58 years of hurt and still counting จากแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 จนล่าสุด "รองแชมป์ยูโร" สองสมัยติด
"สิงโตสามตัว" ทำได้แค่เกือบเท่านั้น
"แชมป์" ฟุตบอลระดับทีมชาติของพวกเขาจะเกิดขึ้นก่อนหรือทีมชาติไทยจะไปบอลโลกก่อน
คุณว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นก่อนกัน
ย้อนยุคไปยังยุค 70,80,90 คงแปลกใจ ว่าเอ๊ะทำไม ทีมชาติอังกฤษถึงล้มเหลว ทั้งที่ทีมสโมสรของพวกเขาผงาดขึ้นครองเจ้ายุโรปอันเป็นดัชนีชี้วัดว่าสโมสรอังกฤษไปถึงแชมป์ถ้วยใหญ่ของทวีปแล้ว ทีมชาติก็น่าจะทำได้สิ
ตามหลักการสโมสรแข็งแรง ทีมชาติแข็งแกร่ง
วันนี้ความแปลกใจนั้นแทบไม่มีเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าสโมสรตัวแทนอังกฤษจะยังคงโลดแล่นในเวทียุโรปอยู่เรื่อยๆ
เพียงแต่ว่า 58 ปีแห่งความเจ็บปวดนั้นต้องยุติลงซะที เมื่อศาสตร์ลูกหนังพัฒนากันมากขึ้น เรียนรู้วิธีการเล่นได้ในระดับใกล้เคียงกัน
คำถามที่ว่า...เกิดอะไรขึ้นกับชาติที่คิดค้นการเล่นฟุตบอลชาติแรกของโลกใบนี้
ชาติที่มีกลุ่มคนคิดค้นกติกา 17 ข้อของฟุตบอล กลับต้องมานั่งชื่นชมความสำเร็จของประเทศที่เริ่มต้นเล่นฟุตบอลทีหลัง พร้อมทั้งเจ็บปวดกับความล้มเหลวของตัวเองนานเกือบ 60 ปี
บอลโลกครั้งหน้าจะครบแซยิดแห่งความล้มเหลวสิงโตคำราม หากพลาดอีก
นั่นสิ...เหมือนชาติอื่นเอาฟุตบอลที่คนอังกฤษประดิษฐ์คิดค้นไปเล่น แต่กลับพัฒนาต่อยอดได้ดีกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า ส่วนตัวเองนั้นย่ำเท้าอยู่กับที่....ไม่ไปไหนซะที
แม้วันนี้ "พรีเมียร์ลีก" จะเป็นลีกที่ "ร่ำรวย" ทางธุรกิจและโด่งดังไปทั่วโลกก็ตาม
อย่างไรก็ตาม....ไม่ใช่ว่าคนในวงการฟุตบอลอังกฤษจะไม่รู้ ไม่เห็น โดยเฉพาะองค์กรผู้รับผิดชอบอย่างสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA พยายามอย่างยิ่งที่จะพัฒนาฟุตบอลของพวกเขาให้ก้าวไปถึงขั้นประสบความสำเร็จระดับทีมชาติ
จากชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 เปลี่ยนแปลงนายกสมาคมฟุตบอลไปแล้วทั้งรักษาการและประจำ 12 คน จนล่าสุดได้นายกสมาคมหญิงคนแรกไปเมื่อปี 2022 เดบบี ฮิวอิตต์ (สุภาพสตรีที่ยืนข้างเจ้าชายวิลเลียมส์ บนเวทีมอบถ้วยยูโร)
ผู้จัดการทีมจากเซอร์ อัล์ฟ แรมซีย์ จนแกเรธ เซาธ์เกต รวม 11 คน
แชมป์ทั้งยูโรและบอลโลก = 0
58 ปีของการเปลี่ยนแปลงยังคงดำเนินไปด้วยความเจ็บปวดสำหรับชาติแรกที่คิดค้นฟุตบอลมาเตะกันบนโลกใบนี้
อย่างไรก็ตาม....ในความพยายามนั้นมันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ยังไม่เห็นผลเชิงรูปธรรมมากนัก แต่มันมีแนวโน้ม หลังจาก FA วางโครงการระยะยาวพัฒนาฟุตบอลภายในให้คู่ขนานไปกับยุคพรีเมียร์ลีกหรือเมื่อ 32 ปีที่แล้ว
เพียงแต่พวกเขาเริ่มต้นแบบจริงจังหลังฟุตบอลโลก 1998 จนล่าสุดนี่แหละ
1 แผน 20 ปีพัฒนาฟุตบอลFA
หนึ่งในคนที่ต้องให้เครดิตมากๆคือ โฮเวิร์ด วิลกินสัน อดีตผ.จ.ก. ลีดส์ ยูไนเต็ดผู้พา "ยูงทอง" คว้าแชมป์ครั้งสุดท้ายก่อนดิวิชั่นหนึ่งเดิมเปลี่ยนเป็นพรีเมียร์ลีกในปี 1992 และเป็นผู้ที่กล้าขาย เอริก คันโตนา จากลีดส์ มายัง แมนฯยูไนเต็ด จนเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ปีศาจแดงเมื่อ พ.ย. 1992
