ในวันที่อังกฤษใช้โค้ชเยอรมันที่ชื่อ โธมัส ทูเคิ่ล

ในวันที่อังกฤษใช้โค้ชเยอรมันที่ชื่อ โธมัส ทูเคิ่ล
เสียงวิจารณ์ที่พอจะมีอยู่บ้างในการเลือก โธมัส ทูเคิ่ล เป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษคนใหม่จะไม่อาจเทียบกันได้เลยถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

ในความเป็น เยอรมัน กับ อังกฤษ การเลือกโค้ชชาวเยอรมันมากุมบังเหียนทีมสิงโตคำรามคือสิ่งต้องห้าม มันไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่อาจจะจินตนาการไปได้ถึง.. ถ้ามันเป็นเรื่องเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน

แต่เราทุกคนอยู่บนโลก ณ วันนี้ เวลานี้ ที่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาแปรเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง ระยะเวลา 20-30 ปีนั้นนานพอที่จะเกิดอะไรขึ้นมากมาย

อารมณ์ในเรื่องบางอย่าง ความรู้สึกกับเรื่องบางสิ่งก็เช่นกัน

เยอรมัน กับ อังกฤษ คือคู่ปรับตลอดกาลของวงการฟุตบอล เหมือน บราซิล กับ อาร์เจนติน่า หรือ ญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้

ฟุตบอลโลก 1966 อังกฤษชนะเยอรมันตะวันตกในนัดชิงที่เวมบลีย์ ด้วยแฮตทริกและประตูผีของ เจฟฟ์ เฮิร์สท์

ฟุตบอลโลก 1970 เยอรมันตะวันตกเขี่ยอังกฤษแชมป์เก่าตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายชนิดที่ เซอร์อัลฟ์ แรมซี่ย์ ได้แต่โทษตัวเองที่ชะล่าใจถอด บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน ออกจากสนามหลังนำห่าง 2-0

ฟุตบอลโลก 1990 กับ ยูโร 1996 คือความเจ็บช้ำขั้นสุดที่เยอรมันตะวันตกทำกับอังกฤษ ดวลเป้าเข้าชิงพร้อมเขี่ยสิงโตคำรามตกรอบตัดเชือกทั้ง 2 รายการ รายการแรกที่ตูริน, อิตาลี รายการหลังหนักกว่าเพราะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาแฟนบอลในเวมบลีย์เลย

ทศวรรษ 1990 ความชิงชังในฐานะคู่ต่อสู้ที่เป็นอริพุ่งทะยานด้วย 2 ทัวร์นาเม้นต์นั้น ก่อนจะค่อย ๆ ลดระดับลงไปตามสถานะของทั้ง 2 ทีม

จากที่เคยห้ำหั่นกันในเกมสำคัญรอบลึก ๆ ก็ค่อย ๆ หายไป จากที่ต้องเตะชิงตั๋วรอบรองฯ ชิงตั๋วเข้าชิง หรือกระทั่งเกมวัดแชมป์ เยอรมัน กับ อังกฤษ ไม่เคยต้องมาหวดกันในเกมใหญ่อีกเลย

ลึกที่สุดก็แค่รอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2010 และยูโร 2020 แล้วอย่างนี้จะเอาอะไรมาเป็นอริ

ช่วงเวลาที่ไม่ตรงกัน บางครั้งเยอรมันดี อังกฤษแย่ บางคราเยอรมันแย่ อังกฤษดี บางครั้งก็แย่มันทั้งคู่ หรือบางทีอาจจะดีทั้งคู่แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาตามนัด

ทศวรรษ 2000 (ปี 2000-2009) ผ่านไปอย่างเงียบ ๆ สำหรับบรรยากาศแห่งความเป็นคู่อริ เยอรมันทะยานถึงตำแหน่งรองแชมป์โลก 2002 และอันดับสามฟุตบอลโลก 2006 แต่อังกฤษไม่รอดสันดอนรายการใดเกินกว่ารอบ 8 ทีมสุดท้ายตลอดทศวรรษนี้

ยูโร 2008 ที่ทีมอินทรีเหล็กเข้าไปถึงตำแหน่งรองแชมป์ อังกฤษร่วงตั้งแต่รอบคัดเลือกด้วยซ้ำ

แต่ในทศวรรษนี้ยังมีเกมที่ทำให้เลือดลมพลุ่งพล่าน มันเกิดขึ้นที่มิวนิคเมื่อเดือนกันยายนปี 2001 สเวน-โกรัน อีริคส์สัน พากองทัพสิงโตคำรามบุกถล่ม 5-1 ด้วยแฮตทริกของ ไมเคิ่ล โอเว่น

นั่นอาจจะพอพูดได้ว่าเป็นเกมสุดท้ายจริง ๆ ที่เราสัมผัสได้ถึงความเป็นศัตรูกันระหว่างเยอรมันกับอังกฤษ เพราะหลังจากนั้นแม้จะได้เจอกันบ้างแต่มันไม่ได้เข้มข้นถึงอารมณ์

ทศวรรษ 2010 (ปี 2010-2019) การขับเคี่ยวชิงชัยระหว่างกันไม่ได้กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ นอกจากเจอกันในรอบ 16 ทีมเวิลด์คัพ 2010 ที่เส้นทางยังห่างจากนัดชิงหลายก้าวแม้จะมีประเด็นดราม่าประตูของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด แล้ว ทั้ง 2 ทีมก็คลาดกันไปมาตลอด

ยูโร 2012 อังกฤษกลับบ้านตั้งแต่รอบ 8 ทีม.. ยูโร 2016 ก็ไปไม่ลามาไม่ไหว้ถูกไอซ์แลนด์ถีบร่วงในรอบ 16 ทีม

บอลโลก 2014 เยอรมันไปถึงจุดสุดยอดคว้าแชมป์ที่มาราคาน่า อังกฤษกลับไปเตะแค่ 3 นัดแล้วก็เกมโอเวอร์ตกรอบแรกพร้อมอิตาลี แต่พอฟุตบอลโลก 2018 ทรีไลอ้อนส์ไปไกลถึงรอบตัดเชือก เยอรมันก็ดันมักน้อยเล่นแค่ 3 เกมแล้วโบกมือลาบ้าง

มาทศวรรษนี้ 2020 (2020-2029) ได้เจอกันอีกครั้งในยูโร 2020 อังกฤษเอาคืนด้วยชัยชนะที่เวมบลีย์แต่ก็เป็นแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย หรือยูโร 2024 อังกฤษเข้าชิงเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน เยอรมันก็จอดป้ายตั้งแต่รอบควอเตอร์ไฟนั่ล

ฟุตบอลโลก 2022 อังกฤษไปถึงรอบ 8 ทีม ส่วนเยอรมันตกรอบแรกอีกหน

เมื่อผลงานเป็นอย่างนั้นทั้งยังแคล้วคลาดช่วงเวลาไม่ตรงกันแบบนี้จะให้เอาเรื่องราวอะไรมาส่งเสริมความเป็นคู่อริ

ที่สำคัญตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ความดุเดือดของเกม ด๊อยท์ชลันด์-อิงแลนด์ ไม่มีให้เห็น ความรู้สึกที่เป็นศัตรูกันยังค่อย ๆ จางหายไปจากโลกที่หมุนไปข้างหน้า นักเตะเยอรมันหลั่งไหลมาเล่นในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ บางฤดูกาลมีเกิน 10 คน

ทั้งระดับโนเนม ดาวรุ่ง ชื่อเสียงกลาง ๆ ไปจนถึงสถานะโด่งดัง

โธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์, มาร์โก มาริน, เลวิส โฮลท์บี้, แซร์จ กนาบรี้, โรเบิร์ต ฮูธ, แบรนด์ เลโน่, อูเว่ รอสเลอร์, ชโคดราน มุสตาฟี่, เยโรม บัวเต็ง, แพร์ แมร์เตซัคเคอร์, ลอริส คาริอุส, ปาสกาล โกรสส์, วิตาลี่ ยาเนลท์, สเตฟาน ออร์เตก้า, เควิน ชาเด้อ

คริสเตียน ซีเก้, ดีทมาร์ ฮามันน์, สเตฟเฟ่น ฟรอยน์ด, คาร์ล-ไฮนซ์ รีดเล่, มาร์คุส บับเบิ้ล, เฟรดี้ โบบิช, เยนส์ เลห์มันน์, ลูคัส โพดอลสกี้, อันเดรีย เชือร์เล่, เอ็มเร่ ชาน, ลีรอย ซาเน่, อิลคาย กุนโดกัน, อันโตนิโอ รือดิเกอร์, ติโม แวร์เนอร์, ไค ฮาแวร์ตซ์

หรือระดับเพชรยอดมงกุฏอย่าง มิชาเอล บัลลัค, เมซุต โอซิล, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์

พวกเขาเหล่านี้เข้ามาเป็นที่รักของแฟนบอลทีมในอังกฤษ มาต่อยอดคนที่เคยบุกเบิกพรีเมียร์ลีกอย่าง เจอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ ในช่วงเวลาที่การแข่งขันของทีมชาติสร่างซาลงไป

แล้วมันก็ยังถูกเจือจางลงไปอีกด้วยการเข้ามาของโค้ชชาวเยอรมัน.. บางคนอาจจะเปรี้ยง บางคนอาจจะแป้ก แต่บางคนไม่เพียงมาสร้างผลงานดีงามไว้เท่านั้น หากยังทิ้งสายใยแห่งความผูกพันให้แฟนบอลและวงการลูกหนังอังกฤษด้วย

เฟลิกซ์ มากัธ 7 เดือนที่ฟูแล่ม.. ยาน ซีเวิร์ธ 7 เดือนที่ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์..

ราล์ฟ รังนิก ครึ่งฤดูกาลที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด.. ดาร์เนียล ฟาร์เค่ 4 ปีกับ นอริช ซิตี้..

ฟาเบียน เฮือร์เซเลอร์ คือโค้ชชาวเยอรมันคนล่าสุดในพรีเมียร์ลีก ไบรท์ตันดึงกุนซือหนุ่มวัย 31 ปีมาจาก ซังต์.เพาลี หลังพาทีมจากเมืองฮัมบูร์กเลื่อนชั้นสู่บุนเดสลีกา

และอีก 2 คนที่ฝากชื่อไว้บนหิ้งแห่งความทรงจำของคนอังกฤษไปเรียบร้อยแล้ว

เยอร์เก้น คล็อปป์ กับ โธมัส ทูเคิ่ล

สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาล้วนมีส่วนทำให้ความรู้สึกไม่เผาผีทางเกมลูกหนังระหว่าง เยอรมัน กับ อังกฤษ จืดจางลงไป แน่นอนครับถ้าต้องลงสนามพบกันก็ยังถือเป็นเกมแห่งศักดิ์ศรีที่ยอมกันไม่ได้ แต่ความเดือดพล่านของอารมณ์ไม่แน่ใจแล้วว่าจะไปแตะสัมผัสเก่า ๆ ที่เจอกันทีเป็นเหมือนเกมแห่งชีวิตได้ไหม

เราเคยมีความรู้สึกว่าอาดิดาสจะเสียทีมชาติเยอรมันให้ไนกี้ได้อย่างไรนึกภาพไม่ออกเลย เช่นเดียวกับอังกฤษจะใช้โค้ชเยอรมันได้ยังไง มันไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ในวันนี้มันเป็นไปแล้ว มันเกิดขึ้นจริงทั้ง 2 เรื่อง

เวลาเปลี่ยน ความรู้สึกก็เปลี่ยน อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน พลิกขาวเป็นดำ หรือจากซ้ายเป็นขวาหรอก แต่ความหนักแน่นของหินผาอาจถูกเซาะให้กร่อนลงได้บ้าง อะไรทำนองนั้น

อย่างที่เราได้เห็นเรื่องที่ไม่มีวันเป็นจริงได้เลยในอดีตเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ในปัจจุบันนั่นล่ะครับ

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport