ไม่ว่าใครก็ตามที่ยื่นไมค์ถาม เจอร์เก้น คล็อปป์ ว่าเกมใดคือที่สุดแห่งความชอกช้ำในฐานะผู้จัดการทีม ลิเวอร์พูล
คำตอบจากปากชายเลือดด๊อยช์ท คือเกมที่เกิดเมื่อไม่นานมานี้
มันไม่ใช่เกมพ่าย ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ที่ ลอนดอน 4-1 เมื่อปี 2017 หรือโดน แอสตัน วิลล่า ถลุงถล่มทลาย 7-2 ที่ เบอร์มิงแฮม ตอนปี 2020
แต่คือค่ำคืนที่ เนเปิ้ลส์ ณ สตาดิโอ ดิเอโก้ มาราโดน่า ต่างหาก ที่ คล็อปป์ ยอมรับว่าวันนั้นเป็นความทรงจำสุดเลวร้าย แย่สุดนับตั้งแต่เข้ามารับงานในถิ่น แอนฟิลด์
ความพ่ายแพ้ 2 นัดที่กล่าวไป หรือเกมอื่น ๆ ที่ผลการแข่งขันออกมาไม่เป็นใจ ทั้งหมดมัดรวมกันก็ยังไม่แย่เท่าผลงานนัดนี้นัดเดียว
คล็อปป์ เผยว่าเกมปราชัยอื่น ๆ มันยังพอมีเรื่องดี ๆ ให้เห็น แต่เกมกับ นาโปลี มันไม่มีอะไรแบบนั้นเลย
นักเตะตัวจริงทุกคนไม่มีใครเล่นดีเกินมาตรฐาน หนำซ้ำมีถึง 8 รายที่สอบตก ส่วนอีก 3 เล่นได้แค่ระดับปานกลาง
คล็อปป์ ถูกตอกย้ำว่าเขามักมีอาถรรพ์กับการคุมทีมในปีที่ 7 เนื่องจากเมื่อย้อนไปสมัยคุม ไมน์ซ หลังจากพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ บุนเดสลีกา
อีก 7 ปีต่อมาผลงานตกจนร่วงไปเล่นลีกรอง และต่อมาเขาก็ย้ายไปคุม โบรุสเซียร์ ดอร์ทมุนด์
ที่ "เสือเหลือง" แม้ คล็อปป์ จะพาทีมยิ่งใหญ่คว้าถาดแชมป์ บุนเดสลีกา 2 สมัย แต่ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยในปีที่ 7 เมื่อ ดอร์ทมุนด์ ตกอยู่ในสถานการณ์หนีตกชั้นก่อนที่จบซีซั่่น เขาก็ลาออก
แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับ ลิเวอร์พูล ก็พาย้อนไปให้คิดว่าจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือเปล่า?
คำถามเกิดขึ้นหลังเกม นาโปลี คล็อปป์ ถูกสื่อยิงคำถามใส่ หลังก่อนหน้านั้น โธมัส ทูเคิ่ล กุนซือเพื่อนร่วมชาติเพิ่งถูก เชลซี ปลดแบบฟ้าผ่า
เขายืนยันว่าตัวเองไม่ได้กังวลว่าจะมีชะตากรรมเดียวกับ ทูเคิ่ล ถึงแม้อนาคตไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ต่างกันกับ เชลซี คือที่ ลิเวอร์พูล มีเจ้าของทีมในมุมมองที่ต่างออกไป
เพราะ จอห์น เฮนรี่ เป็นเจ้าของทีมที่ใจเย็น และมั่นใจว่า คล็อปป์ จะจัดการกับปัญหานี้ได้ ซึ่งเขาก็ยืนกรานว่าต่อจากนี้ ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
"We have to reinvent ourselves" คล็อปป์ เผยกับ เอ็คโค่ สื่อท้องถิ่นประจำเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นความหมายง่าย ๆ ที่ว่า "เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง"
แต่ถ้าจะตีความของคำว่า reinvent ให้ลึก ก็จะพบได้ว่ามันไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงธรรมดา ๆ แต่มันเป็นขั้นกว่าของคำว่า เปลี่ยน ที่เรียกแบบภาษาไทยประมาณว่า เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ถามว่า คล็อปป์ จะเปลี่ยนอย่างไรให้ลูกทีมถีบตัวเองขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่มาตรฐานที่พวกเขาสร้างขึ้นให้แฟนบอลทั่วโลกเห็นมาตลอด 3-4 ปีหลังสุด
โจทย์ใหญ่ที่เขาต้องแก้ต่างข้อวิจารณ์ให้ได้คือการใช้นักเตะที่มีอายุมากเกินไป หรือระบบ 4-3-3 ของ ลิเวอร์พูล ถูกคู่แข่งจับทางได้จนทำให้ระบบการเล่นไม่เดินหน้าเหมือนเคย
