หลายปีก่อน เจมี่ คาร์ราเกอร์ เคยพูดติดตลกเชิงเหน็บแนมถึง แกรี่ เนวิลล์ อดีตแบ็กขวา แมนฯ ยูไนเต็ดไว้ว่า "No one wants to be a Gary Neville"
ก็เพราะตามความรู้สึกคนส่วนใหญ่ฟูลแบ็กนั้น ถือเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทด้อยค่าที่สุดเมื่อเทียบกับทุกๆตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นตำแหน่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเอาคนที่มีทักษะหรือเทคนิคน้อยที่สุดมาใช้งาน ทว่าทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่แค่คอยวิ่งขึ้นลงทางกราบสองข้างเท่านั้นอีกต่อไป
เทรนด์ของคำว่า 'inverted full back' กำลังมา
อธิบายความหมายก็คือว่าแบ็กจะหุบเข้ามากลางสนามทำหน้าที่ประหนึ่งมิดฟิลด์ตัวพิเศษ ยามที่ทีมได้ครอบครองทำเกมรุก แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งใหม่ของฟุตบอล นานมาแล้ว โยฮัน ครัฟฟ์ ก็เคยใช้สูตรนี้สมัยคุม บาร์เซโลน่า โดยทีมจะปรับจาก 4-3-3 เป็น 3-4-3 ทันทีตอนเซตเกมรุกขึ้นไป
ต่อมาที่ทำให้คนเริ่มหันมามองก็สมัยที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า อยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค โดยจับ ฟิลิปป์ ลาห์ม รับบทสำคัญในความหมายว่า 'ฟูลแบ็กที่มากกว่าแค่ฟูลแบ็ก' จนได้กลายเป็นต้นแบบให้หลายต่อหลายทีมทำตาม
ทุกวันนี้นับเฉพาะในพรีเมียร์ลีก ก็มีร่วม 1ใน 3 ที่ใช้ 'inverted full back' ซึ่งไล่ได้เลยตั้งแต่ แมนฯซิตี้, ลิเวอร์พูล, สเปอร์ส, อาร์เซน่อล หรือว่า วูล์ฟแฮมป์ตัน ก็ยังไม่ใช่เท่านั้นในลีกล่างแชมเปี้ยนชิพ ไปถึงลีกทูก็มีไม่น้อยเลยที่ได้ก้าวตามารอยไอเดียของเป๊ป
มันก็มีเหตุผลว่าทำไมต้อง 'inverted full back'?
ข้อแรก ในแง่ของเกมรุกนั้น ก็จะมีตัวเพิ่มให้ช่วยครองบอลได้ดีขึ้น ก็มีกองกลางมาอีกตัวที่ช่วยต่อบอลกับเชื่อมเกม เหนืออื่นใดตัวพิเศษนี้อย่าง เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ของ ลิเวอร์พูล ก็ทำงานเหมือนควอเตอร์แบ็กในอเมริกันฟุตบอล คอยเปิดบอลจากกลางสนามเข้าไปในจุดอันตราย
ข้อสอง ในแง่ของการป้องกันนั้น ถ้าปกติแล้วก็จะเหลือแค่ 3 คนเท่านั้น ในกรณีที่ทีมโดนโต้กลับ นั่นคือเซนเตอร์ฮาล์ฟสองคนกับมิดฟิลด์ตัวรับอีกคน พอเป็น inverted full back ก็จะกลายมีตัวเพิ่มมา กลายเป็น 4 คนทันที เรื่องนี้ เอ็นโช่ มาเรสก้า โค้ช เลสเตอร์ ทีมจ่าฝูงแชมเปี้ยนชิพที่ก็ใช้สูตรนี้เหมือนกันได้บอกไว้ "มันช่วยให้บาลานซ์การเล่นดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้มิติของการเล่นหลากหลายขึ้นด้วย"
ก่อนหน้านี้ เป๊ป ใช้ โอเล็กซานเดอร์ ชินเชนโก้ มายืนตอนที่ทั้งคู่ร่วมงานกันที่ แมนฯซิตี้ กระนั้นจินตนาการของ เป๊ป นั้นกว้างไกลไร้ขอบเขต ซีซั่นที่แล้วที่พาทีมกวาดสามแชมป์ได้ด้วยการดันเอากองหลังตัวกลาง (สโตนส์บ้าง อกานยี่บ้าง) ขึ้นมายืนเป็นมิดฟิลด์ตัวพิเศษ
เพราะแท็กติกฟุตบอลนั้นยืดหยุ่นกันได้เสมอ
นับจากออกสตาร์ทซีซั่นมา ก็เห็นว่า อังเก้ ปอสเตโคกลู ได้คิดข้ามไปอีกขั้นด้วยการมี 'inverted full back' ถึงสองคนโดยทั้ง เปโดร ปอร์โร่ กับเ ดสตินี่ย์ อูโดกี ต่างหุบเข้ากลาง ข้อนี้ต่างจากทีมอื่นที่มีแค่คนเดียวมายืนตรงกลาง
หน้าที่ของทั้งสองคนก็ไม่เหมือนกันด้วย อย่าง ปอร์โร่ ก็จะคล้าย เทรนท์ เป็นตัวเชื่อมเกมกับคอยเปิดบอลสั้นกับยาว ส่วน อูโดกี นั้นจะเป็นตัวไปป่วนแผงหลังฝ่ายตรงข้ามเพื่อเปิดช่องว่างขึ้นมา
คำถามก็คือ inverted full back ช่วยให้ทีมที่ใช้มีผลงานดีขึ้นจริงหรือ?
ข้อนี้ก็คงตอบไม่ได้ว่าทุกทีมจะมีเส้นกราฟพุ่งสูงขึ้น ก็อยู่ที่ตัวนักเตะด้วยว่าจะเข้าใจกับมีคุณสมบัติแค่ไหน กระนั้นตัวอย่างเช่น ลิเวอร์พูล ก็ชัดเจนว่านับแต่เอา เทรนท์ ขยับเข้ากลางตอนทีมเปิดเกมรุกก็พบฟอร์มที่ทำให้ เดอะ ค็อป ทั่วหล้าได้ยิ้มกันชื่นมื่นบ่อยขึ้น
มีอีกสถิติที่สะท้อนออกมาว่าทีมของ เจอร์เก้น คล็อปป์ โดนคู่แข่งแทงทะลุช่องตรงกลางน้อยลงกว่าเดิมพอใช้เทรนท์เป็น inverted full back
จากที่เคยมีค่าเฉลี่ย 2.3 ต่อเกม ก็ลดลงเหลืออยู่แตะที่ 1.4 ต่อเกมเท่านั้น
เกมรุกหลากหลายขึ้น เกมรับก็แน่นอนขึ้น นั่นเองทำไมมันถึงกำลังติดเทรนด์...
"ไก่ป่า"