เอฟเอ คัพ.. ในวันจางๆ

เอฟเอ คัพ.. ในวันจางๆ
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบสาม หลายคนถือมันเป็นสัปดาห์เบาๆ สบายๆ ว่างเว้นจากฟุตบอลลีกให้ผ่อนคลายความตึงเครียดกันบ้าง

มันเป็นอย่างนี้มาพักใหญ่ๆ แล้วล่ะครับ ความสนใจในเอฟเอ คัพ จะเริ่มมีขึ้นจริงๆ ก็น่าจะเมื่อเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายแถวๆ นั้นเพราะมันใกล้รอบรองฯ รอบชิง

จะว่าไปความสำคัญของเอฟเอ คัพ แทบจะไม่ต่างไปจากฟุตบอลลีก คัพแล้วด้วยซ้ำ ทีมใหญ่หรือกระทั่งทีมระดับกลางหรือเล็กในพรีเมียร์ลีกบางครั้งเลือกพักผู้เล่นตัวหลักในเอฟเอ คัพ เพื่อเน้นผลงานในลีกมากกว่า

อารมณ์ของแฟนบอลก็ไม่ได้รู้สึกจริงจังกับมันเท่าเกมลีก เว้นแต่ถ้าทีมบุกตะลุยเข้ารอบลึกๆ ได้ก็อาจมีเสียดายอยู่บ้างถ้าต้องตกรอบ

เอฟเอ คัพ เป็นรายการใหญ่มีศักดิ์ศรี โปรแกรมเตะจะเป็นช่วงวีกเอนด์หรือสุดสัปดาห์เสมอ เกมลีกเป็นฝ่ายต้องหลบให้ ยกเว้นนัดแข่งใหม่ที่จะเล่นช่วงมิดวีกหรือกลางสัปดาห์

เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่พักหลังๆ เราเริ่มได้เห็น เอฟเอ คัพ เป็นฝ่ายต้องขยับหลบไปเตะช่วงกลางสัปดาห์กันบ้างแล้วในบางรอบ บางคนอาจไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่สำหรับบางคนที่ผูกพันกับมันมาในแบบที่เห็นกันมาตลอดมันก็ไม่ใช่เรื่องเล็กอยู่เหมือนกันเพราะเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงได้ดี

เตะทับซ้อนกับเกมลีกได้ เพราะในรอบลึกๆ ทีมจากลีกสูงสุดเหลือไม่มาก ทีมไหนยังมีโปรแกรมเตะเอฟเอ คัพ ก็ฟาดแข้งกันไปเสาร์อาทิตย์ ทีมไหนตกรอบไปแล้วก็ลงเตะเกมลีกในสัปดาห์นั้นควบคู่กันไป ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้นแต่ไม่เคยเลยที่เอฟเอ คัพ จะต้องหลบไปเตะกลางสัปดาห์แบบยกพวง

หากก็นั่นล่ะครับ มันก็เกิดขึ้นแล้วในที่สุด..

ฤดูกาล 2019/20 ทั้ง 8 เกมในรอบห้าหรือรอบ 16 ทีมสุดท้ายถูกส่งไปเล่นกลางสัปดาห์ทั้งหมดโดยกระจายกันเตะอังคาร-พุธ-พฤหัสฯ นั่นคือครั้งแรกในประวัติศาสตร์เอฟเอ คัพ ที่ทุกเกมในรอบนั้นๆ ถูกโยนไปลงช่วงกลางสัปดาห์

มีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นอยู่เหมือนกันแต่มาถึงวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว เช่นเดียวกับกติกาให้เตะใหม่ไปเรื่อยๆ ถ้ายังเสมอกันที่ถูกปรับมาให้เหลือรีเพลย์แค่เกมเดียว

เอฟเอ คัพ ค่อยๆ ทยอยยกเลิกเกมรีเพลย์มาเรื่อยๆ จากนัดชิง (ยกเลิกเกมรีเพลย์เมื่อฤดูกาล 1998/99) ขยายมารอบรองฯ (ยกเลิกเมื่อฤดูกาล 1999/2000) มาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย (ยกเลิกเมื่อฤดูกาล 2016/17) กระทั่งล่าสุดรอบ 16 ทีมสุดท้ายก็ไม่มีแข่งใหม่กันแล้ว (ยกเลิกเมื่อฤดูกาล 2018/19)

ความน่าสนใจของเอฟเอ คัพ ลดลงในทุกๆ แง่ มันมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เงินรางวัลที่ถูกฟุตบอลลีกกับฟุตบอลสโมสรยุโรปทิ้งห่างออกไปทุกที รายการสำคัญๆ เกมใหญ่ๆ ในศึกยุโรปมากมาย การมีเกมดีๆ ลีกดีๆ ให้เลือกรับชมหลากหลาย

