ความสม่ำเสมอ..ไม่มี ด้วยการสานต่อที่ไม่ชัดเจน ผลงานของทีมชาติขึ้นอยู่กับว่าช่วงใดเวลาใดจะมีนักฟุตบอลเก่ง ๆ โผล่ขึ้นมาประดับวงการมากหรือน้อย
ยุครุ่งเรืองที่สุดของฟุตบอลญี่ปุ่นเวลานั้นคือการตะลุยเข้าไปคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกที่เม็กซิโกเมื่อปี 1968 ขณะที่ก่อนหน้านั้นยังเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศโอลิมปิก 1964 ที่โตเกียว ในมือของ เดทมาร์ คราเมอร์ ปรมาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมัน
หากกับรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างฟุตบอลโลก ญี่ปุ่นทำได้เต็มที่ก็แค่ใกล้เคียง
แพ้เกาหลีใต้ในรอบคัดเลือกปี 1954 (เตะกันแค่ 2 ทีมเพราะไทเปถอนตัว ส่วน อินเดีย กับ เวียดนาม ไม่ส่งแข่ง) พังตั้งแต่เกมแรกที่โดนโสมขาวยกพลมาถลุง 5-1 ถึงกรุงโตเกียว กลับไปเตะนัดสองเสมอ 2-2 ก็ไม่มีความหมายอะไรแล้ว
ปี 1958 กับ 1966 ไม่ส่งแข่งรอบคัดเลือก ส่วนปี 1962 ร่วงตั้งแต่รอบแรกด้วยฝีมือของเกาหลีใต้เจ้าเก่า คราวนี้แพ้ทั้งไปและกลับ (0-2 เหย้า 1-2 เยือน)
ปี 1970 จมบ๊วยด้วยการมีแค่ 2 แต้มจาก 4 เกมที่เจอ ออสเตรเลีย และ เกาหลีใต้ จบเห่ตั้งแต่ด่านแรกอีกครั้ง
ปี 1974 งานยากขึ้นเพราะชาติอาหรับเริ่มเข้ามาร่วมวงด้วย ทั้งยังเตะรวมกับชาติจากโซนโอเชียเนียเหมือนเดิมโดยที่โควต้ายังมีแค่ทีมเดียว ผลจบลงด้วยการตกรอบสองแพ้อิสราเอลในช่วงต่อเวลาพิเศษ
ปี 1978 ตกรอบแรก เตะ 4 นัดมีแค่คะแนนเดียวในกลุ่มที่มี เกาหลีใต้ อิสราเอล และ เกาหลีเหนือ
ปี 1982 โควต้าโซนเอเชีย/โอเชียเนียเพิ่มเป็น 2 ทีม ผ่านรอบแรกได้แต่ก็ไปแพ้ เกาหลีเหนือ ในรอบสอง
ปี 1986 โอเชียเนียแยกตัวออกไปแล้ว โควต้า 2 ทีมเป็นของเอเชียล้วน ๆ โดยแยกเป็นฝั่งตะวันตก 1 ที่ และฝั่งตะวันออก 1 ที่ ญี่ปุ่นฝ่ารอบแรก-รอบสองเข้าไปถึงเกมชิงตั๋วแต่ก็พ่าย เกาหลีใต้ คู่ปรับตัวแสบเหมือนเดิม (แพ้ 1-2 เหย้า แพ้ 0-1 เยือน)
ปี 1990 ร่วงตั้งแต่รอบแรกในกลุ่มที่มี เกาหลีเหนือ อินโดนีเซีย และ ฮ่องกง
ปี 1994 ฝันสลายถูก อิรัก โหม่งตีเสมอช่วงทดเวลาที่โดฮา เป็นหนึ่งในเกมที่ชอกช้ำอย่างที่สุดของญี่ปุ่น แล้วก็เป็นเกาหลีใต้อีกแล้วที่ปาดหน้าคว้าตั๋วไปครอง
การรอคอยยังดำเนินต่อไป..
แต่ก็นั่นล่ะครับ หลังจากช่วงเวลาหลายสิบปีแห่งความไม่สม่ำเสมอ ญี่ปุ่นไม่เอาอีกแล้วกับความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แบบนั้น ไม่อยากฝากความหวังไว้กับโชคชะตาว่าวันดีคืนดีจะมี Golden generation พาทีมไปฟุตบอลโลก
พวกเขากำหนดชะตากรรมของตัวเองด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฟุตบอลในประเทศจากระดับสมัครเล่นมาเป็นกึ่งอาชีพช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต่อยอดเข้าสู่ฟุตบอลอาชีพช่วงต้นทศวรรษ 1990
เดินหน้าจริงจังด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบ กำหนดทิศทางพัฒนาฟุตบอลในประเทศไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ สื่อทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น กระทั่งปัจเจกชนอย่างชาวบ้าน
วางโครงสร้างที่แข็งแรงลงไปถึงระดับรากหญ้า สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ สร้างโค้ช สร้างนักฟุตบอล กระจายลงไปถึงระดับโรงเรียน
ฝ่ายเทคนิคของสมาคมทำงานอย่างมองเห็นภาพกว้างและยาวไกล สนับสนุนให้ครูในโรงเรียนเข้ารับการอบรมหลักสูตรลูกหนังที่มีมาตรฐาน กลายเป็นแม่พิมพ์ที่นำองค์ความรู้กลับมาถ่ายทอดสู่นักเรียนทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
การรับช่วงต่อจากภาคส่วนต่าง ๆ ราบรื่น กระทั่งเส้นทางสายฟุตบอลนักเรียนยังแยกเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งผ่านอะคาเดมี่ของสโมสรอาชีพโดยตรง อีกทางหนึ่งผ่านการแข่งขันสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ เด็กเยาวชนสังกัดทีมฟุตบอลอาชีพไม่เข้ามาทับทางกัน
แต่ถนนทั้ง 2 สายมุ่งตรงไปสู่เจลีกได้ทั้งคู่
ความมุ่งมั่นของคนญี่ปุ่น ความจริงจังของพวกเขาคือคุณภาพด้านบุคลากรที่โดดเด่นระดับโลก การช่วยเหลือกัน ความเสียสละทุ่มเทของทุก ๆ ฝ่าย การมีแผนงานที่ชัดเจน ถูกต้อง และมองการณ์ไกล
ด้วยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน และสิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความพร้อมในการพัฒนาทั้งสิ้น
แล้วฟุตบอลญี่ปุ่นก็กระโจนเหมือนก้าวกระโดด หลังจากการปฏิรูปฟุตบอลสมัครเล่นมาเป็นกึ่งอาชีพและฟุตบอลอาชีพเจลีกได้เพียงไม่ถึง 10 ปี พวกเขาก็ไปฟุตบอลโลกได้สำเร็จในปี 1998
44 ปีนับจากวันที่ขอทดสอบตัวเองกับการไปลุยฟุตบอลโลก.. 6 ปีนับจากวันก่อกำเนิดขึ้นของฟุตบอลเจลีก เปลี่ยนฟุตบอลกึ่งอาชีพที่จับกับบริษัทห้างร้านมาเป็นทีมฟุตบอลประจำเมือง มีฐานแฟนบอล มีการสนับสนุนจากท้องถิ่น มีการแข่งขัน และการบริหารจัดการในแบบมืออาชีพ
แล้วญี่ปุ่นก็ไปฟุตบอลโลก
กระนั้น การเก็บเกี่ยวความสำเร็จหลังจากนั้นต่างหากครับที่เป็นความยอดเยี่ยมของพวกเขา การรักษามาตรฐานให้ไม่แย่ไปกว่าเดิมและพยายามยกระดับตัวเองตลอดเวลาคือเรื่องที่น่าทึ่ง
พวกเขาไม่พอใจกับแค่การทำความฝันได้สำเร็จ เมื่อทำได้แล้วก็มองหาความฝันชิ้นต่อไปทันที เป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ครั้งที่ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้
จากโกลเด้นโกลประวัติศาสตร์ของ มาซายูกิ โอคาโนะ ที่ยะโฮร์บาห์รู, มาเลเซีย ในวันนั้นเมื่อปี 1997 พาญี่ปุ่นไปถึงฝั่งฝันคือเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 1998..
ระยะเวลาอีกเกือบ 30 ปีต่อมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาไม่เคยหยุดนิ่งหรือพอใจเมื่อทำได้ตามเป้าหมายเลย หากแต่เงยหน้ามองบันไดขั้นต่อไปทันทีอยู่เสมอ
จากเจลีก สู่การไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย สู่การส่งนักฟุตบอลไปเล่นในยุโรป สู่การที่ไม่ได้แค่ไปเล่นเฉย ๆ หรือไปเป็นตัวประกอบ แต่ไปเป็นตัวหลักของทีมต่าง ๆ แม้กระทั่งทีมใหญ่ ๆ ในลีกใหญ่ ๆ
ญี่ปุ่นมาถึงจุดที่ทุกคนยอมรับในคุณภาพแล้ว และแน่นอนครับ พวกเขาก็คงจะยังไม่พอใจแค่นี้..
ด้วยความเป็นพวกเขา มันก็ยังต้องไปให้ไกลกว่านั้นอีก วันข้างหน้าเราอาจได้เห็นนักเตะญี่ปุ่นเป็นตัวหลักที่ทีมอย่าง เรอัล มาดริด บาร์เซโลน่า บาเยิร์น มิวนิค ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง และทีมยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรปขาดไม่ได้
นักเตะตัวจริงในทีมชาติชุดใหญ่คือตัวจริงของทีมใหญ่ในยุโรปทั้งหมด.. อาจจะอีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้นะครับ
จากแค่เพียงได้ไปฟุตบอลโลกก็ดีใจกันทั้งประเทศ ญี่ปุ่นพูดถึงการเป็นแชมป์โลกแล้ว และพูดมา 20 ปีแล้ว
ไม่เพียงแค่พูดเปล่าให้คนอื่นหัวเราะเยาะ พวกเขาวางมันเป็นเป้าหมายจริงจังมาตั้งแต่ปี 2005 ที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นประกาศโครงการ DREAM.. สู่แชมป์โลกภายในปี 2050
เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยระยะเวลา.. และพวกเขาไม่เคยหยุดเดิน
หลังเอาชนะบาห์เรน 2-0 ที่ไซตามะเมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตีตั๋วไปฟุตบอลโลก 2026 โดยที่ยังเหลือเกมเตะอีกถึง 3 นัดจะครบโปรแกรม
ในกลุ่มที่มี 6 ทีมเตะแบบพบกันหมดเหย้า-เยือนทีมละ 10 นัดและมีคู่ต่อสู้อย่าง ออสเตรเลีย กับ ซาอุดีอาระเบีย ที่ไปฟุตบอลโลกรวมกัน 12 สมัย ญี่ปุ่นโกยแต้มแบบไม่หันมองข้างหลัง ทิ้งขาดจนไม่มีคู่แข่งทีมไหนไล่ทันตั้งแต่เกมที่ 7
ไปเล่นฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งเมื่อปี 1998
จากหลายสิบปีของฟุตบอลที่ล้มลุกคลุกคลาน สู่การวางโครงสร้างปฏิรูปครั้งใหญ่ นับจนถึงวันนี้ญี่ปุ่นเก็บเกี่ยวดอกผลแห่งความมุ่งมั่นจริงจังของตัวเองอย่างต่อเนื่องมา 32 ปีแล้วนะครับ
เส้นทางข้างหน้าก็ยังมีแต่ความท้าทาย ด้วยเป้าหมายสุดยอดที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าลุย เพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แห่งวงการฟุตบอล
ในศึกเวิลด์คัพครั้งล่าสุดที่กาตาร์ ญี่ปุ่นโค่นทั้งเยอรมันและสเปน..
จากทีมที่เคยตกรอบแบบไม่ได้ลุ้นตั้งแต่รอบคัดเลือกโซนเอเชียมาตลอด พวกเขามาถึงวันที่เอาชนะแชมป์โลก 2 ทีมได้ในทัวร์นาเม้นต์เดียวแล้ว
แน่นอนครับ ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายยังมีกำแพงที่ญี่ปุ่นยังข้ามไปไม่ได้อยู่.. 7 สมัยที่ผ่านมาทีมซามูไรบลูส์ยังไม่เคยผ่านเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้เลย
เต็มที่ก็แค่เกือบ ยังข้ามไม่ได้สักที..
หากก็นั่นล่ะครับ เราสามารถรู้ได้โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรให้มากมายเลย ญี่ปุ่นจะไม่ยอมแพ้ พวกเขาจะพยายามทำมันให้ได้แน่ และเรื่องที่น่าทึ่งก็คือ กระทั่งพวกเราเอง หลายคนยังอดเชื่อลึก ๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาจะทำมันได้ในที่สุด
ตังกุย