แล้วคนที่เชื่อมโยงแฟนบอลกลุ่มหนึ่งเข้ากับความคลาสสิกแห่งวันวานก็จากไปอีกคน อันเดรียส เบรห์เม่..
แฟนบอลในรุ่นราวคราวเดียวกับผมที่ทันฟุตบอลโลก 1986 และ 1990 คงรู้สึกใจหายเป็นพิเศษกับข่าวการจากไปของเบรห์เม่ ด้วยความที่แบ๊กซ้ายผู้แข็งแกร่งคนนี้โลดแล่นอยู่บนผืนหญ้าในช่วงเวลานั้น
ได้เห็นเขาในฟุตบอลโลกที่อิตาลี จุดโทษจากตีนขวาข้างไม่ถนัดที่พาทีมชาติเยอรมันตะวันตกคว้าแชมป์โลกสมัยที่สาม ได้เห็นเขาผนึกกำลังกับ โลธ่าร์ มัทเธอุส และ เจอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ เป็นสามทหารเสือด๊อยท์ชที่ อินเตอร์ มิลาน วัดกำลังกับสามทหารเสือดัตช์แห่ง เอซี มิลาน
คิดถึงขึ้นมาเมื่อไหร่ก็คลาสสิก เรียกรอยยิ้มกลับมาเปื้อนหน้ากับความทรงจำที่เลือนๆ ไปแล้ว
หลายคนจำเบรห์เม่ได้จากการยิงประตูโทนในนัดชิงฟุตบอลโลก 1990 แต่อาจจะลืมไปว่าเขาก็ยิงประตูสำคัญให้ทีมชาติเยอรมันตะวันตกในรอบรองชนะเลิศทั้งปี 1986 และ 1990 ด้วย
เท่ากับว่าแบ๊กซ้ายคนนี้ทำประตูในรอบรองฯ ฟุตบอลโลก 1986 และยังยิงได้อีกทั้งในรอบรองฯ และนัดชิงฟุตบอลโลก 1990.. เป็นสถิติที่กองหน้าหลายคนยังต้องมองค้อน
สำหรับผมที่ยังเชียร์ทีมไกเซอร์สเลาเทิร์นแห่งเยอรมันอีกทีมด้วยก็ยิ่งรู้สึกผูกพันกับ เบรห์เม่ ขึ้นไปอีก จากดาวรุ่งในวัย 21 ปีสู่การเป็นแบ๊กซ้ายชั้นนำของประเทศ เมื่ออายุ 26 กำลังจัดจ้านท็อปฟอร์มเต็มที่ก็ย้ายไปผจญภัยในโลกที่ใหญ่ขึ้นกับทั้ง บาเยิร์น มิวนิค อินเตอร์ มิลาน และ เรอัล ซาราโกซ่า ก่อนจะหวนคืนสู่ถิ่นเบทเซนแบร์กที่เคยสร้างชื่ออีกครั้งในวัย 33
ทุ่มเทช่วยทีมปีศาจแดงอย่างเต็มที่อีก 5 ปีเต็ม กระทั่งตกชั้นก็ยังอยู่ร่วมหัวจมท้ายไม่ทิ้งทีมไปไหน ก่อนจะทิ้งทวนอย่างเป็นตำนานด้วยการอยู่ในทีมชุดประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังเยอรมัน เลื่อนชั้นจากลีกาสองขึ้นมาแล้วกระชากโล่แชมป์บุนเดสลีกาไปครองทันทีทั้งที่เป็นทีมน้องใหม่
ไม่ว่าใครก็คงไม่ลืมความมหัศจรรย์ของทีมปีศาจแดงแห่งเบทเซนแบร์กของ อ๊อตโต้ เรห์ฮาเก้ล ในฤดูกาล 1997/98 คราวนั้น
ที่บ้านเก่าผมมีโปสเตอร์ทีมไกเซอร์สเลาเทิร์นฤดูกาล 1997/98 ติดอยู่หลังประตูตู้เสื้อผ้า ถ้าจำไม่ผิดซื้อมาจากร้านสตาร์ซอคเก้อร์สาขาพันธุ์ทิพย์ เห็นปุ๊บก็ซื้อปั๊บเลยด้วยความเป็นทีมที่ตามเชียร์มาตั้งแต่ครั้งโค่น บาเยิร์น มิวนิค คว้าแชมป์บุนเดสลีกาฤดูกาล 1990/91 ที่มี "ไอ้ตำรวจ" สเตฟาน คุนท์ซ เป็นตัวชูโรง
เปิดตู้หยิบเสื้อใส่เมื่อไหร่ก็ได้ยักคิ้วทักทายขุนพลชุดสร้างปรากฏการณ์ทุกคนที่อยู่ในโปสเตอร์แผ่นนั้น