มันสะท้อนให้เราเห็นได้จากความเอาจริงเอาจังของทีมที่เข้าแข่งขัน เราได้เห็นกันเรื่อยๆ กับการพักนักเตะตัวหลักบางคนหรือหลายคนของบางทีมซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ ณ เวลานั้น ถ้าไม่ต้องเลือกก็จัดเต็มได้ แต่ถ้าต้องเลือกก็ขออนุญาตเลือกเกมลีกไว้ก่อน

ความเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นอย่างนี้ จากยุคก่อนที่ทุกทีมใส่เต็มที่หมดทั้ง 3 รายการในประเทศ ฟุตบอลลีก - เอฟเอ คัพ - ลีก คัพ ยุค 1980 ยังใช้ตัวจริงแบบเต็มสูบทุกรายการก็เริ่มเหลือแค่เน้นเกมลีกกับเอฟเอ คัพ ที่ใช้ตัวจริงเต็มพิกัด ลีก คัพ ค่อยๆ กลายเป็นรายการของตัวสำรองและดาวรุ่งในยุค 1990 จนมาวันนี้ เอฟเอ คัพ ก็ทำท่าจะถูกกลืนไปอีกรายการ

เอฟเอ คัพ ทุกวันนี้แทบไม่เหลือความรู้สึกตื่นเต้นหรือจริงจังกับการเข้ารอบ-ตกรอบเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ผิดไปจากยุคเอจตีส์และไนน์ตีส์ที่ไม่ว่าจะรอบไหนของมันเราก็ยังรู้สึกได้ถึงอะดรีนาลีนที่พลุ่งพล่าน ลุ้นระทึกไปกับทีมรัก ให้ความสำคัญกับผลการแข่งขันของมันประหนึ่งเป็นการขับเคี่ยวเตะในลีก

จากเกมลีกที่มีคะแนนเป็นเดิมพัน การเข้ารอบ-ตกรอบของเอฟเอ คัพไม่ได้ให้ความเมามันน้อยหน้ากันเลย มันสำคัญพอๆ กัน อาจจะด้วยเงื่อนไขความน่าสนใจในยุคนั้น ข้อจำกัดทางการถ่ายทอดสด โอกาสในการรับชม ตลาดที่ยังไม่เปิดกว้าง เงินรางวัลที่ไม่ได้หนีกันมากนัก รวมๆ กันแล้วมันเอื้อต่อความปรารถนาในโทรฟี่สีเงินยวง

คุณสมบัติที่รับรู้ร่วมกันของเอฟเอ คัพ ก็คือมันเป็นรายการที่เก่าแก่ที่สุด ไม่มีพื้นที่ให้กับผู้แพ้ เสมอเตะใหม่ เสมออีกก็เตะใหม่อีก บางคู่เตะใหม่กัน 3-4 รอบ แถมยังมีเหตุการณ์แจ๊คฆ่ายักษ์เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

เกิดขึ้นทีไรก็เป็นข่าวใหญ่ไปหลายวัน นี่คือมนต์เสน่ห์ของมัน

สิ่งต่างๆ เหล่านั้นยังคงมีอยู่ ทีมใหญ่ยังมีสะดุดพ่ายทีมเล็กอยู่ การรายงานข่าวก็ยังมีอยู่ แต่มันไม่เขย่าอารมณ์เหมือนก่อนอีกแล้ว แทบไม่ต้องยกเกมไหนในรอบไหนมาอ้างอิงเลย เพราะขนาดเกมที่ วีแกน แอธเลติก โค่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์อย่างเหลือเชื่อเมื่อปี 2013 ยังแทบไม่ได้อยู่ในการจดจำ ยิ่งไม่ต้องเปรียบเทียบกับนัดชิงสุดคลาสสิกแห่งปี 1988 ที่วิมเบิลดันเอาชนะลิเวอร์พูลเลย

ในวันนี้คนที่ยังรักและศรัทธาในเอฟเอ คัพ ยังคงมี แต่ในภาพรวมแล้วมันก็คงเป็นสังคมที่เล็กลงกว่าเดิม

คนที่เคยอินกับมันคงได้แต่ทำใจและถอนหายใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับฟุตบอลรายการนี้ มองไปข้างหน้าไม่เห็นหนทางกระตุกมันให้กระเตื้องขึ้น แนวโน้มมีแต่จะเดินไปสู่ทางที่ลาดลง

หลายคนโดยเฉพาะที่รู้จักเอฟเอ คัพกันมาตั้งแต่ยุค 1980 คงจะรู้สึกคล้ายๆ กันนะครับ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอก เพราะเวลามันผ่านมาร่วมๆ สี่สิบปีเข้าไปแล้วนี่นะ..

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport