แค่แผนการเล่นของ ลิเวอร์พูล กับ เลเวอร์คูเซ่น ก็แตกต่างกันแล้ว
แล้วมันจะเป็นไปได้หรือ ว่า ชาบี อลอนโซ่ จะเข้ามารับไม้ต่อจาก เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่กำลังจะวางมือลง
กับการเป็นเทรนเนอร์ที่ เลเวอร์คูเซ่น อลอนโซ่ ไม่ใช่โค้ชที่นิยมชมชอบการเล่นบอลแบบโยนยาว
เขาชอบให้ทีมผ่านบอลสั้น ๆ บนพื้น และทะลวงตรงกลางสนามแบบรวดเร็วเพื่อทำให้คู่แข่งประสบปัญหา
มีกุนซือไม่กี่คนที่เน้นการผ่านบอลแบบนั้นมากไปกว่า เลเวอร์คูเซ่น ของ อลอนโซ่
เขาไม่เหมือนกับ คล็อปป์ เขาคล้ายกับ เมาริซิโอ ซาร์รี่ ตอนคุม นาโปลี (2015-2018) หรือ โรแบร์โต้ เด แซร์บี้ ที่ ไบรท์ตันฯ มากกว่า
พวกเขาต่างเป็นกุนซือที่เก่งแล้วประสบความสำเร็จ แต่วิธีการมันต่างจาก ลิเวอร์พูล ชุดปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
ทีนี้มาเจาะลึกรูปแบบการเล่น เลเวอร์คูเซ่น กันดู แล้วพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน
การขึ้นเกมของ เลเวอร์คูเซ่น เริ่มจากแผงหลัง 3 คนที่ปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้ (ระบบ 3-4-3 หรือ 3-4-2-1)
เซนเตอร์แบ็กหนึ่งรายสามารถขยับมาอยู่ด้านข้างเพื่อให้แผงหลังมี 4 คนได้หากสถานการณ์มันจำเป็น
ด้านหน้ากองหลังจะมีกองกลางตัวรับ 2 คนที่ยืนติดกันมาก ๆ (กรานิต ชาก้า-เอเซเกล ปาลาซิออส) และอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าปกตินิดหน่อยเพื่อประสานงานตรงกลางสนามได้อย่างรวดเร็ว เหมือนแบบของ ไบรท์ตันฯ ที่คุมโดย เด แซร์บี้
แผงหลัง 3 คนแบบนี้เป็นรากฐานการเล่นแบบเน้นผ่านบอลสั้น ๆ ของ เลเวอร์ฯ
ขยับขึ้นมา มิดฟิลด์ 1 คนจะถอยลงมาต่ำกว่าอีกรายเพื่อมารับบอล
วิธีแบบนี้ทำให้กองกลางตัวรับอีกคนหันไปให้ความมุ่งมั่นกับเกมรุกได้ เขาจะสามารถผ่านบอลแบบสั้น ๆ ตรงกลางสนามด้วยการจับบอลเพียง 1 หรือ 2 จังหวะ และขึ้่นเกมตรงกลางสนามได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งต่างกับ ไบรท์ตันฯ ที่ใช้การประสานงานในแดนกลางแบบใกล้ชิดกันสุด ๆ เพื่อทำให้ คาโอรุ มิโตมะ ได้ดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่งตรงริมเส้น
เพลย์เมกเกอร์ตัวหลัก เลเวอร์คูเซ่น คือ ฟลอเรียน เวิร์ทซ์ และจะมีนักเตะคนหนึ่งคอยผ่านบอลไปตรงพื้นที่ว่างเล็ก ๆ เพื่อฉีกแนวรับคู่แข่งให้กว้างขึ้น
จนทำให้ เวิร์ทซ์ สามารถพลิกตัว และลากบอลใส่แผงหลังได้ โดยขณะเดียวกันนั้น วิคเตอร์ โบนิเฟซ ที่เล่นกองหน้าจะวิ่งขึ้นไปแดนบนเพื่อทำประตู
เกมการเล่นที่รวดเร็วของ เลเวอร์คูเซ่น ถือว่าเป็นสไตล์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีประสิทธิภาพ
พวกเขามีค่าเฉลี่ยจังหวะที่ควรจะทำประตูได้ในชอตที่ไม่ใช่ลูกจุดโทษในเกมระดับ บุนเดสลีกา สูงถึง 1.97 ลูกต่อเกม มากกว่าฤดูกาลก่อนถึง 30 เปอร์เซ็นต์
หลังผ่านมาแล้วเกินครึ่งทาง แล้วพวกเขายังนำเป็นจ่าฝูง บุนเดสลีกา มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แนวทางการเล่นเกมรุกของ เลเวอร์คูเซ่น ต่างจาก ลิเวอร์พูล ของ คล็อปป์ ก็จริง แต่สิ่งที่ทำให้สไตล์แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นเพราะปรัชญาการทำทีม แต่เป็นเรื่องของตัวนักเตะ
ลิเวอร์พูล ก็เหมือนกับทีมชั้นนำหลายทีมในยุคนี้ พวกเขาชื่นชอบกับการขึ้นเกมจากแดนหลัง, ดันแนวรับให้สูง และค่อย ๆ ทำลายคู่แข่งที่มีความรัดกุม
อาวุธลับของ คล็อปป์ คือการที่แผงแบ็กโฟร์ผ่านบอลระยะไกลได้แม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ยืนเป็นแบ็กขวา
ขณะที่ เลเวอร์คูเซ่น ใช้แผงกลางในการทำให้บอลเคลื่อนที่ตรงกลางสนามนั้น ลิเวอร์พูล กลับต่างออกไป
3 นักเตะที่ผ่านบอลขึ้นหน้าได้ดีที่สุดใน พรีเมียร์ลีก ประจำฤดูกาลนี้ของ ลิเวอร์พูล เป็นกองหลังทั้งหมด คือ เทรนต์ กับ 2 เซนเตอร์แบ็กอย่าง เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ กับ อิบราฮิม่า โกนาเต้
โดยทั้งสามคนชื่นชอบกับการผ่านบอลระยะไกลไปให้คนตรงริมเส้นทั้ง 2 ฝั่ง
ส่วนอันดับ 4 คือ ซาลาห์ ซึ่งในช่วง 2 ปีมานี้ต้องลงเล่นตรงริมเส้นมากกว่าที่ผ่าน ๆ มา แล้วค่อยลากตัดเข้าไปในกรอบเขตโทษเพื่อทำลายแนวรับคู่แข่ง
สไตล์การทำทีมที่ เลเวอร์คูเซ่น ของ อลอนโซ่ ไม่ได้เน้นการผ่านบอลยาวไปให้ปีกหรือตัวริมเส้นที่มีความสร้างสรรค์สูงแบบ ซาลาห์
สิ่งที่ ลิเวอร์พูล ยุค คล็อปป์ โดดเด่นคือการหาทางสนับสนุนการเล่นแบบที่เน้นการผ่านบอลระยะไกลได้ด้วยการเล่นแบบไล่กดดันคู่แข่งอย่างดุดัน การผ่านบอลระยะใกล้ของพวกเขาทำให้นักเตะแต่ละคนยืนอยู่ใกล้กันเสมอ
ด้าน เลเวอร์คูเซ่น เชี่ยวชาญในการเล่นแบบเคาท์เตอร์-เพรสซิ่ง เพื่อแย่งบอลกลับมาครองได้อย่างรวดเร็วหลังจากเพิ่งเสียบอลไปไม่นาน
อ้างอิงจาก The Analyst เว็บไซต์แนววิเคราะห์ผลงานต่าง ๆ ฤดูกาลนี้ เลเวอร์คูเซ่น สร้างจังหวะยิงจากการไล่กดดันสูงได้ถึง 36 ครั้ง ส่งให้พวกเขาเป็นทีมที่ทำผลงานด้านนี้ได้ดีที่สุดของ บุนเดสลีกา
แต่เวลาเจอกับทีมที่มีระบบการขึ้นเกมที่ดีนั้น เลเวอร์คูเซ่น กลับกดดันคู่แข่งได้ดุดันน้อยลง
พวกเขาใช้แผน 3-4-3 เหมือนกับ เชลซี ในยุค โธมัส ทูเคิ่ล
เลเวอร์คูเซ่น ปล่อยให้คู่แข่งมีโอกาสผ่านบอลเพียง 13.8 ครั้งต่อการเล่น 1 ครั้งเวลาที่พวกเขาไล่กดดันคู่แข่งในพื้นที่สูง ๆ และเป็นทีมที่ทำผลงานด้านนี้ได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 7 ของลีก
ขณะที่ ลิเวอร์พูล มีตัวเลขด้านเดียวกันอยู่ที่เฉลี่ย 9.2 ครั้ง เป็นตัวเลขที่ไล่กดดันคู่แข่งได้โหดสุดในลีกสูงสุด อังกฤษ
ถึงกระนั้น จะบอกว่า ลิเวอร์พูล 2.0 เจอกับความว้าวุ่นนิดหน่อยก็ว่าได้
การเลิกใช้แผนดักล้ำหน้าที่เคยสร้างปัญหาแก่ฝั่งตรงข้ามในช่วงหลายฤดูกาลที่ผ่านมา มันทำให้พื้นที่ว่างระหว่างแนวมีมากขึ้นจนส่งผลให้คู่ต่อสู้สามารถทะลวงผ่านแผงกลางได้ง่าย ๆ และทำให้คู่แข่งมีโอกาสบุกมาถึงกรอบเขตโทษได้มากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การตอกย้ำกับสไตล์การเล่นแบบเฮฟวี่เมทัลยุคดั้งเดิมก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับทีมของ คล็อปป์
แล้วถ้าต้องให้ ลิเวอร์พูล เล่นเหมือน เลเวอร์คูเซ่น นั้น มันก็ต้องมีการเปลี่ยนทุกอย่างไปเลย
ถ้าเกิด อลอนโซ่ เอาสไตล์ เลเวอร์คูเซ่น มาใช้กับ ลิเวอร์พูล ก็คงจะต้องยกเลิกการเล่นแบบไล่กดดันสูงแล้วหันมาเน้นบดตรงกลางสนามแบบที่ แมนฯ ซิตี้ ทำ
ส่วนเวลาที่ได้ครองบอล นักเตะที่เป็นจอมสร้างสรรค์ในแดนหลังก็จะมีอิสระในการผ่านบอลไปให้แนวรุกน้อยลง
ซาลาห์ เองก็อาจจะต้องบอกลาตำแหน่งปีกเพื่อมารับบทสร้างเกมการเล่นระหว่างแนว
หรือแม้กระทั่ง อลีสซง เบ็คเกอร์ ก็จะไม่ค่อยมีโอกาสขยับออกมาเล่นนอกกรอบเขตโทษเพื่อมีส่วนร่วมกับการขึ้นเกมได้อีก เมื่อต้องมาเล่นในระบบใหม่ที่ใช้กองหลัง 3 คน
แน่นอนว่าสไตล์ทั้งหมดนี้อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนอย่างกรณี เลเวอร์คูเซ่น
แต่งานที่สำคัญของคนเป็นกุนซือ คือการทำให้แท็กติกของทีมมันเข้ากับความแข็งแกร่งขุมกำลังผู้เล่น
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะตัดสินได้ว่ากุนซือคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จเหมือนที่เดิมได้รึเปล่าเมื่อต้องไปรับงานกับอีกที่หนึ่ง
จริงอยู่ อลอนโซ่ ยังไม่มีประวัติการคุมทีมที่ยาวนานพอที่สื่อได้ว่าเขาจะรับมือกับการผลัดเปลี่ยนได้
แต่เขาก็เป็นชายคนเดียวกับที่เคยผ่านบอลระยะ 50 หลาได้อย่างแม่นยำมาก ๆ และอาจเป็นเทรนเนอร์คนแรกในรอบเกิน 1 ทศวรรษที่สามารถแย่งถาดแชมป์ลีก เยอรมนี ไปจากมือ บาเยิร์น มิวนิค
เรียบเรียงจาก The Athletic
HOSSALONSO