ซิริอาโก้ สฟอร์ซ่า, มิโรสลาฟ คาดเล็ช, มาริยัน ฮริสตอฟ, อันเดรียส ไรน์เค่, มาร์ติน ว้ากเนอร์, พาเวล คูคา, ราตินโญ่, มิชาเอล เชินแบร์ก, อันเดรียส บุค, โธมัส รีเดิล, มาร์โค ไรช์, อั๊กเซิล รูส
มิชาเอล บัลลัค กองกลางดาวรุ่งไฟแรงอายุแค่ 21 ปี
คิงอ๊อตโต้กับรอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา
และแน่นอน อันเดรียส เบรห์เม่ พี่ใหญ่ในวัย 38 กะรัต
ฉายา "เลียวพาร์ด ซไว" หรือ "เลียวพาร์ดสอง" คงไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย ความแข็งแกร่งดุดันสมบูรณ์แบบวิ่งขึ้นลงไม่มีหมดของเบรห์เม่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Leopard 2 รถถังรุ่นที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของกองทัพเยอรมัน และมันช่างดูสอดคล้องเหมาะเจาะเหลือเกิน
ในวันที่ เบรห์เม่ จากไป ผมคิดถึงวันที่เขายังมีบทบาทอยู่ในวงการลูกหนัง
แน่นอนครับด้วยความที่เป็นแฟนบอลไกเซอร์ฯ ผมจึงรู้สึกดีกับเขาเป็นพิเศษ เบรห์เม่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับไกเซอร์ฯ เลยด้วยซ้ำ เขาเกิดที่ฮัมบูร์ก เติบโตที่ฮัมบูร์ก เริ่มต้นอาชีพฟุตบอลก็กับทีมท้องถิ่นในเมืองฮัมบูร์กที่ชื่อ บาร์มเบ็ค-อูห์เลนฮอร์สท์
เมืองฮัมบูร์กทางตอนเหนือกับเมืองไกเซอร์สเลาเทิร์นทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอยู่ห่างกัน 600 กิโลเมตร แต่สุดท้ายเส้นทางลูกหนังก็นำพา เบรห์เม่ ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร
จาก ฮัมบูร์ก สู่ ซาร์บรุ๊คเค่น และในที่สุดก็เป็น ไกเซอร์สเลาเทิร์น โดยกุนซือ คาร์ล-ไฮนซ์ เฟลด์คัมพ์ ที่มอบโอกาสให้เขาสร้างชื่อให้ตัวเองและก้าวขึ้นไปติดทีมชาติเยอรมันตะวันตกภายใต้การทำทีมของปรมาจารย์ จุ๊ปป์ แดร์วัลล์ เมื่อปี 1984 ทันเวลาร่วมทีมอินทรีเหล็กไปลุยศึกยูโร 1984 ที่ฝรั่งเศสพอดี
แล้วนับจากนั้น เบรห์เม่ ก็เป็นสมาชิกถาวรของทีมชาติเยอรมันตะวันตก แม้บังเหียนจะถูกถ่ายโอนจาก แดร์วัลล์ ไปยัง ฟร้านซ์ เบ็คเค่นเบาเออร์ ก็ตาม ศึกใหญ่ทุกรายการมีชื่อแบ๊กซ้ายจาก ไกเซอร์สเลาเทิร์น-บาเยิร์น มิวนิค-อินเตอร์ มิลาน-เรอัล ซาราโกซ่า และ ไกเซอร์สเลาเทิร์น อีกรอบผู้นี้อยู่ในทีมแบบอัตโนมัติทั้งสิ้น
ฟุตบอลโลก 1986 ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1988 ฟุตบอลโลก 1990 ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1992 ฟุตบอลโลก 1994
ติดทีมยอดเยี่ยมศึกยูโร 88 และ 92 แม้จะไม่ได้แชมป์ ติดทีมยอดเยี่ยมฟุตบอลโลก 1990 ที่เขาไม่เพียงเป็นแชมป์โลกเท่านั้นแต่ยังเป็นคนทำประตูเดียวของเกมในนัดชิงชนะเลิศกับอาร์เจนติน่าที่กรุงโรมอีกด้วย
นอกจากจุดโทษลูกนั้นของเบรห์เม่ เขายังยิงฟรีคิกทำประตูให้เยอรมันตะวันตกได้ในรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกทั้งปี 1986 และ 1990 ด้วย
ปี 1986 ยิงใส่ฝรั่งเศสในประตูขึ้นนำ 1-0 ส่วนปี 1990 ก็ยิงใส่อังกฤษในประตูขึ้นนำ 1-0 เช่นกัน ทั้งยังเป็นฟรีคิกลักษณะเดียวกันเป๊ะ คือนอกเขตโทษฝั่งขวา มีเพื่อนเขี่ยเปลี่ยนจุดให้ แล้ว "ไอ้เลียวพาร์ดสอง" ก็วิ่งเข้ามาหวดด้วยซ้ายหนักๆ เน้นๆ
กระนั้นสำหรับ อันเดรียส เบรห์เม่ แล้ว คงไม่มีการจดจำไหนชัดเจนไปกว่าลูกจุดโทษท่ามกลางผู้ชม 73,603 คนในสนามโอลิมปิก สเตเดี้ยมกรุงโรม และอีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลกลูกนั้นอีกแล้ว
นาทีที่ 85 ขณะที่เกมยังเสมอกันอยู่ 0-0 เยอรมันตะวันตกได้จุดโทษจากจังหวะที่ รูดี้ โฟลเลอร์ ถูก เนสเตอร์ เซนซินี่ ทำฟาวล์ เบรห์เม่รับมอบหมายภารกิจจาก โลธาร์ มัทเธอุส เพชฌฆาตหมายเลขหนึ่งในการยิงจุดโทษของทีมให้ทำหน้าที่แทนเพราะ "ซูเปอร์แมน" เพิ่งจะเปลี่ยนรองเท้าใหม่ช่วงพักครึ่งจึงต้องการลบความเสี่ยงทั้งหมดทิ้ง
เบรห์เม่สังหารผ่านมือ เซร์คิโอ กอยโกเชีย เข้าไปไม่พลาด บอลจากเท้าขวาของเขาพุ่งเรียดเบียดเสาขวามือของจอมป้องกันจุดโทษของอาร์เจนติน่าเข้าไปอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งน้ำหนัก และทิศทาง
ทั้งที่เขาเป็นแบ๊กซ้าย ถนัดซ้าย แต่ยิงจุดโทษที่สำคัญที่สุดในชีวิต แบกความหวังของเพื่อนร่วมชาติด้วยเท้าขวา แน่นอนครับเมื่อเล่นฟุตบอลเบรห์เม่สามารถเล่นได้ทั้ง 2 เท้าและย่อมมั่นใจในเท้าขวาของตัวเองไม่แพ้กันจึงเลือกใช้เท้าข้างนั้นยิงประตูนั้น
กับคนที่ถนัดขวาตลอดทาง ซ้ายยิงหนักเท่าแมวดมอย่างผมให้นั่งนึก นอนนึก ตีลังกานึกอย่างไรก็คงไม่มีวันเข้าใจได้จริงๆ ว่าการถนัดทั้ง 2 เท้านั้นมันเป็นอย่างไร แล้ว อันเดรียส เบรห์เม่ มั่นใจขนาดนั้นได้อย่างไรกับการยิงจุดโทษด้วยเท้าขวาในนัดชิงฟุตบอลโลกที่เหลือเวลาเพียง 5 นาที
คงมีเพียงคนที่ถนัด 2 เท้าแบบชั่งน้ำหนักมาเท่าๆ กันกระมังที่เข้าใจ
มีการเปิดเผยในภายหลังว่า สำหรับเบรห์เม่แล้ว ถ้าเลือกความหนักหน่วงก็จะยิงด้วยเท้าซ้าย แต่ถ้าเลือกความแม่นยำก็จะยิงด้วยเท้าขวา
ซ้ายหนักกว่า แต่ขวาแม่นกว่า ทำนองนั้น ย้อนกลับไปดูประตูที่เขาพาทีมอินทรีเหล็กเป็นแชมป์โลกอีกครั้งก็คงไม่มีคำถามอะไรอีกแล้วกระมังว่า ไอ้ที่บอกว่าแม่นน่ะ แม่นแค่ไหน..
แด่ อันเดรียส เบรห์เม่.. เรียบง่าย แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพ สู่สุคติครับ
ตังกุย