การอกหักครั้งใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกในยุค เควิน คีแกน ช่วงกลางทศวรรษ 1990.. นำห่าง 12 คะแนนเมื่อฤดูกาล 1995/96 แต่สุดท้ายเป็นแค่พระรอง
ในทศวรรษเดียวกันทีมสาลิกาดงยังได้เข้าชิงเอฟเอ คัพ อีก 2 สมัย แต่ก็ปราชัยแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนั้นทั้ง 2 ครั้ง แพ้อาร์เซน่อลในปี 1998 และแพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในปี 1999 กลายเป็นทีมที่ทำให้ทั้ง ปืนใหญ่ และ ปีศาจแดง ได้ฉลองดับเบิลแชมป์ (ยูไนเต็ดยังไปไกลกว่านั้นด้วยการเช็กบิลทริปเปิลแชมป์ที่คัมป์ นู)
แชมป์ล่าสุดที่ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ทำได้คือฟุตบอล อินเตอร์โตโต้ คัพ ปี 2006 แต่รายการนี้เป็นเพียงทัวร์นาเม้นต์ช่วงซัมเมอร์ชิงสิทธิ์พิเศษไปเตะยูฟ่า คัพ เท่านั้น ไม่ได้นับเป็นเกียรติยศจริง ๆ จัง ๆ
นับย้อนขึ้นไปสำหรับโทรฟี่ที่ได้ฉลองกันแบบจับต้องได้คงต้องเป็นฟุตบอล อินเตอร์-ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ เมื่อฤดูกาล 1968/69 ที่เอาชนะ อูจเปสต์ จากฮังการีด้วยประตูรวม 6-2 นั่นคือแชมป์รายการล่าสุดที่สาวกทูนอาร์มี่ได้ชื่นใจกับผลงานของทีม
ปี 1969.. 56 ปีมาแล้ว
ย้อนขึ้นไปไกลกว่านั้นอีกนิด ฤดูกาล 1954/55 นิวคาสเซิ่ล โดย ดั๊ก ลีฟวิ่งสโตน กุนซือชาวสกอตต์ได้แชมป์เอฟเอ คัพ สมัยที่ 6 และเป็นหนที่ 3 ในรอบ 5 ปี สานต่อความยิ่งใหญ่ของกุนซือ สแตน ซีมัวร์ ที่พาทีมคว้าโทรฟี่สีเงินยวง 2 สมัยซ้อนในปี 1951 กับ 1952
ถึงกลางทศวรรษ 1950 นิวคาสเซิ่ลคือแชมป์เอฟเอ คัพ 6 สมัยจากการเข้าชิง 10 ครั้ง
คงไม่มีใครคาดคิดหรอกครับว่านับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พวกเขาจะไม่ได้เห็นทีมฉลองแชมป์ใด ๆ ที่เวมบลีย์อีกเลยมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นบันได 39 ขั้นแห่งเวมบลีย์เก่า หรือบันได 107 ขั้นของเวมบลีย์ใหม่
จะบันไดกี่ขั้น.. ทูนอาร์มี่ก็ไม่เคยได้เห็นภาพกัปตันของทีมเดินนำลูกทีมขึ้นไปรับถ้วยแชมป์แล้วหันมาชูมันขึ้นฟ้าอวดสายตาทุกคน
5 ชิง.. 5 ช้ำ และถ้านับจากบ่ายอันยิ่งใหญ่เมื่อปี 1955 นั้น เวลาก็ผ่านมาถึง 70 ปีเข้าไปแล้ว
นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด เข้าถึงนัดชิงฟุตบอลถ้วยในประเทศที่เวมบลีย์อีก 5 ครั้งหลังจากนั้น มันลงเอยด้วยการเป็นผู้แพ้ทั้งหมด
แพ้ ลิเวอร์พูล 0-3 นัดชิงเอฟเอ คัพ 1974
แพ้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-2 นัดชิงลีก คัพ 1976
แพ้ อาร์เซน่อล 0-2 นัดชิงเอฟเอ คัพ 1998
แพ้ แมนยูไนเต็ด 0-2 นัดชิงเอฟเอ คัพ 1999
แพ้ แมนยูไนเต็ด 0-2 นัดชิงลีก คัพ 2023
70 ปีได้ชิงอีก 5 ครั้ง เฉลี่ยแล้วแฟนบอลนิวคาสเซิ่ลจะได้ลุ้นทีมรักในนัดชิงบอลถ้วยที่เวมบลีย์ 1 ครั้งในทุก ๆ 14 ปี
โอเคครับ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว เปลี่ยนแปลงอะไรมันไม่ได้ สถิติชิง 5 แพ้ 5 ตลอด 5 ครั้งหลังสุดยังคงอยู่ของมันอย่างนั้น แต่อย่างน้อยการได้ชิงอีกหนในปีนี้ก็เป็นทิศทางที่ดี
เพราะมันคือการเข้าชิงที่เวมบลีย์ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ฤดูกาล ความถี่ดีกว่าค่าเฉลี่ยตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมามาก
ไม่เพียงเท่านั้น นิวคาสเซิ่ลยังอยู่บนเส้นทางของเอฟเอ คัพ อีกด้วย พวกเขาจะไปเยือน เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในรอบ 4 สุดสัปดาห์นี้ ยังคาดหวังได้เต็มเปี่ยมสำหรับเส้นทางสู่การกลับไปชิงเอฟเอ คัพ อีกครั้งนับตั้งแต่หนล่าสุดปี 1999 หรือ 26 ปีก่อน
และถ้าจะมองถึงสิ่งที่กำลังเป็นไป ผู้จัดการทีมของพวกเขา นักเตะของพวกเขา ความพร้อมของพวกเขา การสนับสนุนที่พวกเขาได้รับ และผลงานสุดยอดทั้ง 2 เกมในรอบรองชนะเลิศกับอาร์เซน่อล ทำไมเหล่าทูนอาร์มี่จึงจะคาดหวังไม่ได้เล่าว่าการรอคอยอันยาวนานนั้นมาถึงวันสิ้นสุดสักที..
----------------------
มันคือ 2 เกมที่ยอดเยี่ยมของ เอ๊ดดี้ ฮาว และลูกทีม
เกมแพลนถูกต้อง วิธีการเล่นถูกต้อง วินัยในการเล่นยอดเยี่ยม สมาธิไม่มีตกหล่น ผล 2-0 จากเกมแรกที่ลงใต้ไปชนะถึงลอนดอนทำให้เกมที่สองง่ายขึ้น ยิ่งได้ลงเล่นต่อหน้ากองเชียร์ที่คึกคักเต็มไปด้วยความหวังว่าจะกลับไปล่าแชมป์ที่เวมบลีย์ให้ได้ก็ยิ่งเป็นพลังพิเศษของขุนพลในชุดขาว-ดำ
ฮาววางรูปแบบ 5-4-1 รับมือทีมปืนใหญ่ที่กำลังคึกสุดขีดมาจากการไล่ถล่มแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 5-1 ในพรีเมียร์ลีก เขารู้ดีว่าเกมรุกของอาร์เซน่อลอันตรายขนาดไหน นักวิจารณ์ทุกสำนักมองว่ารองจ่าฝูงพรีเมียร์ลีกมีภาษีดีกว่า แต่ 90 นาทีที่ปรากฏสู่สายตา นิวคาสเซิ่ลไม่สั่นคลอนหวั่นไหวเลย
พวกเขารับมือกับทีมเยือนได้อย่างหมดจด มีสติ ไม่ลนลาน ทั้งยังเต็มไปด้วยความมั่นใจ รวดเร็ว แม่นยำ และยังมีนักเตะที่มีทีเด็ด
ยามตั้งรับใช้กองหลัง 5 คนยืนระนาบเดียว จากขวาไปซ้าย คีแรน ทริปเปียร์, ฟาเบียน แชร์, สเวน บ็อตมัน, แดน เบิร์น และ ลูอิส ฮอลล์ มีแนวมิดฟิลด์ช่วยรับอยู่ข้างหน้า จาค็อบ เมอร์ฟี่, ซานโดร โตนาลี่, บรูโน่ กิมาไรช์ และ แอนโธนี่ กอร์ดอน
แต่ไม่ได้หมายความว่าทีมของฮาวจะตั้งกำแพง 2 ชั้นเพื่ออุดประตูรักษาสกอร์ที่นำอยู่.. ไม่ใช่เลย
ตรงกันข้ามพวกเขาชัดเจนในวิธีเล่น มีแนวทางตอบโต้ที่ชัดเจน เก็บบอลจังหวะสองได้เมื่อไหร่จะจ่ายไปที่ กอร์ดอน และ อเล็กซานเดอร์ อิซัค ที่เก็บบอลได้ดีแล้วเล่นเกมโต้กลับเร็วด้วยผู้เล่นแดนกลางที่พุ่งเติมขึ้นไปสนับสนุน
ไม่ใช่การตั้งรับแล้วหวดบอลทิ้งมั่วซั่วให้อาร์เซน่อลเอาบอลกลับมาบุกใส่ใหม่เหมือนเตะอัดกำแพง เกือบทุกครั้งที่ทีมปืนใหญ่เสียบอลในเกมรุกจะถูกโต้หวาดเสียวไปถึงหน้าเขตโทษตัวเอง ไม่สามารถชิงแย่งบอลกลับมาครองได้ในทันทีแบบทีมที่จะกดฝ่ายตรงข้ามอยู่หมัด
ความคล่องและการชิงเหลี่ยมของอิซัคสร้างความปวดหัวให้ วิลเลียม ซาลิบา ที่ตามประกบ ประตูขึ้นนำของนิวคาสเซิ่ลก็มาจากการเสียเชิงปล่อยให้หัวหอกสวีดิชชิงจังหวะสะกิดบอลจากการเตะเปิดเกมของ มาร์ติน ดูบราฟกา
สุดท้ายไปจบที่การยิงชนเสาของอิซัค และเมอร์ฟี่ตามมาซ้ำเข้าไป
ความเฉียบขาดของอิซัคคือสิ่งที่ทีมใหญ่มากมายกำลังมองหา เขาคือสไตรเกอร์ธรรมชาติ ยิงบอลดีทั้ง 2 เท้า ทุกการสับไกมีประสิทธิภาพในระดับเป็นประตูเสมอ ประตูนี้ยิงด้วยซ้ายชนเสาให้เมอร์ฟี่ซ้ำ ลูกยิงก่อนหน้าที่ VAR ริบทิ้งก็ซัดด้วยขวาหมดจดบาดใจ
ลูกกลางอากาศแน่น เข้าฮอร์สได้ ยิงไกลคม ทั้งยังเป็นตัวพักบอลเชื่อมเกมให้ทีม ทักษะดี มีความเร็ว ไปกับบอลได้ เล่นฉลาด นิ่ง เยือกเย็น ละเอียดในการตัดสินใจแต่ละจังหวะ นิวคาสเซิ่ลคงต้องเก็บเขาไว้ให้ดี ข้อเสนอพุ่งใส่มากมายแน่นอนตอนซัมเมอร์นี้
ความน่าพอใจของนิวคาสเซิ่ลในเกมนี้ไม่เพียงอยู่ที่การเล่นเกมรับอย่างมั่นใจและแข็งแกร่งกับการโต้กลับที่อันตรายเท่านั้น แต่ยังมีการเล่นเพรสซิ่งที่ดุดันใส่อีกด้วย
ยามอาร์เซน่อลตั้งเกมรุกจากแดนหลัง แข้งเจ้าถิ่นจะพุ่งเข้าบีบกดดันใส่ถึงหน้าประตูอย่างรวดเร็ว
ฮาวไม่ยอมให้อาร์เซน่อลต่อบอลจากแนวรับได้ง่าย ๆ พยายามกดดันแดนบนอย่างต่อเนื่อง แข้งทีมเยือนอาจจะเอาตัวรอดได้ดีหลาย ๆ ครั้งเพราะเล่นแบบนี้มาตลอดจนเป็นธรรมชาติไปแล้ว แต่ในธรรมชาตินั้นมีความเสี่ยงอยู่ พลาดทีเดียวหมายถึงการเปิดโอกาสให้คู่แข่งได้ยิงแบบล่อเป้า
และมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อเริ่มครึ่งหลังมา 7 นาที การออกบอลของ ดาบิด รายา ให้ ดีแคลน ไรซ์ ลงเอยด้วยการถูกจิ้มแย่งบอลและ แอนโธนี่ กอร์ดอน เก็บตกส่งลูกหนังเข้าสู่ก้นตาข่ายง่าย ๆ
จังหวะนี้อาร์เซน่อลพลาดตั้งแต่การขยับเป็นตัวเลือกให้เพื่อน รายาไม่มีใครให้เขาส่งบอลได้เลย ซ้าย ขวา กลาง มีนักเตะเจ้าถิ่นมารอดักทางไว้หมด
ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาร์เซน่อลต้องแก้ไขสถานการณ์แบบนี้หรอกครับ จังหวะนี้ ไรซ์ วิ่งเข้ามารับบอลและพยายามตวัดบอลเร็วต่อทันทีเพราะรู้ว่ามีผู้เล่นเจ้าถิ่นตามมาข้างหลัง
แต่ความที่ตัวเลือกของรายามีน้อยคือแค่ไรซ์คนเดียว ผู้เล่นนิวคาสเซิ่ลจึงประเมินได้ว่าบอลจาก รายา ต้องไปที่ใคร และก็เป็น ฟาเบียน แชร์ ที่ทิ้งตำแหน่งขึ้นมาดักจิ้มบอลที่ ไรซ์ จ่ายจนทะลักไปถึงกอร์ดอนทำประตูได้
เกมเพรสซิ่งของนิวคาสเซิ่ลได้ผลด้วยประตู 2-0 ฉีกสกอร์รวมออกไปเป็น 4-0 และปิดโอกาสกลับมาของอาร์เซน่อลแทบสนิทในช่วงเวลาที่เหลือ
ความหมดจดของทีมสาลิกาดงในเกมนี้ยังอยู่ที่การควบคุมสถานการณ์ของนักเตะแต่ละคน ดวลกันตัวต่อตัวแทบไม่แพ้แข้งปืนใหญ่เลย เมอร์ฟี่ กับ กอร์ดอน ขยันวิ่งขึ้น-ลงช่วยทีม โตนาลี่ กับ บรูโน่ งัดความเขี้ยวออกมาตลอด ทริปเปียร์เก๋า เซนเตอร์แบ๊กทั้ง 3 คนแข็งแกร่งเข้าบอลแน่นไม่มีโฉ่งฉ่าง
มันคือ 2 เกมที่นิวคาสเซิ่ลเล่นได้ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบและคู่ควรกับการเป็นผู้ชนะโดยแท้ การจะผ่านทีมปืนใหญ่เวลานี้ได้ในการเล่นเหย้า-เยือน 2 นัดนั้นคุณต้องเล่นได้ดีระดับนี้จริง ๆ
ผู้บรรยายภาษาอังกฤษพูดถึงทีมสาลิกาดงหลังเสียงนกหวีดหมดเวลาว่า "Arsenal are outplayed twice.. lost two-nil twice.. How good that Newcastle United be in these 2 games"
ใช่แล้วครับ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ดีจนน่าชื่นชม และเหมาะสมอย่างยิ่งกับการผ่านเข้าไปชิงโทรฟี่นี้ที่เวมบลีย์
ยินดีด้วยอีกครั้งครับกับเหล่าทูนอาร์มี่ แค่คิดว่าวันที่ 16 มีนาคมนี้พวกคุณจะไปเวมบลีย์กันเพื่อจบการรอคอยอันยาวนานมันก็น่าตื่นเต้นไปด้วยแล้ว
We are going to Wembley.. ไปเพื่อปิดฉากฝันร้ายนัดชิงที่ตามหลอกหลอนมา 7 ทศวรรษ จะมีอะไรน่ารวมพลังกันมากไปกว่านี้อีก
-ตังกุย-