ลุ้นผลงานแลมพาร์ด

ลุ้นผลงานแลมพาร์ด
การเลือก แฟร้งค์ แลมพาร์ด เป็นผู้จัดการชั่วคราวไปจนจบฤดูกาลคือการตัดสินใจที่รอบคอบของเชลซี

อย่างน้อยก็ทำให้สโมสรมีเวลามองหาคนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ กับภารกิจใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในฤดูกาลหน้า

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่งตั้งใครด้วยสัญญาถาวร ไม่จำเป็นต้องเร่งเซ็นสัญญากับใครโดยต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเงื่อนไขบางอย่าง

สถานการณ์ในตอนนี้คือทำให้ดีที่สุดในฤดูกาลที่ยังลงแข่งขันอยู่ และใช้ช่วงเวลาสองเดือนที่เหลืออยู่นี้รวมทั้งช่วงปิดซีซั่น สรรหา เลือกเฟ้น และเจรจากับตัวเลือกที่พิจารณาแล้วว่าถูกต้อง

ตัวเลือกจะมีอยู่กี่คนไม่รู้หรอกครับ แต่เชื่อว่าฝ่ายบริหารจะพิจารณาข้อดีข้อเสีย ทิศทางและแนวทางของแต่ละคนอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด บางทีกุนซือหนุ่มไฟแรงอย่าง ยูเลียน นาเกลส์มันน์ ที่เป็นตัวเต็งในทีแรกอาจไม่ใช่คำตอบก็ได้ หรือ หลุยส์ เอ็นรีเก้ ที่มีพร้อมทั้งความสำเร็จและบารมีซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็งในเวลานี้ก็อาจจะหลุดออกจากวงโคจรออกไปเช่นกัน

เพราะในตลาดผู้จัดการทีมเวลานี้ยังมีตัวเลือกคนอื่นที่น่าสนใจอยู่อีกมาก ทั้งที่ว่างงานและไม่ว่างงานแต่พร้อมจะรับทำงานให้เชลซี

กับแลมพาร์ดแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรกที่ได้รับโอกาสคุมทีมในสแตมฟอร์ด บริดจ์ แต่เขาก็ทำงานจนเกือบครบสัญญาสามปีเหมือนกัน แลมพ์สถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2021 หลังทำหน้าที่มาได้สองฤดูกาลครึ่ง เป็นคนให้โอกาส รีซ เจมส์ จากทีมเยาวชน และซื้อ เบน ชิลเวลล์ ฮาคีม ซิเย็ค รวมทั้ง ไค ฮาแวร์ตซ์ เข้ามาสู่สแตมฟอร์ด บริดจ์

อาจจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเลือกในครั้งนี้ แต่ผมคิดว่าแลมพ์สก็เป็นตัวเลือกที่ไม่แย่ นอกจากเรื่องของช่วงเวลาที่ฤดูกาลเหลือแค่ไม่ถึงสองเดือนแล้ว เขาก็ยังรู้จักสโมสรดี แฟนบอลรัก นักเตะให้การยอมรับ ทั้งยังมีประสบการณ์ที่ทำให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมอีกจาก 14 เดือนที่ได้คุมทีมเอฟเวอร์ตัน

ที่สำคัญคือฝ่ายบริหารที่เขาเคยมีปัญหาด้วยนั้นเปลี่ยนคณะทำงานไปแล้ว มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มารีน่า กรานอฟสกายา ผู้บริหารสาวคนเก่งในยุค โรมัน อบราโมวิช คือคนที่ขัดขวางเขาในการซื้อตัว ปิแอร์-เอเมอริก โอบาเมย็อง ดีแคลน ไรซ์ และ เจมส์ ทาร์คอฟสกี้ ในฤดูกาลสุดท้ายของเขากับทีมสิงโตน้ำเงินคราม เมื่อบวกกับความยุ่งยากในห้องแต่งตัวตอนนั้นที่เริ่มมีปัญหากับลูกทีมบางคน สโมสรจึงต้องตัดสินใจ

ผลงานของแลมพาร์ดในการคุมทีมหนที่สองจะเป็นอย่างไรนั้นก็คงต้องรอดูกันไปล่ะครับ แต่ผมคิดว่ามันเป็นการเดินเกมที่รอบคอบของสโมสรเชลซี และเหมาะสมกับสถานการณ์ทีเดียว

เรื่องที่น่าพูดถึงต่อเนื่องจากการแต่งตั้งครั้งนี้ก็คือ ที่ผ่านมานับตั้งแต่เข้าสู่ยุคของอบราโมวิช ผู้จัดการทีมที่เข้ามารับตำแหน่งกลางคันที่เชลซีมักจะทำผลงานได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสโมสรยุโรป

แชมป์ยุโรปทั้งสองสมัยของพวกเขาก็ได้มาจากกุนซือที่รับงานกลางฤดูกาล ทั้ง โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ และ โธมัส ทูเคิ่ล

ดิ มัตเตโอ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวหลังสโมสรปลด อังเดร วิลลาช-โบอาช เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2012 ขณะที่ทูเคิ่ลเข้ามาแทนแลมพาร์ดในเดือนมกราคม ปี 2021

ความแตกต่างระหว่างทั้งคู่คือในขณะที่บทบาทของ ดิ มัตเตโอ คือกุนซือขัดตาทัพที่เลื่อนจากมือขวาของวิลลาช-โบอาชขึ้นมาคุมทีมไปจนจบฤดูกาล (ก่อนจะได้รับสัญญาฉบับใหม่สองปีเป็นผู้จัดการทีมเต็มตัวหลังคว้าแชมป์ยุโรป) ทูเคิ่ลคือผู้จัดการทีมเต็มตัวตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง เขาได้รับสัญญา 18 เดือนจากสโมสร

สถานะตอนเริ่มงานต่างกัน แต่ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันนั่นคือแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก

ลองมองดูผลงานของผู้จัดการทีมที่เข้ามารับตำแหน่งกลางคันคนอื่นๆ ของเชลซีไม่ว่าจะเป็นบทบาทรักษาการหรือเต็มตัวก็พบว่าเกือบทุกคนพาทีมไปได้ไกลในเวทียุโรป

อัฟราม แกรนท์ ที่มาแทน โชเซ่ มูรินโญ่ ก็ไปถึงนัดชิงที่มอสโก ปี 2008 กุส ฮิดดิ้งค์ ที่มาแทน หลุยซ์ เฟลิเป้ สโคลารี่ ก็เกือบจะได้เข้าชิงอยู่แล้วในปี 2009 ถ้าไม่โดนลูกยิงกระชากอารมณ์ของ อันเดรส อิเนียสต้า ตกรอบตัดเชือกเสียก่อน

ราฟาเอล เบนิเตซ ที่มารับงานเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวแทน ดิ มัตเตโอ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 ได้โอกาสคุมทีมเตะแชมเปี้ยนส์ ลีกแค่เกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มซึ่งสถานการณ์วิกฤติหนักอยู่ก่อนแล้ว ชัยชนะเหนือนอร์ดเยลลันด์ 6-1 ไม่เพียงพอต่อการเข้ารอบน็อกเอ๊าต์เพราะจบอันดับสามของกลุ่ม แต่เขาก็พาทีมตะลุยต่อในถ้วยยูโรปา ลีก และลงเอยด้วยการคว้าแชมป์ที่อัมสเตอร์ดัม รวมทั้งยังเข้าถึงรอบตัดเชือกทั้งลีก คัพ และ เอฟเอ คัพ

อาจจะมีเพียง ฮิดดิ้งค์ ที่เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวหนที่สองแทนที่ มูรินโญ่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 เท่านั้นที่จบเส้นทางในแชมเปี้ยนส์ ลีกอย่างรวดเร็วเพียงแค่รอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยความพ่ายแพ้ต่อปารีส แซงต์-แชร์กแมง แต่ด้านผลงานในลีกก็ยังถือว่าทำได้ตามที่สโมสรต้องการเพราะกอบกู้ทีมจากที่แพ้ถึง 9 จาก 16 เกมแรกจมอยู่ในอันดับที่ 16 ขึ้นมาจบฤดูกาลด้วยอันดับ 10

ในมือของกุนซือชาวดัตช์ เชลซีลงเตะ 15 เกมต่อมาในลีกโดยไม่แพ้ใครเลยก่อนจะลงเอยด้วยการแพ้เพิ่มอีกเพียง 3 นัดเท่านั้นเมื่อจบฤดูกาล

เหล่านี้คือผลงานของผู้จัดการทีมที่เข้ามาทำงานกลางคันที่เชลซีนับตั้งแต่ยุคอบราโมวิช มันเกิดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้งจากผู้จัดการทีม 5 คน และสามารถพูดได้เต็มปากว่าได้บทสรุปคือเกรดเอทุกคนสำหรับฤดูกาลที่ได้รับมอบหมาย

อัฟราม แกรนท์ (กันยายน ปี 2007 แทน โชเซ่ มูรินโญ่) เข้าชิงแชมเปี้ยนส์ ลีก

กุส ฮิดดิ้งค์ หนแรก (กุมภาพันธ์ ปี 2009 แทน หลุยซ์ เฟลิเป้ สโคลารี่) เข้าตัดเชือกแชมเปี้ยนส์ ลีก แชมป์เอฟเอ คัพ

โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ (มีนาคม ปี 2012 แทน อังเดร วิลลาช-โบอาช) แชมป์ยุโรป แชมป์เอฟเอ คัพ

ราฟาเอล เบนิเตซ (พฤศจิกายน ปี 2012 แทน ดิ มัตเตโอ) แชมป์ยูโรปา ลีก

กุส ฮิดดิ้งค์ หนสอง (ธันวาคม ปี 2015 แทน มูรินโญ่) กู้สถานการณ์ในพรีเมียร์ลีก

โธมัส ทูเคิ่ล (มกราคม ปี 2021 แทน แฟร้งค์ แลมพาร์ด) แชมป์ยุโรป ต่อด้วยแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ และแชมป์สโมสรโลกในฤดูกาลถัดมา

บางทีมันอาจเป็นผลจากความสดชื่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องแต่งตัวก็ได้ที่ทำให้ผลงานของเชลซีในมือกุนซือรักษาการยอดเยี่ยมอย่างที่เห็น เพราะต้องไม่ลืมว่าคุณภาพของผู้เล่นสิงโตน้ำเงินครามแต่ละคนล้วนอยู่ในระดับชั้นนำของวงการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และทุกคนอยากแก้ตัวจากความผิดหวังที่เกิดขึ้น ต้องการประกาศให้โลกได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้แย่อย่างที่เห็น

กับผลงานพุ่งทะลุในเกมสโมสรยุโรปก็เช่นกัน ส่วนใหญ่การเปลี่ยนกุนซือของทีมเกิดขึ้นในช่วงที่ทีมผ่านเข้าไปเล่นในรอบน็อกเอ๊าต์ได้แล้ว ถึงตรงนั้นเมื่อว่ากันนัดต่อนัด เกมต่อเกม ผ่านนัดนี้สู่นัดหน้า ด้วยคุณภาพที่มีของนักเตะและความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเอง เผลอแผล็บเดียวพวกเขาก็ไปถึงรอบรองฯ เข้าถึงรอบชิงจนได้

ส่วนผลงานหลังจากประสบความสำเร็จในเวทียุโรปแล้วนั้นก็เป็นเรื่องของผู้จัดการทีมแต่ละคน บางคนก็ลงเอยได้ดี บางคนก็ลงเอยไม่ดี แต่ที่แน่ๆ คือไม่มีใครขโมยผลงานที่เกิดขึ้นในซีซั่นแรกของพวกเขาไปได้

ในมือของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด กับบทบาทผู้จัดการทีมชั่วคราวจนจบซีซั่น อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่รู้หรอกครับ แต่เวลานี้นอกจากเกมลีก 9 นัดสุดท้ายที่เหลืออยู่แล้ว เชลซีก็ยังอยู่ในเวที ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอเตะกับ เรอัล มาดริด ในรอบก่อนรองชนะเลิศ

สองนัดสู่รอบรองฯ สี่เกมสู่นัดชิง ห้าแมตช์สู่ความเรืองโรจน์ที่จะทำให้เขากลายเป็นตำนานผู้จัดการทีมแห่งสแตมฟอร์ด บริดจ์ แบบขึ้นลิฟต์

เกิดขึ้นได้ไหม.. เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ

ฤดูกาลนี้ยังสนุกอยู่นะครับสำหรับแฟนบอลเชลซี มันยังไม่จบลงเสียหน่อย

ลุ้นแชมเปี้ยนส์ ลีก ลุ้นผลงานแลมพาร์ด แล้วมาลุ้นกันต่อว่าใครจะเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่.. บางทีความสนุกอาจจะเพิ่งเริ่มต้นด้วยซ้ำ

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport