ว่าด้วยเรื่องการทดเวลาในพรีเมียร์ลีก

ว่าด้วยเรื่องการทดเวลาในพรีเมียร์ลีก
ผมตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องการทดเวลาที่อยากเห็นอยู่พอดี แล้วไม่กี่วันก่อนพรีเมียร์ลีกก็แจ้งกฎใหม่ที่จะนำมาใช้ในฤดูกาลนี้

มีเรื่องการทดเวลารวมอยู่ในนั้นด้วย..

ผมอยากให้พรีเมียร์ลีกรวมทั้งลีกอื่นๆ ใช้การทดเวลาแบบฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์นะครับ คือเวลาหายไปเท่าไหร่ก็ทดเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ให้ใกล้เคียงที่สุด

การทดเวลาใน กาตาร์ 2022 คือหนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่องที่ผมชอบ อยู่ในระดับชอบที่สุดเรื่องหนึ่งด้วยซ้ำ

ตอนแรกๆ ที่เห็นป้ายทดเวลา 10 นาที 12 นาที 14 นาทีในฟุตบอลโลกเมื่อปลายปีก็ตกใจอยู่เหมือนกัน เพราะเท่าที่เคยเห็นมาการจะทดเวลานานขนาดนั้นมีเพียงเกมที่มีปัญหาต้องหยุดเกมไปพักใหญ่ๆ หรือมีการบาดเจ็บหนักที่เสียเวลานานๆ เท่านั้น

แต่ฟุตบอลโลกที่กาตาร์เราเห็นการทดเวลาชนิดที่ไม่กลัวเปลืองเต็มไปหมด เกมระหว่างอังกฤษกับอิหร่านในรอบแรกมีการทดเวลารวม 2 ครึ่งถึง 24 นาทีจากเหตุกระทบกระเทือนที่ศีรษะ 2 ครั้ง การทำประตูถึง 8 ลูก และการเปลี่ยนตัวครบโควต้ารวม 10 คน

ค่าเฉลี่ยของการทดเวลาในศึก กาตาร์ 2022 อยู่ที่ 12 นาที..

แน่นอนครับ มันน่าตกใจสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยอย่างเราๆ.. แต่เมื่อได้รับรู้หลักการและเหตุผลของมันจากการอธิบายของ ปิแอร์ลุยจิ คอลลิน่า อดีตผู้ตัดสินอันดับหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากฟีฟ่าให้เป็นหัวเรือใหญ่ดูแลเรื่องนี้ก็เข้าใจถ่องแท้และเห็นด้วยที่สุด

ทำไมเราต้องเสียเวลาที่ฟุตบอลควรจะเตะกันในเกมไปให้กับเรื่องที่ไม่ควรอยู่ในเกมด้วย

การทดเวลาแบบใหม่มีขึ้นเพื่อให้ฟุตบอลเป็นฟุตบอล ไม่ใช่เวทีโชว์ศิลปะการถ่วงเวลาที่หลายๆ ครั้งก็รู้สึกน่ารำคาญ

นอนเท่าไหร่ ทดเท่านั้น ถ่วงเท่าไหร่ ก็ทดเท่านั้นอีกนั่นแหละ และนอกจากเรื่องนอนกับถ่วงเวลาแล้วการทดเวลาที่ใช้ในฟุตบอลโลกยังทดเอาเวลาที่สูญเสียไปจริงๆ เกือบทุกเรื่องมามอบให้แฟนฟุตบอลหลังหมดเวลาปกติอีก ทั้งตอนดีใจหลังทำประตูได้ ตอนที่เกมหยุดจากจังหวะถกเถียงหรือตอนเปลี่ยนตัว

มันอาจจะไม่ได้ทดกันเต็มจำนวนเหมือนฟุตซอลที่เวลาหยุดทุกครั้งที่บอลตายหรอกครับ นั่นจะทำให้ฟุตบอลยืดเยื้อเกินไปเพราะโดยเฉลี่ยแล้วในเกม 90 นาทีเราจะได้เห็นฟุตบอลในสนามจริงๆ แค่ประมาณ 55-60 นาทีเท่านั้น ที่เหลือคือเวลาที่บอลตายทั้งสิ้น

ฟังดูแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละเกมบอลหยุดกันมากขนาดนั้นเชียวหรือ แต่ถ้าลองจับเวลาในทุกครั้งที่บอลตายดูไม่ว่าจะเป็นบอลออกข้าง บอลออกหลัง บอลรอเตะฟรีคิก บอลรอเขี่ย รอคำตัดสินวีเออาร์ รอเปลี่ยนตัว รอนู่นนี่นั่นก็จะพบว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

พรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยบอลอยู่ในการเล่นแค่ 54.49 นาทีเท่านั้นครับ นั่นว่าน้อยแล้วแต่ก็ยังมากกว่าลีกใหญ่อื่นๆ ด้วยกัน บุนเดสลีกาเฉลี่ย 53.16 นาที.. กัลโช่ เซเรีย อา 53.55 นาที.. ลา ลีกา 53.42 นาที

แต่มันก็เป็นธรรมชาติของเกมฟุตบอล ด้วยกฎกติกามันว่ามาอย่างนี้ คือไม่มีการหยุดเวลาเมื่อบอลตาย

จริงๆ แล้วการที่เวลาเดินต่อไปเรื่อยๆ ตอนที่บอลตายนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรหรอกครับ แฟนบอลรับกันได้ ประมาณว่าหวดกันตั้ง 90 นาทีถ้านักกีฬาจะได้พักหายใจหายคอบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพียงแต่มันดันมีสิ่งที่แฟนบอลไม่ควรถูกยัดเยียดให้ต้องแบกรับไปด้วยคือการถ่วงเวลา

