตตัส บรัมเบิล, จิม เมจิลตัน, แมตต์ ฮอลแลนด์, เจมส์ สคอว์ครอฟท์, เจอร์เมน ไรท์, แกรี่ ครอฟท์, คีธ บรานาแกน, มาร์ติน รอยเซอร์, มาร์ค เบอร์ชิลล์, ดาร์เรน อัมโบรส, ดาร์เรน เบนท์, มาร์คัส เบนท์, มาร์คัส สจ๊วร์ต..
บางคนยังอยู่ในความทรงจำอย่างเด่นชัด บางคนก็เลือนหายไปตามกาล
การตกชั้นเมื่อปี 2002 คือหนล่าสุดที่เราได้เห็น อิปสวิช ทาวน์ อยู่ในลีกสูงสุด
เผลอแค่แผล็บเดียวนะครับ มันก็ 22 ปีเข้าไปแล้ว..
ในวันนี้ อิปสวิช ทาวน์ มีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนอเมริกันชื่อ Gamechanger 20 Limited ที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ของสโมสรตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2021
เม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามา กุนซือใหม่ก็เช่นกัน
หลังจากลองผิดลองถูกกับผู้จัดการทีมมากหน้าหลายตา ในที่สุดก็ อิปสวิช ก็ได้คนที่ถูกต้องที่สุดเข้ามาอยู่กับสโมสร
คีแรน แม็คเคนน่า
เกิดที่ลอนดอนแต่ไปเติบโตในไอร์แลนด์เหนือ ข้ามทะเลกลับมาอยู่กับทีมเยาวชนของท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ทว่าต้องเลิกเล่นฟุตบอลในวัยเพียง 22 ปีจากการเจ็บสะโพกเรื้อรัง
เข้าสู่การเรียนรู้ด้านโค้ชทันทีที่เลิกเล่น ร่ำเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยลาฟโบโร่ ทำงานโค้ชที่ สเปอร์ส เลสเตอร์ ซิตี้ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ แม้กระทั่ง แวนคูเวอร์ ไวท์แค็ปส์ ในเมเจอร์ลีกสหรัฐฯ
กลับมารับงานหัวหน้าหน่วยวิเคราะห์ผลงานนักเตะอะคาเดมี่ที่ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ปฏิเสธข้อเสนอจากลิเวอร์พูลที่จะให้ไปเป็นหัวหน้าโค้ชอะคาเดมี่
คุมทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีของสเปอร์ส พาทีมเข้ารอบตัดเชือกเอฟเอ ยูธคัพ ปี 2015 และเมื่อถึงเดือนสิงหาคม ปี 2016 ก็ย้ายไปเป็นโค้ชทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมในดวงใจที่เชียร์มาตั้งแต่เด็ก
ที่ยูไนเต็ด แม็คเคนน่า เติบโตตามสายงาน ได้รับการเลื่อนระดับขึ้นไปทำงานกับทีมชุดใหญ่ เป็นมือขวาของ โชเซ่ มูรินโญ่ เป็นมือขวาของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เป็นมือขวาของ ราล์ฟ รังนิก
แฟนบอลปีศาจแดงหลายคนรู้จักเขา คุ้นหน้าคุ้นตาเขาเป็นอย่างดี
แล้วเมื่อถึงเดือนธันวาคม ปี 2021 โอกาสสำคัญในอาชีพก็มาถึง เมื่อ อิปสวิช ทาวน์ มอบความท้าทายครั้งใหญ่ให้กับเขาด้วยตำแหน่งผู้จัดการทีม
ในตอนนั้น แม็คเคนน่า ยังไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมชุดใหญ่มาก่อน อายุของเขาเพิ่งจะ 35 ปี แต่ อิปสวิช ในยุคผู้บริหารใหม่พร้อมเสี่ยง พวกเขาเชื่อในเทรนด์กุนซืออายุน้อยบวกกับประวัติการทำงานที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด
เส้นทางของ แม็คเคนน่า ดูคล้ายกับ อัลฟ์ แรมซี่ย์ อยู่เหมือนกันนะครับ งานแรกกับทีมชุดใหญ่ สโมสรกล้าเสี่ยง มอบภารกิจให้กับคนรุ่นใหม่พาทีมปีนออกมาจากความตกต่ำ
ในวันที่ แรมซี่ย์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 1955 อิปสวิชอยู่ในดิวิชั่นสาม
ในวันที่ แม็คเคนน่า เข้ารับตำแหน่งช่วงปลายปี 2021 อิปสวิชก็อยู่ในลีกวัน หรือดิวิชั่นสามของประเทศเช่นกัน
เขาใช้เวลาครึ่งปีพาอิปสวิชปีนขึ้นไปจบอันดับ 11 ของลีกวัน ด้วยผลงานก้าวกระโดดทั้งฟอร์มการเล่นและผลการแข่งขัน ชนะ 7 จาก 10 เกมแรกที่คุมทีมโดยไม่เสียประตูถึง 7 นัด ปิดฤดูกาลด้วยการไม่แพ้ใคร 11 เกมติดต่อกัน และยังทุบสถิติสโมสรที่ไม่เสียประตูติดต่อกันนานที่สุด 547 นาที
แล้วจากนั้นก็ได้เวลาพุ่งทะยาน..
2022/23 ซีซั่นแรกที่ได้ทำทีมแบบเต็มฤดูกาล แม็คเคนน่าพาทีมคว้ารองแชมป์ลีกวันด้วยผลงานไร้พ่าย 19 นัดติดต่อกันบนเส้นทางสู่การเลื่อนชั้น เก็บได้ 98 คะแนน ยิงได้ 101 ประตู
จากลีกวัน สู่แชมเปี้ยนชิพ
2023/24 ฤดูกาลที่สองที่ได้ทำทีมแบบเต็มซีซั่น เขาก็พาทีมน้องใหม่จากซัฟโฟล์คตะลุยเก็บแต้มได้มากถึง 96 คะแนน ถล่มประตูได้อีก 92 ลูก เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดชนิดหักปากกานักวิจารณ์
จากแชมเปี้ยนชิพ สู่พรีเมียร์ลีก
22 ปีที่หายไป.. วันนี้ อิปสวิช ทาวน์ กลับมาแล้ว
แม็คเคนน่าคือผู้จัดการทีมคนแรกที่พาต้นสังกัดเลื่อนชั้น 2 ปีติดต่อกันใน 2 ปีแรกที่คุมทีมในฟุตบอลอังกฤษ เขาพ่วงตำแหน่งผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งฤดูกาลของแชมเปี้ยนชิพติดตัวมาด้วย
แต่แน่นอน ความยากของพรีเมียร์ลีกนั้นยังอยู่คนละระดับกับแชมเปี้ยนชิพมาก และเขาต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ตอนนี้
โอมารี ฮัทชินสัน กองกลางที่ยืมตัวมาจากเชลซี , เยเรมี่ ซาร์เมียนโต้ ตัวรุกที่ยืมตัวมาจากไบรท์ตัน , คีฟเฟอร์ มัวร์ กองหน้าที่ยืมตัวมาจากบอร์นมัธ น่าจะต้องกลับไปสู่สโมสรแม่
คอเนอร์ แชปลิน ที่ตะบัน 13 ประตู , เนธาน บรอดเฮด ที่ยิงอีก 13 ประตู , เวส เบิร์นส์ กองกลางคนสำคัญ , มัสซิโม่ ลูออนโก้ กองกลางทีมชาติออสเตรเลีย หรือ จอร์จ เฮิร์สท์ ดาวยิงลูกชาย เดวิด เฮิร์สท์ อดีตหัวหอกเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์
พวกเขาจะยังโลดแล่นด้วยผลงานโดดเด่นอย่างที่ทำให้เห็นตลอดฤดูกาลไหม..
พรีเมียร์ลีกรอให้คำตอบอยู่ล่ะครับ
ตังกุย