Made in Germany.. วลีนี้เคยการันตีคุณภาพความเป็นเยอรมันอย่างองอาจที่สุด..
มันกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก และหนักขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวใหญ่ที่สุดของฟุตบอลรายการต่างๆ เมื่อคืนที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นเกมที่โวล์ฟส์บวร์กเมื่อคืนที่ผ่านมานะครับ
เยอรมัน ถูก ญี่ปุ่น ย้ำแค้นจากฟุตบอลโลก 2022 โดนถลุงหมดสภาพคาบ้านอีก 1-4
สกอร์ที่ออกมามันน่าทึ่ง ไม่ว่าเราจะมองมันจากด้านไหน ทั้งด้านชัยชนะของขุนพลแดนอาทิตย์อุทัยและด้านความปราชัยย่อยยับของทีมอินทรีเหล็ก
เยอรมันไม่ถูกคู่ต่อสู้ยิงถึง 4 ประตูมาสามปีแล้ว คราวนั้นเกิดขึ้นในเกมยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก นัดสุดท้ายของกลุ่ม A4 ที่โดนสเปนรัวโหด 0-6 ที่เซบีย่าทำให้ทีมกระทิงดุปาดหน้าคว้าแชมป์กลุ่มไปครอง
ในห้วงสิบปีที่ผ่านมาเยอรมันยังถูก ฮอลแลนด์ กับ อาร์เจนติน่า ยิงถึง 4 ประตูมาแล้วเช่นกัน แต่ความพ่ายแพ้ 2-4 ทั้งสองครั้งนั้นดูไม่หนักหน่วงรุนแรงเท่า 1-4 ในคราวนี้
แน่นอนเราเข้าใจดีถึงคุณภาพของฟุตบอลญี่ปุ่น พวกเขาพร้อมมากแล้วในระดับโลก พร้อมถึงขนาดที่กล้าขยับเป้าหมายเป็นแชมป์โลกภายในปี 2050 มาเป็นศึกเวิลด์คัพสมัยต่อไปที่กำลังจะมาถึงเลย
จากผลงานสม่ำเสมอครั้งแล้วครั้งเล่าและการได้พิสูจน์ตัวเองกับทีมระดับสูงอยู่เสมอ มารู้ตัวอีกทีญี่ปุ่นก็ทำให้เราไม่รู้สึกแปลกใจอีกแล้วกับผลงานยอดเยี่ยมแบบเข้าตา
เราคงจะไม่แปลกใจอีกแล้วถ้าได้เห็นพวกเขาลงสนามไปชนะบราซิล ชนะอาร์เจนติน่า หรืออัดบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็กในยุโรป เวลานี้พวกเขาก้าวขึ้นไปถึงจุดนั้นได้แล้วจริงๆ เพียงแต่การเป็นแชมป์โลกคือกำแพงอันสูงใหญ่ มันเรียกร้องอะไรจากคุณมากกว่าแค่ฝีเท้าซึ่งญี่ปุ่นยังต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าพวกเขาสามารถก้าวข้ามมันได้
กับเป้าหมายเป็นแชมป์โลกในฟุตบอลโลกหนหน้า.. ตรงนั้นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าอันดับ 20 ของโลกที่พวกเขายืนอยู่จากการจัดของฟีฟ่าน่าจะขัดกับความรู้สึกของหลายๆ คนไปแล้วด้วยซ้ำว่าต่ำเกินไปไหม (ญี่ปุ่นเคยขึ้นไปถึงอันดับ 9 ของโลกเมื่อปี 1998)
ผมนั่งดูการถ่ายทอดสดเกมที่ โฟล์คสวาเก้น อารีน่า เมื่อคืนวันเสาร์ก็ได้เห็นคุณภาพของพวกเขา เริ่มจากตัวจริง 11 คนกับตัวสำรองที่ส่งลงสนามอีก 6 คนรวมเป็น 17 คนนั้นค้าแข้งในทวีปยุโรปเกือบทั้งหมด
ผู้รักษาประตู เคซุเกะ โอซาโกะ (อายุ 24 ปี) จาก ซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิม่า
แบ๊กขวา ยูกินาริ สึงาวาระ (23 ปี) จาก อาแซด อัลค์มาร์
แบ๊กซ้าย ฮิโรกิ อิโตะ (24 ปี) จาก สตุ๊ตการ์ท