การถ่วงเวลาเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของเกมฟุตบอล เล็กๆ น้อยๆ ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกินความพอดีนั่นล่ะปัญหา และส่วนใหญ่มันก็มักจะเกินความพอดีกันอยู่เรื่อย นักเตะหงุดหงิด โค้ชหงุดหงิด แฟนบอลก็หงุดหงิด

การทดเวลาตาม (ที่ถ่วงและเจ็บ) จริงที่คอลลิน่านำมาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดคือการแก้ปัญหานี้อย่างเด็ดขาดและถึงอกถึงใจที่สุด

ถ่วงเวลาไปเถอะ นอนกลิ้งไปกลิ้งมาเมื่อบอลนำหรือต้องการผลเสมอก็เอาเลยตามสบาย ผมก็ทดเวลาตามที่คุณนอนนั่นแหละ นอน 3 นาทีก็บวกเข้าไป 3 นาที นอน 5 นาทีก็บวกเข้าไป 5 นาที แล้วลองมาดูกันซิว่าเมื่อหมดเวลาปกติ 90 นาทีแล้วต้องลากไปต่ออีก 13 นาที เรี่ยวแรงแข้งขาจะเป็นอย่างไร

ใครจะรู้สึกอย่างไรผมไม่รู้ แต่นี่คือหนึ่งในเรื่องที่ผมชอบที่สุด คล้ายกับตอนที่กฎห้ามผู้รักษาประตูใช้มือรับบอลจากการส่งคืนหลังของเพื่อนร่วมทีมถูกนำมาใช้ยังไงยังงั้น ความถูกใจมันยังอยู่ตรงที่เราจะได้ดูบอลนานขึ้นด้วย แล้วดราม่าก็มักจะมาเกิดเอาในช่วงที่ทดเวลานานๆ กันบ่อยๆ นั่นแหละ เพราะความอ่อนล้าทำให้มีโอกาสผิดพลาดทุกวินาที

เมื่อคุณรู้ว่านอนถ่วงเวลาไปก็ไม่มีประโยชน์ จากที่เคยเจ็บ 3 นอน 10 เจ็บ 5 นอน 20 หรือเจ็บ 20 นอน 100 ก็ค่อยๆ หายไป เจ็บแค่ไหนก็นอนแค่นั้น นอนนานเกินไปเดี๋ยวยุ่งช่วงทดเวลา

แล้วในฟุตบอลโลก 2022 เราก็ได้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ และทุกทีมปรับตัวได้กับหลักการทดเวลาแบบใหม่ การถ่วงเวลาก็เกิดขึ้นน้อยลงจริงๆ

นอนกันน้อยลง แอ๊คติ้งโอดโอยกันน้อยลง มันส่งผลต่อความสนุกของเกมที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตามไปด้วย

และเมื่อทุกอย่างลงตัว ทุกทีมเข้าใจกติกาตรงกัน ตัวเลขทดเวลาที่เคยมากจนน่าตกใจในช่วงแรกก็เริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทาง เลขสองหลักกลายเป็นเลขหลักเดียวอีกครั้ง

สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพของเกมฟุตบอล

ทดเวลา 5 นาทีเท่ากัน แต่คุณภาพไม่เท่ากันอีกต่อไป ด้วยเวลาที่บอลอยู่ในการเล่นไม่เท่ากัน มันจะเป็น 5 นาทีที่ชัดเจน มีที่มาที่ไป ไม่มีเวลาที่สูญหายจากการนอนน่าเกลียดเข้ามาเกี่ยวข้อง แฟนบอลไม่ถูกชักหัวคิวเอาเวลาที่ควรเป็นของพวกเขาไปใช้กับการถ่วงเวลางี่เง่า

เป็นการทดเวลาที่ออแกนิก.. คือทดตามเวลาที่ควรจะทดจริงๆ

ฟุตบอลมันควรจะเป็นแบบนี้ เราอาจหยุดเวลาทุกครั้งที่บอลตายเหมือนฟุตซอลไม่ได้ แต่ก็ควรจะให้เวลาที่บอลเล่นในสนามนั้นใกล้เคียงกับเวลาเต็ม 90 นาทีของมันหน่อย

เราเสียเวลาไปกับบอลหยุด บอลตาย บอลเตรียมเตะจากลูกนิ่ง การเปลี่ยนตัว การฉลองดีใจ และเหตุการณ์อื่นๆ ถึง 35 นาที เราคงเอาทั้ง 35 นาทีนั้นกลับมาเติมให้เต็มไม่ได้ แต่สามารถทำให้มันใกล้เคียงที่สุดกับการฟาดแข้ง 90 นาทีได้ และการทดเวลาที่สูญเสียไปตามจริงคือหนึ่งในคำตอบนี้

ผมคิดและอยากจะเขียนถึงเรื่องนี้มาพักหนึ่งแล้วว่าอยากเห็นการทดเวลาแบบฟุตบอลโลกในพรีเมียร์ลีกและลีกอื่นๆ นึกไม่ถึงเหมือนกันครับว่าพรีเมียร์ลีกจะชิงนำมาใช้จริงตั้งแต่ฤดูกาลใหม่นี้เลย จึงรู้สึกดีใจทีเดียวที่ได้เห็นข่าวนี้

มันจะเป็นผลดีต่อพรีเมียร์ลีกที่สนุกอยู่แล้วให้สนุกยิ่งขึ้นไปอีก และก็ไม่แน่ว่าอีกไม่นานลีกอื่นๆ ก็อาจจะทยอยกันใช้กฎนี้ตามมาเช่นกันครับ

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport