มีคุณผู้อ่านถามเข้ามาได้น่าสนใจว่า
"พี่ครับ ทำไม บาร์ซ่า เวลาชนะคู่ต่อสู้มันดูง๊ายง่าย ? ส่วน มาดริด กว่าจะชนะแต่ละทีทำไมมันลำบากจัง ?"
ตอบแบบไม่เอาฮา....ของแบบนี้มีปัจจัยหลายอย่างครับ แต่จุดเริ่มต้นผมมองว่าอยู่ที่รูปแบบและวิธีการเล่น
steal high
บาร์ซ่า ของ ฮันซี่ ฟลิค เน้นการเพรสซิ่งและการเข้าแย่งบอลในพื้นที่แดนแรกของคู่ต่อสู้
ในการลำเลียงของคู่ต่อสู้ นักเตะบาร์ซ่าจะเข้าบีบพื้นที่ รุมแย่งอย่างรวดเร็ว มีการไล่บอลที่ดุดัน ไล่อย่างมีไดนามิก ไล่ให้คู่ต่อสู้รู้สึกถึงความกดดัน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถขโมยจากคู่ต่อสู้บอลกลับมาได้สำเร็จบ่อยครั้ง
จากนั้นจึงโจมตีเร็ว ซึ่งการเสียบอลในจังหวะลำเลียง ทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถจัดระเบียบเกมรับได้ทัน จึงเกิดพื้นที่ว่างมากมาย
นอกจากนี้แล้วยังเป็นเรื่องของระยะทาง การโจมตีในแดนแรกหรือแดนสอง ระยะห่างถึงกรอบเขตโทษนั้นสั้น บอลสามารถเดินทางไปถึงกรอบเขตโทษได้ในเพียงเวลาไม่กี่วินาที ประตูจึงเกิดขึ้นได้เร็วให้หลังจากการตัดบอลไม่กี่วินาที
รีแอคชั่น
นอกจากการเพรสซิ่งแล้ว อีกหนึ่งวิธีการสำคัญก็คือนักเตะบาร์ซ่าทุกคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วในทุกครั้งที่เสียบอล
เสียตรงไหน ไล่ตรงนั้น รุมแย่งกลับมา จากนั้นจะตีโต้ทันทีหากสบโอกาส การเสียบอลและแย่งกลับมาได้เร็ว ก็ไม่ต่างจากการขึ้นไปเพรสแดนบนแล้วตัดบอลได้ เพราะเป็นห้วงเวลาที่คู่ต่อสู้มักขยับขึ้นมาเพื่อเล่นเกมรุกตีโต้ ส่งผลเชปเกมรับไม่ได้ยืนเต็มฟอร์มปกติ
วิ่ง วิ่ง และ วิ่ง แต่วิ่งอย่างถูกวิธี
การเพรสซิ่ง , การรุมแย่งที่รวดเร็วเมื่อเสียบอล ล้วนต้องอาศัยการวิ่งทั้งนั้น แต่จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าวิ่งผิด
เวลาเพรสซิ่ง เมื่อตัวบนเริ่มวิ่งไล่ แดนกลางจะต้องวิ่งอย่างไร ต้องชิดตัวไหน หรือ เวลาเสียบอล ต้องไล่แบบไหน ต้องวิ่งขยับไปจุดไหนเพื่อบีบให้คู่ต่อสู้จนมุม
ในพาร์ทเกมรุก เมื่อตัดได้ ้วิธีการที่นักเตะบาร์ซ่าชอบเล่นคือวิ่งไปยังพื้นที่ว่างหลังแบ็ก หรือ ฮาล์ฟสเปซ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการป้องกัน ซึ่งสิ่งที่อนุญาตให้พวกเขาทำอย่างนั้นได้อย่างอิสระ ส่วนนึงเพราะมีกองหน้าตัวเป้าชั้นยอดอย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ที่คอยกดอยู่ด้านใน ไม่ให้เซนเตอร์ฮาล์ฟคู่ต่อสู้กล้าขยับออกจากพื้นที่
จากนั้นก็จะเป็นพวกมิดฟิลด์กับตัวรุกอย่าง เฟร์มิน, กาบี, ราฟินญ่า, ยามาล, โอลโม่ หรือแม้แต่ บัลเด้ กับ กุงเด้ ที่วิ่งสอดเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ
ด้วยระบบและวิธีการเช่นนี้ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ บาร์ซ่า จำเป็นต้องเล่น high line
การเล่น high line ไม่ใช่สไตล์การเล่นเกมรับของ ฟลิค หากแต่ high line หรือหลังดันสูงคือการเล่นเพื่อซัพพอร์ตเกมรุกของทีม
หลังดันสูง โอเวอร์โหลดคนเข้ามาในพื้นที่คู่ต่อสู้ บีบให้คู่ต่อสู้เหลือพื้นที่เล่นให้น้อยที่สุด
ส่วนกับดักล้ำหน้านั้น คือวิธีการที่ ฟลิค มานำช่วยแก้ปัญหาการเล่น high line ของแนวรับนั่นเอง
กับคำถามที่ว่าในกรณีคู่ต่อสู้ยืนเกมรับเต็มฟอร์ม และบาร์ซ่า ต้องบุกเพื่อยิงประตูพวกเขาทำอย่างไร ? เพราะมันไม่ใช่ทุกครั้งที่จะแย่งบอลกลางทางได้
คำตอบคือ move the ball , move the ball & move the ball
นักเตะบาร์ซ่าจะเคลื่อนบอลไปเรื่อยๆ และเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ทำอยู่ซ้ำๆไปมา ทำซ้ำๆไปเรื่อยๆ จนเกมรับของคู่ต่อสู้เปิดช่อง จากนั้นจึงโจมตี
อย่างไรก็ตาม ทั้งระบบและวิธีการเป็นเพียงโครงสร้างเท่านั้น สิ่งสำคัญสูงสุดคือ ความเข้าใจในเกม และ performance ส่วนตัวของนักเตะ
โรนัลด์ อาเราโฮ อยู่ในข่ายแรก ขาดความเข้าใจในเกม จึงมักตกเป็นตัวสำรอง
ส่วน กาบี ก่อนหน้านี้อยู่ในข่ายที่สองคือ performance ไม่ตอบสนองอย่างที่ควร จึงตกเป็นสำรองบ่อยครั้ง (หากแต่ระยะหลังก็ดีขึ้น)
ต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของคำอธิบายว่า ทำไม บาร์ซ่า เวลาชนะคู่ต่อสู้ทำไมจึงดูง่ายดาย
กระนั้นก็ตาม ชัยชนะที่ บาร์ซ่า ได้มานั้น แม้จะดูง่าย (โดยส่วนใหญ่) แต่จริงๆแล้วมาจากการลงทุนมหาศาล
ทุกครั้งที่เพรสซิ่ง ทุกครั้งที่รุมแย่งบอล มันคือการออกวิ่งที่ต้องใช้พละกำลัง ยิ่งถ้าจะเพรสให้ได้ประสิทธิภาพ หรือแย่งบอลให้ได้โดยเร็วยิ่งต้องรีดพลังออกมาให้หมด
นอกจากนี้ วิ่งอย่างเดียวก็ไม่ตอบโจทย์ จะต้องวิ่งให้ถูกตำแหน่ง ถูกจังหวะ นั่นหมายถึงว่านอกจากใช้พละกำลังอย่างหนักแล้ว เพียงเสี้ยววินาทีในหัวนักเตะจะยังต้องคิดคำนวนอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ว่าจะวิ่งไปทางไหน
การทำความเข้าใจกับระบบและวิธีการจะต้องอาศัยการซ้อมที่เข้มข้น ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวันๆ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายที่นักเตะไม่ค่อยได้ใช้จินตนาการของตัวเองสักเท่าไหร่
และการจะทำให้ระบบมันเวิร์คก็จะต้องอาศัยสภาพร่างกายที่แข็งแกร่งอย่างมาก การซ้อมเพื่อให้พละกำลังอยู่ตัวเป็นเรื่องหนักหนาเอาการ
การชนะคู่ต่อสู้ที่ดูง่ายในแต่ละเกม ล้วนแลกมาด้วยการสูญเสียพลังงานและมันสมองไปอย่างมากมาย
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อดีจะเยอะ แต่ข้อเสียก็มากเช่นกัน
บอลระบบแบบ บาร์ซ่า ก็เหมือนบอลระบบอื่นๆ หากทุกคนทำได้ตามหน้าที่ อยู่ใน performance ที่ดี ทุกอย่างก็ออกมาสมูท
เเต่เมื่อไหร่ที่บางอย่างผิดเพี้ยน ฟันเฟืองบางตัวทำงานไม่เหมือนเดิม หรือไม่ทำงาน ก็สามารถพังทั้งระบบได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การเช็กล้ำหน้า หากขยับขึ้นไม่พร้อมเพรียง ก็จะกลายเป็นเพิ่มแต้มต่อให้คู่ต่อสู้
การรุมแย่งบอล ถ้ามีบางตัวมาถึงช้า หรือไล่บอลไม่ดุดัน จนคู่ต่อสู้ดื้นหนีไปได้ บาร์ซ่า ก็พร้อมเสียประตูเช่นกัน
ทั้งนี้การที่ บาร์ซ่า ยังไม่แพ้ใครเลยในปี 2025 ส่วนตัวทิ้งน้ำหนักไปที่
1.สภาพร่างกายนักเตะที่ดีขึ้นกว่าก่อน ร่างกายที่ปรับตัวจนคุ้นเคยกับการวิ่งในปริมาณเยอะๆ ซึ่งต่างจากช่วงปลายปีที่แล้วที่นักเตะหมดเรี่ยวแรง
2. performance ส่วนตัวของนักเตะแต่ละคน ตรงนี้สำคัญมาก เพราะตอนนี้ดูเหมือนนักเตะบาร์ซ่าเกือบทุกคนกำลังอยู่ในช่วงพีคของตัวเอง
3.ระบบและวิธีการที่เข้ากันได้ดีกับสไตล์ของนักเตะ
4.ประสบการณ์ ! ความผิดพลาดในช่วงปลายปี ช่วยให้ ฟลิค เรียนรู้และนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น หนึ่งในตัวอย่างคือกุนซือเยอรมันพยายามโรเตชั่นทีมทุกครั้งที่มีโอกาส
5.ความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมภายในทีม ไม่มีทางที่นักเตะจะวิ่งแบบลืมตาย ถ้ากุนซือไม่ได้ใจพวกเขา
ปล. บทความในส่วนของ มาดริด เดี๋ยวมีมาให้ติดตามในโอกาสหน้าครับ
#เจมส์ลาลีกา