อายุคือประเด็นที่เกิดขึ้นตั้งแต่เกมคอมมิวนิตี้ ชิลด์ ทีมชุดที่เจอ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อายุเฉลี่ยของผู้เล่นตัวจริงเท่ากับ 29 ปี 315 วัน ซึ่งมันมากสุดนับตั้งแต่ปี 1953 ที่ตอนนั้นเฉลี่ย 30 ปี 39 วัน
และหากไล่อายุเฉลี่ยของ ลิเวอร์พูล ช่วง 7 ปีหลังในยุคของ คล็อปป์ ก็จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ และบ่งบอกว่า คล็อปป์ ยังคงยึดติดกับขุมกำลังที่มีมาโดยตลอด
ฤดูกาล อายุเฉลี่ย
2015-16 25.2
2016/17 26.1
2017/18 25.6
2018/19 26.1
2019/20 26.6
2020/21 26.8
2021/22 27.7
เริ่มจากผู้รักษาประตู อลีสซง เบ็คเกอร์ กำลังจะเข้าสู่วัย 30 ปีในเดือนตุลาคม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยพีคของผู้เล่นตำแหน่งนี้ ขณะที่มือสองอย่าง ควีวิน เคลเลเฮอร์ ในวัย 23 ปียังมีเวลาอีกหลายปีที่จะพัฒนาตัวเองยกระดับก่อนเข้าสู่ช่วงวัยเดียวกับรุ่นพี่แซมบ้า
ตำแหน่งกองหลังตัวกลาง ตามข้อมูลของ ดิ แอธเลติก บอกว่าช่วงวัยที่พีคที่สุดของตำแหน่งนี้คืออยู่ช่วงระหว่าง 25-28 ปี นั่นหมายคว่า เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ (31) กับ โฌแอล มาติป (31) เลยจุดนี้ไปแล้ว
ส่วนคนอื่น ๆ อย่าง โจ โกเมซ (25), แนต ฟิลลิปส์ (2), อิบราฮิม่า โกนาเต้ (23) อยู่ในวัยที่ดีต่อการเล่นตำแหน่งนี้
ต่อมาฟูลแบ็กซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญต่อระบบขึ้นเกมรุกของทีม ตามข้อมูลบอกว่าอายุที่ดีสุดคือช่วงระหว่าง 23-27 ปี ซึ่งมีแค่ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน (28) คนเดียวเท่านั้นอยู่ในกรอบของตัวเลขอายุ
มิดฟิลด์ตัวกลาง ลิเวอร์พูล มีนักเตะสองรายคือ เคอร์ติส โจนส์ (21) กับ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ (19) ที่ยังไม่ถึงช่วงอายุ 23-27 ปีที่ถือว่าเป็นจุดพีคตามข้อมูลที่ระบุมา
อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ กลับหลุดออกกรอบอายุนี้ทุกราย ไม่ว่าจะ เจมส์ มิลเนอร์ (36), จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (32), ติอาโก้ อัลกันตาร่า (31), ฟาบินโญ่ (28), อเล็กซ์ อ๊อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน (28) และ นาบี้ เกอิต้า (27)
ขณะที่ตัวรุกริมเส้น ช่วงอายุที่ดีที่สุดอยู่ที่ระหว่าง 25-27 ปี และ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (30) ก็เลยจุดนี้แล้วเช่นกัน ด้าน ลุยซ์ ดิอาซ (25) ถือว่าอยู่ในกรอบพอดี ส่วน ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ (19) ยังมีเวลาพัฒนาอีกไกล
ส่วนกองหน้าตัวเป้า ช่วงอายุอยู่ระหว่าง 26-29 ปี มีแค่ โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ (30) เท่านั้น ส่วน ดิโอโก้ โชต้า (25) กับ ดาร์วิน นูนเญซ (23) ไม่อยู่ในกรอบนี้
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดไปจะเห็นได้ชัดว่า แผงมิดฟิลด์ตัวกลางคือปัญหาแบกอายุแบบเต็มกลืน ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดากูรูหรือ "เดอะ ค็อป" ต่างเป็นห่วงว่านี่คือปัญหาที่ ลิเวอร์พูล กำลังเผชิญอยู่
คำถามคือนักเตะที่อายุแตะหลักเลข 3 จะยังสานต่อผลงานอันยอดเยี่ยมได้หรือเปล่า ในตอนที่อายุถือว่าเลยจุดพีคไปแล้วสำหรับนักเตะในตำแหน่งนั้น ๆ ?
แบร์รี่ ดรัสต์ นักกายภาพบำบัดและผู้ออกแบบโปรแกรมสาขาปริญญาเอกในสาขากีฬาและวิทยาศาสตร์ด้านการออกกำลังกายของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ระบุไว้ดังนี้
"ทุกวันนี้มีการสะสมข้อมูลเกี่ยวกับนักเตะเยอะมาก ๆ"
"อย่างเช่นสตาฟฟ์หลายคนจะคอยห้อมล้อมนักเตะที่จะรับฟังข้อมูลต่างๆ และทำงานตามข้อมูลที่ได้รับ มันอาจจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการฟื้นฟูสภาพร่างกาย, รูปแบบการซ้อมที่จำเป็นต้องทำตาม, เรื่องโภชนาการ ฯลฯ ก็ได้"
"มันอาจจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่ผ่าน ๆ มา และสิ่งที่อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้นักเตะได้รับบาดเจ็บมากกว่าเดิมก็ได้ ยิ่งคุณมีข้อมูลมากเท่าไหร่คุณก็จะสามารถทำการตัดสินใจได้ดีขึ้นเท่านั้น และสุดท้ายแล้วมันจะทำให้คุณคิดหาแผนได้ดีกว่าเดิม และดำเนินการตามแผนเพื่อส่งผลดีต่อตัวเองได้"
"ถ้าคุณลองดูทีม พรีเมียร์ลีก ส่วนใหญ่แล้วล่ะก็ คุณจะเห็นว่าสตาฟฟ์ของพวกเขาไม่ได้ทำงานกับนักเตะแบบเป็นกลุ่ม แต่เป็นแบบตัวต่อตัวเลย ซึ่งถ้าเป็นสัก 10-15 ปีก่อนมันอาจจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็ได้"
บรรดาสโมสรใหญ่ ๆ ทำงานกันเพื่อรับประกันว่าคนเป็นนักเตะจะสามารถเล่นให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แน่นอนว่า ลิเวอร์พูล ก็กำลังทำแบบนั้น
ในเคสของ ซาลาห์.. ดรัสต์ สิ่งอธิบายไว้คือ
"หลักๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับการทำงานของเขาเอง"
"ถ้าเขาคิดว่าเขาสามารถทำทุกอย่างได้แล้วล่ะก็ อายุมันก็เป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น ดังนั้นผมเลยไม่คิดว่าผลงานมันขึ้นอยู่กับอายุจริง ๆ มันขึ้นอยู่กับบทบาทที่คนอยากให้นักเตะเล่น รวมถึงความสามารถในการรับบทบาทของนักเตะเหล่านั้น"
"ถ้าคุณมีคนอย่าง ซาลาห์ คุณก็จะคิดถึงปัจจัยทุกอย่างที่สำคัญต่อฟอร์มการเล่นของเขา รวมถึงเรื่องที่ว่าจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นยังไง ไม่ใช่ไปคิดถึงเรื่องอายุของเขาอย่างเดียว อายุมันเป็นแค่หนึ่งในสิ่งที่ควรพิจารณาถึงเท่านั้น"
"การเข้ามาของวิทยาศาสตร์การกีฬา, ยาด้านกีฬา, เทคนิคที่ล้ำยุค และความรู้ต่างๆ ทำให้เราสามารถตระหนักถึงวิธีจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น มันทำให้คนรับรู้เรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงมีวิธีจัดการกับสิ่งที่เจอได้ดีกว่าเดิม"
"ซึ่งนั่นอาจจะทำให้อายุกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญน้อยลงในบางด้าน"
...
หลายคนทราบดีว่า กองกลาง ลิเวอร์พูล มีแนวทางในการเล่นเป็นแบบใช้พละกำลังเพื่อบดบี้คู่แข่งมากกว่าที่จะสร้างสรรค์เกม มีแค่ ติอาโก้ เท่านั้นที่อยู่ในข่ายนั้น ส่วนคนอื่นเน้นหนักไปทางทำลายเกมคู่แข่ง
แต่เมื่อยิ่งอายุมากขึ้น แน่นอนว่าพละกำลังก็ย่อมถอยลง แล้วปัญหานี้มันจะต้องแก้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่ คล็อปป์ ต้องไขข้อข้องใจเหล่านั้นให้ได้ทั้งหมด
ลิเวอร์พูล สตาร์ทฤดูกาลนี้ไม่เต็มเครื่องสักเท่าไหร่ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เกมแรกที่เสมอ ฟูแล่ม และตอกย้ำขั้นสุดในนัดพบ นาโปลี ที่ทุกอย่างพังพินาศทุกหย่อมหญ้าบนสนาม
คุณลักษณะของ ลิเวอร์พูล อันคุ้นเคยคือ พละกำลัง, ความเข้มข้น, ความหิวกระหาย, ความดุดัน, ความเร็ว, ความแข็งแกร่ง และการสร้างสรรค์ แต่ทั้งหมดขาดหายไป
ลูกทีมคนที่ คล็อปป์ เคยฝากความหวังได้ แต่ตอนนี้ฟอร์มตก โมฮาเหม็ด ซาลาห์ แทบไม่มีควาวมวูบวาบให้เห็น, ฟาบินโญ่ ดูช้าไปในหลาย ๆ จังหวะการปะทะ ส่วน เทรนท์ สมาธิไม่มั่นคงยามเล่นเกมรับ
หลายทฤษฎีหยิบยกขึ้นว่ามา ลิเวอร์พูลชุดนี้ จิตตกจากชวด 4 แชมป์เมื่อซีซั่นก่อน แถมยังต้องเล่นทุกเกมเต็มเม็ดเต็มหน่วย 63 นัด ซึ่งการเดินหน้าไล่บี้สไตล์ของ คล็อปป์ ตลอด 6 ปีคือพละกำลัง และมันก็เห็นชัดว่าดูถดถอยลงเยอะ
ซีซั่นนี้ ลิเวอร์พูล วิ่งไล่บอลน้อยลง รวมถึงปิดพื้นที่ประกบฝ่ายตรงข้าม หลายครั้ง เทรนท์ ออกอาการเหม่อยืนนิ่งเมื่อโดนคู่แข่งวิ่งผ่าน
เจมี่ คาร์ราเกอร์ วิจารณ์แรงถึงทีมเก่าว่าการใช้แนวรับดันสูง (ไฮไลน์) คือการฆ่าตัวตาย เมื่อไม่สามารถเพรสซิ่งใส่คู่ต่อสู้ได้
การได้ ติอาโก้ ฟื้นกลับมาจากอาการบาดเจ็บ คือเรื่องดีที่สุดที่ยกระดับทีมขึ้นมา เขาคือคนสำคัญเมื่อดูจากสถิติที่ทีมชนะ 21 เสมอ 4 แพ้ 1 จาก 26 เกม คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการไม่มีเขานั้น 18 เกม ชนะ 9 เสมอ 7 แพ้ 2 คิดเป็นชนะ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
คล็อปป์ พลาดเป้าหมายแดนกลางที่อยากได้เมื่อซัมเมอร์ที่ผ่านมา คือ โอเรเลียง ชูอาเมนี่ ที่เลือกไปสวมชุดขาวที่ เรอัล มาดริด และอาจต้องรอถึงปีหน้าเพื่อหาคนใหม่เข้ามาเพิ่มความสดชื่น
เรื่องแทคติค หลายเสียงผุดแผน 4-2-3-1 ขึ้นมา แต่เขาก็ยังยึดมั่นในรูปแบบ 4-3-3 และมีเปลี่ยนในบางเกม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายครั้งรูปเกมช่วงเวลานั้น ๆ ถือว่าดีขึ้นเมื่อมีการปรับหมากเป็น 4-2-3-1
ซึ่งการแก้แผนการเล่นอาจเป็นอะไรที่เกินความคาดหมาย เพราะจากที่ คล็อปป์ ทำมาตลอด เขาไม่นิยมปรับแทคติค ไม่ว่าอย่างไรก็ยังยึดมั่นในแผน 4-3-3
สิ่งที่จะเปลี่ยนคือกาเติมเต็ม กลับไปสู่เรื่องเบสิคอีกครั้ง เพิ่มเติมความกระปรี้กะเปร่าให้นักเตะกลับมามีชีวิตชีวา เรื่องของจิตวิทยาคือจุดแข็งของ "เจเค"
หลังจากนี้เราจะได้เห็น และหวังว่าคงไม่สายเกินไปกับเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้...
HOSSALONSO