คู่เซนเตอร์แบ๊ก โค อิตาคุระ (26 ปี) จาก โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค และ ทาเคฮิโระ โทมิยาสึ (24 ปี) จาก อาร์เซน่อล
คู่กองกลาง ฮิเดมาสะ โมริตะ (28 ปี) จาก สปอร์ติ้ง ลิสบอน กับ วาตารุ เอนโด (30 ปี) จาก ลิเวอร์พูล
ตัวรุกฝั่งขวา จุนยะ อิโตะ (30 ปี) จาก แรงส์
ตัวรุกตรงกลาง ไดจิ คามาดะ (27 ปี) จาก ลาซิโอ
ตัวรุกฝั่งซ้าย คาโอรุ มิโตมะ (26 ปี) จาก ไบรท์ตัน
กองหน้าตัวเป้า อายาเสะ อุเอดะ (25 ปี) จาก เฟเยนูร์ด ร็อตเตอร์ดัม
ตัวสำรอง
โชโกะ ทานิงูจิ (กองหลัง, 32 ปี) จาก อัล-รายยาน
ทาคุมะ อาซาโนะ (กองหน้า, 28 ปี) จาก โบคุ่ม
ทาเคฟุสะ คุโบะ (กองกลาง, 22 ปี) จาก เรอัล โซเซียดาด
อาโอะ ทานากะ (กองกลาง, 25 ปี) จาก ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ
ไดกิ ฮาชิโอกะ (กองหลัง, 24 ปี) จาก แซงต์-ทรุยดอง
ริตสึ โดอัน (กองกลาง, 25 ปี) จาก ไฟร์บวร์ก
ฮาจิเมะ โมริยาสึ เรียกนักเตะติดทีมชาติในฟีฟ่าเดย์รอบนี้จำนวน 26 คน มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่เล่นอยู่ในประเทศ ที่เหลือเล่นในเยอรมัน 5 คน อังกฤษ 3 คน เบลเยียม 3 คน ฝรั่งเศส 2 คน ฮอลแลนด์ 2 คน โปรตุเกส 2 คน สกอตแลนด์ 2 คน สเปน อิตาลี และ กาตาร์ ชาติละ 1 คน
จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร มาตรฐานนักฟุตบอลของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับสโมสรยุโรปมานานแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขายกเพดานของตัวเองขึ้นไปอีกคือนักเตะหลายคนเป็นตัวหลักของต้นสังกัดในลีกใหญ่ๆ ด้วย
มิโตมะ คุโบะ อิตาคุระ คามาดะ โดอัน อาซาโนะ หรืออย่าง เคียวโกะ ฟุรุฮาชิ กับ ไดเซน มาเอดะ ที่ไม่ได้ลงสนามในนัดนี้ก็เป็นหัวใจในเกมรุกของกลาสโกว์ เซลติก และมันยังไม่รวมคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกเรียกตัวติดธงในรอบนี้
รูปเกม 90 นาทีที่ได้เห็น ญี่ปุ่นเร็วกว่า แน่นกว่า แม่นกว่า แนวทางชัดเจนกว่า มั่นใจกว่า และยังฟิตกว่า แข็งแรงกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งหลังที่พวกเขาเลือกการเล่นตั้งรับอย่างขันแข็งเนื่องจากนำอยู่ 2-1 ใช้ความว่องไวเข้าไล่บอล ปรี่กดดันอย่างเป็นทีมเวิร์ค บีบดุดันจนนักเตะเจ้าถิ่นแทบไม่มีเวลามองเห็นโอกาสทำประตู
และที่เด็ดขาดคือการทยอยส่งคนที่จะเล่นโต้กลับลงมา ผลลัพธ์ของมันเหี้ยมเกรียมทีเดียว คุโบะเหมาผ่านบอลให้เพื่อนร่วมตัวสำรองทั้งอาซาโนะและทานากะทำประตูช่วงทดเวลา
สองประตูฝังกลบเยอรมันจึงมาจากตัวสำรองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแอสซิสต์หรือประตู จังหวะที่คุโบะจิ้มบอลจากเท้าของ โรบิน โกเซนส์ ตรงกลางสนามจนหลุดเดี่ยวเข้าไปผ่านให้อาซาโนะทำประตู 3-1 คือจังหวะที่พวกเขาจับจ้องอยู่แล้ว เล่นอย่างอดทน ด้วยความมั่นใจ รอโอกาสแบบนี้และฉกฉวยมันได้ทันทีที่เปิดให้
ดูญี่ปุ่นในเกมนี้ก็ยิ่งเห็นถึงการเติบโตขึ้นมาก เล่นฟุตบอลในลักษณะทีมใหญ่ที่เข้าใจเกมและสถานการณ์ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ควบคุมเกมไว้กับตัว ยามตั้งเกมรุกใส่ก็ลื่นไหล ตั้งรับรอโต้ก็ทำได้เยี่ยม นิ่ง มั่นใจ ไม่มีความลุกลี้ลุกลน
หลังฟุตบอลโลก ญี่ปุ่นเสมออุรุกวัยกับแพ้โคลอมเบียในเดือนมีนาคม แต่จากนั้นก็ระเบิดตูมตาม อัด เอลซัลวาดอร์ 6-0 กับถล่ม เปรู 4-1 ในเดือนมิถุนายน และยกพลขยี้เยอรมันในคราวนี้
วันอังคารพวกเขาจะเตะกับตุรกีที่เกงค์ในเบลเยียม ผลการแข่งขันไม่รู้หรอก แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองและความเป็นของจริงของพวกเขานั้นเต็มเปี่ยม
แน่นอนครับ กับเป้าหมายแชมป์โลกยังมองไม่ออกว่าญี่ปุ่นเข้าใกล้มันแค่ไหนแล้ว แต่ในอีกสามปีข้างหน้าเมื่อมันมาถึง เชื่อว่าพวกเขาจะพร้อมยิ่งกว่าเดิม ฟุตบอลโลก 3 จาก 4 สมัยหลังสุดเพียงแค่การดวลดวลจุดโทษ 2 หน (ปารากวัย 2010 โครเอเชีย 2022) กับการนำ 2-0 แล้วกลับมาแพ้ 2-3 (เบลเยียม 2018) เท่านั้นที่ขวางกั้นพวกเขาจากรอบ 8 ทีมสุดท้ายครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ขณะที่เยอรมัน.. มันน่าเจ็บปวดนะครับ
น่าเจ็บปวดที่แต่เดิมพวกเขาเคยแต่เป็นผู้คอยมอบบทเรียนให้กับทีมอื่นๆ ทว่าวันนี้อินทรีเหล็กต้องกัดฟันยอมรับความเป็นจริง พวกเขาถูกญี่ปุ่นสอนบอลและต้องเรียนรู้จากทีมอันดับหนึ่งของเอเชียแทนแล้ว
นับจากพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดกับตำแหน่งแชมป์โลกเมื่อปี 2014 เยอรมันก็ร่วงปีกหักกับทศวรรษแห่งความล้มเหลว ตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2 สมัยติด ไม่มีลุ้นใดๆ ในเวทีชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
และในปีนี้ที่ผ่านไปแล้ว 6 จาก 10 เกมตามโปรแกรมที่วางเอาไว้ เยอรมันไม่ชนะใครมาแล้ว 5 นัดติดต่อกัน แพ้ 3 เกมซ้อน และแพ้ 4 จาก 5 เกมหลังสุด
มีปัญหาที่ ฮันซี่ ฟลิค ต้องแก้ไขมากมายเต็มไปหมด ความกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เก้าอี้บุนเดสเทรนเนอร์ก็ร้อนขึ้นทุกทีๆ
ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกนะครับที่เยอรมันมีปัญหา ที่ผ่านมาก็เคยผิดพลาดตกรอบแรกยูโร 2 สมัยติดต่อกันเมื่อปี 2000 กับ 2004 และก็วางแผนสู่อนาคตก่อนผลิดอกออกผลเป็นความสำเร็จสูงสุดที่แชมป์โลกสมัยสี่บนแผ่นดินบราซิล
Made in Germany.. แน่นอนครับ วลีนี้เคยการันตีคุณภาพความเป็นเยอรมันอย่างองอาจที่สุด
ในวันนี้มันถูกท้าทายอีกครั้ง.. ไม่ใช่สิ อันที่จริงมันถูกท้าทายมาพักใหญ่แล้ว ตั้งแต่คราวตกรอบแรกฟุตบอลโลกที่รัสเซียเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้แล้ว..
ตังกุย