คงจะมีนักฟุตบอลเพียงไม่กี่คนนะครับที่มีทัวร์นาเมนต์เป็นของตัวเอง สยบทุกอย่างเอาไว้แทบเท้าด้วยความมหัศจรรย์
ถ้าปี 1986 ทำให้เรานึกถึง ดีเอโก้ มาราโดน่า.. ปี 1984 ก็คงไม่มีทางเป็นคนอื่นนอกจาก มิเชล พลาตินี่
พลาตินี่ในวันนั้นไม่ใช่ดาวรุ่งแล้ว เขาอายุ 29 ปีแล้ว โด่งดังคับวงการแล้ว เขาคือกัปตันทีมชาติฝรั่งเศส เป็นขุนพลของยูเวนตุส ได้รางวัลบัลลงดอร์ ได้แชมป์กัลโช่ เซเรีย อา เป็นดาวซัลโวลีกมะกะโรนี
แทบไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกว่าเอกอุ หมายเลข 10 ข้างหลังเสื้อของเขาคือความงดงามและคู่ควรที่สุด
ฟุตบอลในยุคนั้นหมายเลข 10 ยังมีความหมายอยู่มาก มันคือหมายเลขของจอมทัพ เป็นเพลย์เมกเกอร์ เป็นคนที่เพื่อนมองหา เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์
หากพลาตินี่คือเบอร์ 10 ที่ยิ่งพิเศษขึ้นไปอีกเพราะเขาไม่เพียงสร้างโอกาสทำประตู แต่เขายังยิงประตู..
การหาพื้นที่ทำประตูคือจุดเด่นของ "นโปเลียนลูกหนัง" ตำแหน่งที่เขายืนคือหลังคู่กองหน้าทว่าวิธีการเล่นที่สอดทะลุขึ้นไปหน้าเขตโทษคือความอันตรายที่คู่แข่งรับมือลำบาก ไม่ต้องพูดถึงการเผชิญหน้ากับชั้นเชิงลีลาความปราดเปรียวและการทำประตูได้ทุกรูปแบบของเขา
พลาตินี่ยิงประตูได้ดีทั้งเท้าขวา เท้าซ้าย แม้กระทั่งลูกโหม่ง ขณะที่ฟรีคิกระยะหวังผลเขาคือกระบี่มือหนึ่ง เป็นตัวท็อปของวงการ
กราฟชีวิตนักฟุตบอลของพลาตินี่โลดแล่นอยู่ในพื้นที่สีทองมาตลอด แต่ปี 1984 คือปีทองคำของเขาอย่างแท้จริง
ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 1984 เป็นความมหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่นักฟุตบอลคนหนึ่งจะรังสรรค์มันขึ้นมาได้
แน่นอนครับ เราทราบกันดีว่า ยูโร 1984 คือทัวร์นาเม้นต์ของ มิเชล พลาตินี่ เขายิงได้ 9 ประตูทั้ง ๆ ที่เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุก และเป็น 9 ประตูในทัวร์นาเม้นต์เดียวที่ไม่เคยมีใครทำได้เลยตลอดประวัติศาสตร์ชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
ไม่เคยมีใครทำได้เลย.. ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน
จำนวนเกมที่พลาตินี่ลงสนามในยูโร 1984 คือ 5 เกม รอบแรก 3 เกม รอบรองชนะเลิศ 1 เกม นัดชิงชนะเลิศอีก 1 เกม
5 เกม.. 9 ประตู
ในเกมเปิดสนามกับเดนมาร์ก พลาตินี่คือคนทำประตูโทนของเกมก่อนหมดเวลา 12 นาทีให้ฝรั่งเศสเบียดชนะ 1-0
เกมที่สองกับเบลเยียม เขาทำแฮตทริกในชัยชนะ 5-0
เกมที่สามกับยูโกสลาเวีย เขาทำแฮตทริกอีกครั้งในชัยชนะ 3-2
เกมที่สี่กับโปรตุเกส เขาทำประตูชัยนาที 119 พาฝรั่งเศสเข้าชิง
เกมที่ห้ากับสเปน เขาทำประตูเบิกร่องให้ทีมขึ้นนำก่อนชนะ 2-0 คว้าแชมป์สมัยแรกไปครองอย่างยิ่งใหญ่
5 เกม.. 9 ประตู.. 2 แฮตทริก.. 2 ประตูชัย.. 1 ประตูขึ้นนำในเกมสำคัญที่สุด ทุกประตูของเขาในทัวร์นาเมนต์นั้นล้วนมีความหมาย ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
น่าเหลือเชื่อใช่ไหมครับ แต่ในรายละเอียดที่ลึกลงไปยิ่งน่าเหลือเชื่อกว่านั้นอีก..
----------------
หลังพังประตูโทนให้ทีมเอาชนะเดนมาร์กในเกมเปิดสนามแล้ว พลาตินี่ก็จุดระเบิด ไม่มีใครหยุดยั้งเขาได้เลย
เกมต่อมากับเบลเยียม เขากระหน่ำแฮตทริกในชัยชนะ 5-0
ประตูแรกเก็บตกบอลหน้าเขตโทษก่อนสับไกยิงด้วยเท้าซ้าย ประตูที่สองยิงจุดโทษด้วยเท้าขวา และประตูที่สามเทกตัวโขกตุงตาข่าย
เป็นแฮตทริกด้วย เท้าซ้าย-เท้าขวา-โหม่ง
เพียงแต่มันไม่ใช่เพอร์เฟกต์แฮตทริก เพราะไม่ได้เกิดขึ้นในครึ่งเวลาเดียวกัน ประตูแรกเขายิงในครึ่งแรก สองประตูต่อมาเขายิงในครึ่งหลัง ทั้งยังมีประตูจาก อแล็ง ชีแรส และ หลุยส์ แฟร์กน็องเดซ ขุนพลร่วมกลุ่ม Magic square (สี่เหลี่ยมมหัศจรรย์ - บ้านเราตั้งฉายาให้ใหม่ว่า สี่ทหารเสือ) กับ พลาตินี่ และ ฌอง ติกาน่า คั่นในลูก 2-0 กับ 3-0
โอเค.. ไม่เป็นไร ไม่ใช่เพอร์เฟกต์แฮตทริกใช่ไหม ลองดูใหม่ก็ได้
เกมต่อมา.. นัดสุดท้ายของรอบแรก วันที่ 19 มิถุนายน ปี 1984 ที่สต๊าด เจฟฟรัว-กีชาร์ เมืองแซงต์-เอเตียนน์
พลาตินี่ นำลูกทีมลงสนามพบกับ ยูโกสลาเวีย ในสังเวียนแข้งที่เขาคุ้นเคยเป็นอันดับสองรองจาก สต๊าด มาร์กแซล ปิโกต์ ของน็องซี่ ต้นสังกัดแรกในชีวิตที่อยู่ยาว 7 ปี
สามฤดูกาลที่แซงต์-เอเตียนน์ เขาตะบัน 82 ประตูจาก 145 เกมพาทีมเลส์แวร์คว้าแชมป์ลีกเอิงฤดูกาล 1980/81 และเข้าชิงเฟร้นช์คัพอีก 2 ครั้ง ก่อนย้ายไปร่วมทัพ "ม้าลาย" ยูเวนตุส ในปี 1982
ท่ามกลางเสียงเชียร์จากแฟนบอล 47,510 คน พลาตินี่ทำแฮตทริกอีกหน..
พอจะคาดเดากันออกใช่ไหมครับว่าเป็นแฮตทริกแบบไหน
ซ้าย-ขวา-โหม่ง เหมือนเดิม แต่คราวนี้ทั้ง 3 ประตูเกิดขึ้นในครึ่งเวลาเดียวกันโดยไม่มีใครมายิงคั่น
เป็นเพอร์เฟกต์แฮตทริก!
นาที 59 วิ่งเข้าชาร์จลูกเปิดจาก ฌอง-มาร์ก แฟร์เรรี่ ที่เสาสอง แปด้วยซ้ายผ่านตัว โซรัน ซิโมวิช ผู้รักษาประตูยูโกสลาเวีย ตีเสมอให้ทีมเป็น 1-1
นาที 62 พุ่งโหม่งลูกครอสจากทางขวาของ พาทริก บาติสตง ส่งบอลเข้าหน้าต่างเสาไกลให้ฝรั่งเศสแซงนำ 2-1
นาที 77 ยิงฟรีคิกกลางประตูหน้ากรอบเขตโทษด้วยเท้าขวา ตักบอลข้ามกำแพงเสียบเสาหมดจดพาทีมทิ้งไกล 3-1
พลาตินี่ทำแฮตทริกแบบยิงด้วยเท้าซ้าย-เท้าขวา-โหม่ง 2 เกมติดต่อกัน ครั้งแรกยังไม่ใช่เพอร์เฟกต์แฮตทริก แต่ครั้งที่สองเป็นเพอร์เฟกต์แฮตทริก มันเป็นท่วงทำนองของศิลปินโดยแท้
ฝรั่งเศสเข้ารอบตัดเชือกพบกับโปรตุเกส และร่วมกันสร้างเกมที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปขึ้นมาด้วยกันที่ สต๊าด เวโลโดรม ของโอลิมปิก มาร์กเซย
และแน่นอนครับ คนที่เป็นผู้สรุปมัน.. ก็คือพลาตินี่
ฌอง-ฟรองซัวส์ โดแมร์ก แบ๊กซ้ายจากตูลูสหวดฟรีคิกเต็มเหนี่ยวให้ฝรั่งเศสขึ้นนำ 1-0 ในครึ่งแรก แต่ รุย ยอร์เดา กองหน้าจากสปอร์ติ้ง ลิสบอน โหม่งตีเสมอให้โปรตุเกสก่อนหมดเวลา 16 นาที
เกมยืดเยื้อถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ ยอร์เดา วอลเล่ย์ผ่านมือ โฌเอล บัตส์ ให้โปรตุเกสพลิกนำ 2-1 ในนาทีที่ 98 ก่อนที่ โดแมร์ก จะเติมขึ้นไปยิงเก็บตกในเขตโทษตีเสมอให้ฝรั่งเศสบ้างเป็น 2-2 ในนาที 114
เกมกำลังจะต้องไปตัดสินด้วยการดวลจุดโทษอยู่แล้ว แต่ในนาทีที่ 119 ฌอง ติกาน่า ก็พาบอลทะลุเข้าเขตโทษด้านขวาก่อนตวัดเปิดเข้ากลาง บอลไหลผ่าน มานูเอล เบนโต้ นายทวารโปรตุเกสที่ออกมาปิดเสาแรกและกองหลังอีก 2 คนที่ถลำไปหมดมาถึง พลาตินี่ ตรงเส้น 6 หลากลางประตู
นโปเลียนลูกหนังไม่ร้อนรนไปกับสถานการณ์ที่บีบคั้น เขาแต่งบอลอย่างใจเย็นด้วยเท้าขวาก่อนจะยิงเน้น ๆ ด้วยเท้าข้างเดียวกันตุงตาข่ายไม่มีเหลือพาฝรั่งเศสชนะอย่างบีบหัวใจ 3-2 ผ่านเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกชนิดคนฝรั่งเศสดีใจบ้าคลั่งกันทั้งชาติ
และในนัดชิงชนะเลิศกับสเปนที่ ปาร์ก เดส์ แพร็งซ์ พลาตินี่ก็เป็นคนยิงฟรีคิกในครึ่งหลังให้ทีมขึ้นนำ 1-0 แม้จะเป็นความผิดพลาดของ หลุยส์ อาร์กอนาด้า นายทวารกระทิงที่รับบอลปลิ้นลอดตัวเข้าไปก็ตาม ก่อนที่ ติกาน่า จะแทงให้ บรูโน่ แบลโลน หลุดไปชิพบอลข้ามตัว อาร์กอนาด้า เข้าไปในนาทีสุดท้าย
ฝรั่งเศสเป็นแชมป์ยุโรป และศึกยูโร 1984 ก็แทบจะพูดได้ว่าเป็นทัวร์นาเม้นต์ของ มิเชล พลาตินี่ โดยแท้
-ทำประตูได้ทุกเกมที่ลงสนาม
-ทำประตูชัยให้ทีมในเกมแรก
-ทำแฮตทริกได้ 2 ครั้งใน 2 เกมติดต่อกัน และทำมันด้วยเท้าซ้าย-เท้าขวา-โหม่ง ทั้ง 2 ครั้ง โดยที่หนึ่งในนั้นเป็นเพอร์เฟกต์แฮตทริก
-ทำประตูชัยนาที 119 พาทีมเข้าชิง
-ทำประตูเบิกร่องในนัดชิงชนะเลิศ
9 ประตูของพลาตินี่ยังคงเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลในทัวร์นาเม้นต์เดียวของฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ตัวเลขที่ใกล้เคียงสถิติของเขาที่สุดคือ 6 ลูกของ อองตวน กรีซมันน์ ศูนย์หน้ารุ่นน้องที่ทำได้ในปี 2016
ทั้ง 9 ประตู เกิดขึ้นจากการลงสนามเพียงแค่ 5 นัด และทุกประตูล้วนมีความหมายทั้งสิ้น ทั้งต่อเกม และต่อผลงานของตัวเขาเอง
คงจะมีนักฟุตบอลเพียงไม่กี่คนนะครับที่มีทัวร์นาเมนต์เป็นของตัวเอง มิเชล พลาตินี่ สยบทุกอย่างไว้แทบเท้าของเขาด้วยความมหัศจรรย์ในยูโร 1984 จริง ๆ
ตังกุย