โรเมโอ ลาเวีย นักเตะรายล่าสุดที่ย้ายมาอยู่เชลซีจากเซาธ์แฮมป์ตันด้วยราคา53ล้านปอนด์(มีadd-onsอีก5ล้านปอนด์)ถือเป็นการเข้ามาเติมขุมกำลังให้ทีมมีตัวเลือกมากขึ้นในแดนกลาง ทว่าในมุมกลับกันก็มีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆจากหลายคนว่าสโมสรตราสิงห์รอดพ้นกฎการเงินหรือที่เรียกกันติดปากว่าไฟแน่นเชี่ยล แฟร์เพลย์ได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็เพิ่งจัดการเซ็นมอยเซส ไกเซโด้ มิดฟิลด์ทีมชาติเอกวาดอร์มาหมาดๆในมูลค่าถึง115ล้านปอนด์
อธิบายต่อมายังได้นับแต่มีการเปลี่ยนมือเจ้าในเดือนพ.ค.ปี2022ก็มีการใช้เงินไปทั้งหมดร่วม860ล้านเฉพาะการซื้อผู้เล่นเข้ามา เมื่อหักที่ขายออกไปก็ยังถือว่าสูงอยู่ดีที่ตัวเลขแตะ600ล้าน
ตามกฎของพรีเมียร์ลีกนั้นอนุญาตให้แต่ละทีมขาดทุนได้105ล้านปอนด์ในระยะเวลาสามปีต่อเนื่อง ขณะที่กฎยูฟ่าต่างไปยอมให้ขาดทุนได้51.5ล้านปอนด์ในสามปี
ทำไมเชลซีถึงยังคงเดินหน้าเสริมทัพไม่เลิก
ทำไมเชลซีถึงมั่นใจว่ายังไงพวกเขาก็จะไม่โดนลงโทษกฎการเงิน
กระทั่งจากรายงานทางบัญชีของสโมสรก็เปิดเผยว่าทีมขาดทุนต่อเนื่องอย่างซีซั่น2021/22ติดลบ121ล้านปอนด์ ส่วน2020/21ขาดทุนอยู่ที่153.4ล้านปอนด์
ข้างล่างนี้มีคำตอบ...
1.ทยอยจ่ายค่าตัวนักเตะ ไม่ใช่จ่ายรวดเดียว
เหตุผลที่ช่วงหลังเชลซีเลือกให้สัญญาผู้เล่นที่ซื้อมายาวๆก็เพราะมีช่องโหว่ตรงนี้ ศัพท์ตรงตัวที่สุดอ่านว่า"amortisation"โดยยกตัวอย่างกรณีไกเซโด้ที่ตกลงกับไบร์ทตัน115ล้านปอนด์ ทว่าใช่ว่าพวกเขาโอนทีเดียว115ล้าน ด้วยสัญญายาว8ปีก็ตกเฉลี่ยปีละ14.3ล้านเท่านั้นไม่รวมค่าจ้างที่ทางสิงโตสีน้ำเงินต้องจ่าย
จะเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ, มิคฮาอิล มูดริครวมถึงที่เพิ่งเปิดตัวในเบอร์45อย่างลาเวียก็อาศัยวิธีการเดียวกันนี้จึงทำให้ตัวเลขในงบดุลแต่ละปีจึงไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนเข้าใจ
2.โละพวกค่าจ้างสูงออก
งานแรกของเมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ในฐานะโค้ชเชลซีคือการเปลี่ยนถ่ายทีม ทีมที่ไม่เป็นโล้เป็นพายซีซั่นก่อนมีการปรับโฉมหน้าแทบใหม่หมด มีนักเตะหลายคนเลยที่ทีมเคยแบกค่าจ้างโดนโละออกไปเช่นปิแอร์-เอเมริค โอบาเมย็อง รายนี้ก็1.5แสนปอนด์ต่อสัปดาห์
3.ขายออกได้กำไร
ตลาดนักเตะสามรอบหลังมานี้มีการขายผู้เล่นออกได้เงินเข้ามา250ล้านปอนด์ เฉพาะซัมเมอร์นี้ก็ไม่ต่ำกว่า200ล้านแล้ว ไม่ใช่แค่นั้นตัวอย่างเมสัน เมานท์หรือว่ารูเบน ลอฟตัส-ชีคต่างเป็นผลผลิตจากอะคาเดมี่ย์ดังนั้นเงินที่ไหลเข้ามาถือเป็นกำไรล้วนๆ
นอกจากนั้นรายไค ฮาเวิร์ตซ์ที่โยกไปอาร์เซน่อลก็ยังทำให้บัญชีเป็นบวกอีกด้วย เรื่องนี้ก็อาศัยคำว่า"amortisation"อีกนั่นเอง เอามาจากเลเวอร์คูเซ่นในเยอรมันราคา71ล้านปี2020แต่เงินที่จ่ายไปจริงๆแค่42.6ล้านเท่านั้น ดังนั้นทีมถือได้กำไรตอนขายให้ปืนใหญ่ถึง22.4ล้านปอนด์(ขาย65ล้านเอามาลบ42.6ล้าน)
อย่างไรก็ตามในระยะยาวเชลซีก็ไม่สามารถจะใช้เงินมือเติบได้ตลอด ปีนี้พวกเขาไม่ได้เข้าแข่งถ้วยยุโรปซึ่งทำให้รายได้หายไปส่วนหนึ่ง ดังนั้นทางบอร์ดบริหารจึงต้องทำให้แน่ใจว่าทิศทางของสโมสรจะต้องกลับไปอยู่ในจุดที่เคยอยู่โดยเร็ว
"ไก่ป่า"