วิลกินสัน รับตำแหน่งประธานเทคนิค FA เมื่อปี 1997 ดูแลเรื่องโค้ชชิ่งและการฝึกซ้อมทุกกลุ่มอายุของฟุตบอลอังกฤษให้กับสมาคม วิลโก้ มีหัวก้าวหน้า เขาศึกษา "ลา มาเซีย" ศูนย์ฝึกฟุตบอลเยาวชนบาร์เซโลนาที่โด่งดังมากขึ้นในยุค โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานลูกหนังผู้ล่วงลับชาวดัชท์ ที่เป็นทั้งอดีตนักเตะและโค้ชบาร์ซ่า ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเน้น "พัฒนาเยาวชน" และมาปฏิรูป ลา มาเซีย ซะใหม่ช่วงปลายยุค 80
วิลกินสัน ผลักดันให้ FA สร้างศูนย์ฝึกระดับมาตรฐานโลก โดยใช้พิมพ์เขียวจากศูนย์ฝึกซ้อมแห่งชาติของสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส (Clairefontaine) เป็นแม่แบบ พร้อมกับการศึกษาดูงานของสมาคมฟุตบอล เยอรมนี DFB,อิตาลี FISG , สเปน RF รวมทั้งที่สมาคมฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ KNVB
เรียกว่ายอมถอยหลังสองสามก้าวเพื่อเดินหน้า
เป้าหมายเมื่อปี 1998 คือ
สร้างโค้ชอังกฤษรุ่นใหม่
พัฒนานักเตะเยาวชนอังกฤษ
โดยเมื่อก่อนFA มี โรงเรียนฟุตบอลสมาคมที่ Lilleshall Hall (ลีลส์แชล)
และศูนย์ฝึกฟุตบอลทีมชาติที่ บิแชม แอบบีย์ แต่โครงการสร้างศูนย์ฝึกซ้อมใหม่ภายใต้แรงผลักดันของ วิลกินสัน ผ่านงานวิจัย จึงเกิดขึ้นที่ เบอร์ตัน อะพอน เทรนต์ แถบภาคกลางละแวกป่าดำอังกฤษ
เริ่มจากซื้อที่ปี 2000 จากนั้นศึกษาจนได้โครงสร้าง บวกกับติดขัดเรื่องงบประมาณ เพราะเงินต้องใช้ปรับปรุงเวมบลีย์ใหม่ ส่วนหนึ่ง ก่อนลงมือก่อสร้างในพื้นที่ 330 เอเคอร์(830 ไร่) ใน 10 ปีหลังจากนั้น
แค่จะสร้างศูนย์ฝึกซ้อมแห่งชาติ มีแผนระยะยาว กว่าจะเสร็จสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นในปี 2012 จึงเปิดใช้งานในชื่อ St George's Park National Football Centre
สนามมาตรฐานระดับโลก 12 สนาม ทั้งหญ้าจริง หญ้าเทียม โดยหนึ่งใน 12 ใช้หญ้าแบบเดียวกันกับที่ใช้ในเวมบลีย์ บ้านของทีมสิงโตคำรามยามแข่งขัน
ทีมชาติชาย,หญิงและฟุตซอลทุกชุด ได้ใช้งาน และเป็นศูนย์บัญชาการลูกหนังแห่งชาติอังกฤษในการสร้างโค้ชเพื่อไปพัฒนาฟุตบอลทั่วประเทศ
ผลงานทีมยู17,19 คว้าแชมป์โลก ทีมยู 21 คว้าแชมป์ยูโร
บอลหญิงแชมป์ยูโร2022 และรองแชมป์โลก2023
อย่างเป็นรูปธรรม
2 แผนสร้างฟุตบอลล้มเหลว?
ตัดตอนมาถึงวันนี้ เซาธ์เกต หนึ่งในโค้ชเลือดอังกฤษแท้ๆ ทำงานกับสมาคมฟุตบอลตั้งแต่ปี 2011 ก่อนคุมทีมยู 21 ปี 2013 ต่อด้วยทีมชาติชุดใหญ่ปี 2016 กับผลงาน 102 นัด ในเวลา8 ปี อันดับสี่บอลโลก2018 รอบ 8 ทีมสุดท้ายบอลโลก 2022 รองแชมป์ยูโร 2 สมัยติด
คำถามคือ....แผนพัฒนาบอลอังกฤษได้สร้างโค้ชเลือดอังกฤษแท้ๆ ระดับทอปกี่คน หากเรากวาดตามองไปยังทีมที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก , สโมสรยุโรป ล้วนแล้วแต่เป็นโค้ชต่างชาติทั้งสิ้น
โค้ชอังกฤษเองอยู่คุมทีมกลางตารางและกลุ่มทีมลุ้นท้ายตาราง รอดหรือไม่รอด
ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ คูเปอร์, เอ็ดดี ฮาว, แกรม พอตเตอร์ ล่าสุด ลี คาร์สลีย์ โค้ชยู 21 ....
โค้ชอังกฤษคนสุดท้ายที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดคือ โฮเวิร์ด วิลกินสัน อดีตประธานเทคนิค เอฟเอ ขณะที่เซอร์ อเลกส์ เฟอร์กูสัน เป็นสกอตติช
คำถามคือว่า....เซาธ์เกต ถือว่าเป็นหนึ่งในผลผลิตของ เอฟเอ แต่สิ่งที่ทำได้ดีสุดคือ "รองแชมป์ยูโร" 2สมัย และเป็นโค้ชที่ดีสุดในแง่ผลงานกับทีมชาตินับจากบอลโลก 1966
แผนพัฒนาล้มเหลว??? หรือว่าต้องไปต่อ เพราะการสร้างฟุตบอลไม่มี "ลิฟต์"
3 เอ็ดดี ฮาว "ขวัญใจมหาชน"
ณ จุดนี้ สเป๊ก ผ.จ.ก. คนใหม่อังกฤษ ยังเป็น "คนอังกฤษ" มากกว่า "ต่างชาติ"
ชื่อของ พอช, ทูเคิล และ คลอปป์ จึงเป็นเต็ง 4-5-6 โน่นเลย
กระแสล่าสุดหลัง เซาธ์เกต ลาออก สื่อและแฟนบอลอังกฤษ ส่งเสียงเชียร์ เอ็ดดี ฮาว มากกว่า "เต็งหนึ่ง" อย่าง แกรม พอตเตอร์ อดีตผ.จ.ก. เชลซี และไบรท์ตัน ซึ่งตอนนี้ "ว่างงาน" และเป็นหนึ่งในลิสต์ของเอฟเอ เช่นเดียวกันกับ ฮาว ที่ถูกมองว่าจะรับงานแทน แซม อัลลาไดส์ เมื่อปี 2016
ความยากง่าย...ต่างกันเรื่องการติดต่อ
พอตเตอร์ ว่างงาน "คุยง่าย"
ฮาว ยังคุมนิวคาสเซิล แถมค่าจ้างที่นิวคาสเซิล จ่ายรายปี มากกว่าที่ เซาธ์เกต ได้จาก เอฟเอ ดังนั้น เงินชดเชย (อาจจะไม่ต้องจ่าย) แต่เงินค่าจ้างที่ต้องเท่ากับที่นิวคาสเซิลได้ และสัญญาที่จะทำนั้น "ซับซ้อน" กว่า พอตเตอร์ ยกเว้น นิวคาสเซิล ไฟเขียว
ว่ากันว่าทิศทางไปทาง ฮาว และ พอตเตอร์ คือเต็งหนึ่งที่จะคุมทีมต่อ
ไม่ว่าจะเป็น ฮาว หรือว่า พอตเตอร์ สิ่งหนึ่งที่อาจพอมั่นใจได้นั่นคืออังกฤษจะเล่นเกมรุก ในแบบบอลสมัยใหม่มากกว่า เซาธ์เกต
pressing , intensity ในการเล่นเกม คล้ายๆกับที่ ราล์ฟ รังนิก พยายามทำกับออสเตรีย
อีกจุดหนึ่งที่...หลายคนเป็นห่วงคือ ทั้ง ฮาว และ พอตเตอร์ ไม่เคยคุมทีมใหญ่ ไม่เคยผ่านการเป็นแชมป์ จะไหวมั้ยกับทีมชาติ..
ถ้าดู ลูอิส เด ลา ฟูเอนเต้ โค้ชที่ล้มเหลวในการคุมทีมสโมสรและไม่เคยคุมทีมใหญ่ยักษ์ได้แชมป์อะไร ยังทำทีมชาติเป็นแชมป์อย่างมีสไตล์ได้
ประเด็นมันอยู่ที่ "ไอเดีย" ในการทำงานที่ปฏิบัติให้เห็นจริง และวิเคราะห์ปัญหาของทีมชาติ และแก้ได้
ยังมีเรื่องรายละเอียดที่แตกต่าง เพราะบอลสเปนระดับเยาวชน, สโมสร ส่วนใหญ่เล่นคล้ายๆกัน ส่วนพรีเมียร์ลีก...และบอลเยาวชนลองนึกภาพดูว่าเล่นบอลเหมือนกันมั้ยท่ามกลางโค้ชชั้นนำระดับโลกเดินชนกันอย่างสนุกสนานในแผ่นดินอังกฤษ
จะฮาว หรือ พอตเตอร์ หรือใครก็ตาม...
ดูจากพื้นฐานการเล่นบอลอังกฤษ
งานใหญ่หลวงครับ...หากมาคุมทีมชาติอังกฤษเพื่อคว้าแชมป์ยูโรหรือว่าแชมป์โลก
JACKIE
ข้อมูลพัฒนาฟุตบอลอังกฤษจาก The FA, Telegraph,BBC
ฟังวิเคราะห์ทางช่องยูทูป JK jackie