อาร์เซน่อลคือเจ้าแห่งเอฟเอ คัพ.. และในภาพรวมนี่คือรายการของทีมใหญ่
ทีมปืนใหญ่คือทีมที่เข้าชิงเอฟเอ คัพ มากที่สุดร่วมกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือ 21 ครั้ง แต่คว้าแชมป์ไปครองได้ 14 สมัย มากกว่าทีมปีศาจแดง 2 สมัย
ถัดลงไปคือ เชลซี ลิเวอร์พูล และ สเปอร์ส ที่คว้าแชมป์ได้ทีมละ 8 สมัยเท่ากัน แต่ในจำนวน 3 ทีมนี้ประสิทธิภาพของสเปอร์สดีที่สุดเพราะแพ้นัดชิงแค่หนเดียวเท่านั้น (เชลซีแพ้ 8 ลิเวอร์พูลแพ้ 7)
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์เก่าเอฟเอ คัพ ฤดูกาลที่แล้วได้แชมป์สมัยที่ 7 จากการเข้าชิง 12 ครั้ง ขณะที่ แอสตัน วิลล่า เข้าชิง 11 ครั้งได้แชมป์ 7 สมัยเท่าทีมเรือใบสีฟ้า เพียงความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 ทีมคือ แอสตัน วิลล่า กวาดช่วงแรก ซิตี้มาไล่เก็บช่วงหลัง
แชมป์เอฟเอ คัพ ของ แอสตัน วิลล่า หยุดมาตั้งแต่ปี 1957 วันที่พวกเขาโค่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เวมบลีย์ได้แชมป์สมัยที่ 7 ในปีนั้น ทีมสีฟ้าแห่งเมนโร้ดเพิ่งจะได้แชมป์แค่ 3 สมัยเท่านั้นเอง
แต่ในรอบ 12 ปีล่าสุด แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เข้าชิง 4 ครั้ง ได้แชมป์เพิ่มอีก 3 สมัย เมื่อบวกกับแชมป์ปี 1969 เข้าไปด้วยก็กลายเป็น 7 สมัยในปัจจุบัน
นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด กับ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ทีมละ 6 สมัย หากก็เป็นลักษณะเดียวกับ แอสตัน วิลล่า คือเกิดขึ้นนานมาแล้ว
แชมป์ครั้งล่าสุดของทีมสาลิกาดงเกิดขึ้นเมื่อปี 1955 ขณะที่ของทีมกุหลาบไฟหลุดไปไกลกว่านั้นคือปี 1928 นู่นเลย หรือพูดให้สัมผัสได้ถึงความไกลก็คืออีก 4 ปีเท่านั้นก็จะครบหนึ่งศตวรรษแล้วที่แบล็คเบิร์นได้แชมป์เอฟเอ คัพ หนล่าสุด
เอาเข้าจริงแล้ว แม้ เอฟเอ คัพ จะขึ้นชื่อเรื่องความทรงเสน่ห์มีเหตุการณ์แจ๊คฆ่ายักษ์เกิดขึ้นเป็นพักๆ แต่มันก็เหมือนรายการอื่นๆ ทั่วไปตรงที่สุดท้ายแล้วทีมที่เป็นแชมป์มักจะเป็นทีมตัวเต็งหรือที่อยู่ในกลุ่มตัวเต็งเสมอ
ม้านอกสายตาคว้าแชมป์มีไหม.. มันก็มี แต่คิดเป็นสัดส่วนแล้วยังน้อยกว่าทีมใหญ่
รายชื่อต่างๆ ที่ไล่เรียงมาก็บอกภาพนี้ชัดเจน อาร์เซน่อล 14 แมนฯ ยูไนเต็ด 12 เชลซี 8 ลิเวอร์พูล 8 สเปอร์ส 8 แมนฯ ซิตี้ 7 แอสตัน วิลล่า 7 นิวคาสเซิ่ล 6 แบล็คเบิร์น 6..
ในทุกๆ ปีมักจะมีทีมใหญ่ผ่านเข้าชิงเสมอ บางปีชิงกันเอง บางปีชิงกับทีมรอง บางปีชิงกับม้านอกสายตา
ลองกวาดตาดูย้อนขึ้นไปในประวัติศาสตร์เอฟเอ คัพ ก็ได้ครับ ปี 1959 กับ 1960 คือหนล่าสุดที่ทีมใหญ่ไม่ได้เข้าชิง 2 ปีติดต่อกัน น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ชิงกับ ลูตัน ทาวน์ ปี 1959 วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ชิงกับ แบล็คเบิร์น ปี 1960
นับจากนั้นเป็นต้นมากินเวลา 63 ปี เอฟเอ คัพไม่เคยเห็นทีมใหญ่พลาดเข้าชิง 2 ปีติดต่อกันเลย เต็มที่คือหลุดไปแค่ปีเดียว แต่ปีต่อมาจะต้องมีทีมใหญ่สักทีมกลับมาเข้าชิงเสมอ
คำว่าทีมใหญ่ทีมเล็กในที่นี้ย่อมขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในหน้าประวัติศาสตร์ ทีมใหญ่ ณ ตอนนี้อาจเป็นแค่ทีมเล็กเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ทีมเล็กในเวลานี้อาจเป็นมหาอำนาจฟุตบอลเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน แต่ชื่ออย่าง อาร์เซน่อล ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นตัวแทนที่ชัดเจนสำหรับสถานะทีมใหญ่ รวมถึง สเปอร์ส กับ เอฟเวอร์ตัน ในยุค 30-40 ปีก่อน และ เชลซี กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
6-7 ชื่อนี้คือทีมที่แวะเวียนไปทักทายนัดชิงเอฟเอ คัพเสมอ ไม่ทีมนี้ ก็ทีมนั้น ไม่ทีมนั้น ก็ทีมนู้น ทีมโน้น
วีรกรรมแจ๊คฆ่ายักษ์เกิดขึ้นให้ฮือฮาอยู่เรื่อยๆ ก็จริง แต่มันมักจะกระจายไปในรอบต่างๆ ไล่มาตั้งแต่รอบสาม รอบสี่ รอบห้า รอบ 8 ทีมสุดท้าย รอบรองชนะเลิศ..
และถ้ามันไม่ได้เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ "แจ๊ค" คนนั้นก็จะไม่ได้รับการบันทึกว่าเป็นแชมป์อยู่ดี..
วัตฟอร์ด เข้าชิงปี 2019 แพ้ แมนฯ ซิตี้ 0-6.. คริสตัล พาเลซ เข้าชิงปี 2016 แพ้ต่อเวลา แมนฯ ยูไนเต็ด..
ฮัลล์ ซิตี้ เข้าชิงปี 2014 แพ้ต่อเวลา อาร์เซน่อล.. สโต๊ค ซิตี้ เข้าชิงปี 2011 แพ้ แมนฯ ซิตี้ 0-1..
พอร์ทสมัธ เข้าชิงปี 2010 แพ้ เชลซี 0-1.. มิลล์วอลล์ เข้าชิงปี 2004 แพ้ แมนฯ ยูไนเต็ด 0-3..
ผู้แพ้.. ไม่มีใครจำ
เพราะฉะนั้นปีที่เหตุการณ์แจ๊คโค่นยักษ์เกิดขึ้นในนัดชิงจึงเป็นเหตุการณ์ชนิดแรร์ไอเท็ม หาได้ยากเย็นยิ่งนัก เอาแค่เท่าที่เคยได้สัมผัสกับมันโดยตรงก็เห็นจะมีแค่ 2 หนเท่านั้นเองคือปี 1988 ที่ วิมเบิลดัน ชนะ ลิเวอร์พูล และปี 2013 ที่ วีแกน แอธเลติก ชนะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้
เมื่อฟุตบอลอังกฤษเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคบิ๊กโฟร์ช่วงทศวรรษ 2000 จากการเข้ามาของ โรมัน อบราโมวิช แห่งเชลซี ต่อเนื่องมาถึง ชี้คมานซูร์ ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ช่วงรอยต่อทศวรรษ 2010 และขยายวงจากบิ๊กโฟร์เป็นบิ๊กซิกซ์ เอฟเอ คัพ ก็แทบจะเป็นเรื่องระหว่างทีมใหญ่ด้วยกันเอง
นัดชิงปี 2008 ที่ พอร์ทสมัธ ชนะ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จึงกลายเป็นไข่แดงดวงเล็กๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยไข่ขาวขนาดมหึมา มันคือนัดชิงเดียวในรอบ 40 ปีที่ไม่มีทีมใหญ่ในกลุ่มบิ๊กซิกซ์ (แมนฯ ยูฯ เชลซี อาร์เซน่อล ลิเวอร์พูล แมนฯ ซิตี้ สเปอร์ส) มีส่วนร่วมกับนัดชิงเลย
เอาปี 2008 เป็นตัวตั้ง นับย้อนขึ้นไป 24 ปีจนถึงปี 1984 ที่ เอฟเวอร์ตัน ชิงกับ วัตฟอร์ด และนับไล่ลงมาอีก 15 ปีคือเมื่อฤดูกาลที่แล้วซึ่งยังอาจจะนับต่อไปเรื่อยๆ ได้อีก
หรือถ้านับเอฟเวอร์ตันในฐานะเป็นทีมใหญ่ในยุค 1980 ด้วย ก็เท่ากับนัดชิงปี 2008 เป็นครั้งเดียวในรอบ 49 ปีที่ไม่มีทีมใหญ่โผล่เข้าไปถึงนัดชิงเลยนับตั้งแต่ปี 1975 ที่ เวสต์แฮม ทุบ ฟูแล่ม ที่เวมบลีย์
กล่าวโดยสรุปสั้นๆ อีกครั้ง เอฟเอ คัพ อาจจะมีเกมพลิกล็อกเกิดขึ้นอยู่บ้างประปรายตามรายทางและเป็นมนต์เสน่ห์ที่น่าภาคภูมิใจ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ทีมใหญ่ในกลุ่มแค่ 5-6 ทีมก็จะตีตั๋วเข้าชิงอย่างน้อยหนึ่งทีมเสมอ หลายครั้งเป็นการชิงกันเอง แบ่งปันแชมป์กันเอง
ว่ากันตามสถิติ เอฟเอ คัพ ฤดูกาลนี้เราจึงยังมีโอกาสสูงลิบที่จะได้เห็นทีมใหญ่เข้าชิงเหมือนเดิม โอกาสพอๆ กันระหว่างชิงกันเองกับเข้าชิงอย่างน้อยหนึ่งทีม
นับจากปี 2008 เป็นต้นมา ทีมใหญ่เข้าชิงกันเอง 6 ครั้ง ทีมใหญ่ชิงกับทีมรอง 9 ครั้ง ในจำนวนนี้มีทั้งทีมชั้นดีอย่าง แอสตัน วิลล่า เลสเตอร์ ซิตี้ เอฟเวอร์ตัน และทีมม้านอกสายตาอย่าง พอร์ทสมัธ สโต๊ค ซิตี้ วัตฟอร์ด คริสตัล พาเลซ ฮัลล์ ซิตี้ และ วีแกน แอธเลติก
ทีมรองเหล่านี้มีทั้งที่ทำได้สำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ที่ไม่เคยขาดเลยจริงๆ คือการเข้าชิงของบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ เหมือนเป็นอะไรบางอย่างที่การันตีกับเรา
บางทีในช่วงเวลาที่เราไม่ค่อยได้ตื่นเต้นกับเอฟเอ คัพเหมือนก่อน ถ้าจับพลัดจับผลูทีมรักของตัวเองตกรอบ ลองเปลี่ยนมาเชียร์ทีมรองให้หักด่านเข้าชิงกันเองก็อาจจะเพิ่มอรรถรสของการรับชมฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกรายการนี้ได้เหมือนกันนะครับ
แม้มันจะยากในระดับ 50 ปีมีครั้ง.. แต่อย่างน้อยคืนนี้ก็จะมียักษ์ใหญ่ตกรอบแน่ๆ หนึ่งทีมล่ะ ไม่ อาร์เซน่อล ก็ ลิเวอร์พูล..
ตังกุย