ยูโร2024 แมตช์แรกผ่านสายตาครบ24 ทีม12 แมตช์ ไปแล้ว
มีการยิงประตู34 ลูกเฉลี่ย คู่ละ 2.83 ยอดเฉลี่ยแฟนบอล 53,000+
ยูฟา ส่งตัวเลขการทำประตูนอกเขตโทษถึง11 ลูก หนึ่งในนั้นเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมาจากการปั่นไซด์โป้งของ อาร์ดา กือแลร์ "เมสซี ตุรกี" อย่างสุดสวย ในชัยชนะต่อจอร์เจีย 3-1
นั่นเองที่ "เมสซี ตุรกี" สร้างสถิติใหม่ในยูโร ลงเล่นนัดแรกก็ยิงได้เลย ด้วยอายุน้อยที่สุดเท่าที่มีการแข่งขันยูโรคือ 19 ปี 114 วัน ทำลายสถิติเดิมของ คริสเตียโน โรนัลโด้ ตอนนั้นอายุ 19 ปี 128 วันในศึกยูโร 2004
ปีที่พี่โด้ยิงนั้น กือแลร์ ยังไม่ลืมตาดูโลกเลย....
จากปี 2004 โรนัลโด้ เล่นยูโรเที่ยวล่าสุดเป็นสมัยที่ 6 คงหายากที่จะมีใครแซงได้ในช่วงเวลานับจากนี้
เอฟซีพี่โด้ ช่วยลุ้นให้คว้าแชมป์สมัยสอง จะเทียบเท่ากัปตัน กาสิยาส ของสเปน ซึ่งลุ้นยากอยู่ แต่ถ้าลุ้นให้ยิงประตูทำสถิติยิงทุกยูโร อันนี้เหลืออีกสองเกม+ น่าจะเกิดขึ้นได้
ตุรกีจะเป็นเหยื่อ โรนัลโด้ หรือไม่รอลุ้นกัน
ว่ากันถึงยูโร 2024 ครั้งนี้มีโครงการไม่ลับเปิดตัวออกมาให้ชาวโลกได้เห็นนั่นคือ
UEFA EURO 2024 the most sustainable European Championship of all time...
หรือ ฟุตบอลยูโร 2024 เป็นทัวร์นาเม้นต์ชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่ยั่งยืนมากที่สุดตลอดกาล
แน่นอน...โครงการนี้คือครั้งแรกของยูโร และทัวร์นาเม้นต์กีฬาของชาวยุโรป กับความตระหนักรับรู้ถึงการสร้าง "ความยั่งยืน" บนทวีปนี้
"ความยั่งยืน" หรือ sustainability คือคำที่ชาวโลกตื่นตัวกันมานานหลายปีนับจากปรากฏการณ์โลกร้อนจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง, อาหารการกิน,ทำลายสิ่งแวดล้อม......
ภาวะก๊าสเรือนกระจกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปีอันเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างสิ้นเปลือง (carbon footprint) คือเป้าหมายที่ยูโร2024 ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าสเรือนกระจกลงให้ได้ตามเป้า
เจ้าภาพเยอรมนี แนบโปรเจกต์ "ฟุตบอลยูโรเพื่อความยั่งยืน" ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โดยความร่วมมือกันของยูฟา, เดเอฟเบ (สมาคมฟุตบอลเยอรมนี) และ รัฐบาลเยอรมนี รวมทั้ง United Nations หรือ สหประชาชาติ
ผมขอสรุปพอเข้าใจในความเป็นไปของเรื่องนี้ ว่า เจ้าภาพเยอรมนี ต้องการสร้างความยั่งยืนผ่านยูโร 2024 ในหลากหลายรูปแบบ
อย่างเช่น....การเดินทาง
ยูโร ครั้งนี้เยอรมนี ใช้ 10 เมืองดูเหมือนเยอะ แต่ก็จะแบ่งเป็นสามส่วน ฟากตะวันตกแคว้นไรน์ มี4 เมืองใหญ่ เกลเซนเคียร์เชน, ดอร์ทมุนด์,ดุสเซลดอร์ฟ, โคโลญจน์ กลุ่มตอนเหนือและฝั่งตะวันออก ฮัมบูร์ก , เบอร์ลิน , ไลป์ซิก และกลุ่มทางใต้ มิวนิค, สตุตการ์ท,แฟร้งค์เฟิร์ต
หลายทีมหลายกลุ่มอยู่ในระยะทางที่ไม่ไกลจากแคมป์เก็บตัว ถ้าเดินทางโดยรถบัส 1-2 ช.ม. แต่ก็มีหลายทีมที่เลือกแคมป์เก็บตัวไกลจากสนามแข่ง จำเป็นต้องใช้การเดินทางโดยเครื่องบินอย่างเช่นอังกฤษเก็บตัวกอล์ฟรีสอร์ต ใกล้ๆ ไลป์ซิก(ตะวันออกเยอรมนี) แต่มีโปรแกรมแข่งฟากตะวันตก อย่างเกมแรกที่เตะสนามชาลเก้ ในเมืองเกลเช่นเคียร์เช่น พวกเขานั่งเครื่องลงดุสเซลดอร์ฟ และรถบัสต่อไปสนามชาลเก้ อีกช.ม. เศษๆ
ที่น่าสนใจเรื่องการเดินทาง...ในยูโร ครั้งนี้ลดการเดินทางโดยเครื่องบิน (ตัวปล่อยก๊าสเรือนกระจก) เทียบกับยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศสนั้นกว่า 75% เดินทางแข่งขันโดยเครื่องบิน ทั้งทีม,แฟนบอลและทุกคน ขณะที่ยูโร 2024 ครั้งนี้ที่เยอรมนีลดลงเหลือ 25%
อย่างเช่นเยอรมนี เจ้าภาพ ปักหลักอยู่ที่บ้านเกิดอดิดาสและปูมา เมือง Herzogenaurach ใช้เวลาเดินทางโดยรถบัสไปมิวนิค เพื่อเตะนัดเปิดสนามเกือบสองช.ม. จากนั้นนัดสองพวกเขาเตะที่สตุตการ์ท เดินทางโดยรถบัสสองชั่วโมงนิดๆ
นัดที่สามเยอรมนีไปเตะที่ แฟรงค์เฟิร์ต รถบัสไม่ถึงสองช.ม. เช่นกัน
ทีมออสเตรีย ใช้แคมป์ฝึกซ้อมที่เบอร์ลิน ซึ่งพวกเขาเตะที่โอลิมปิก สเตเดี้ยม กรุง เบอร์ลิน 2 แมตช์ บินไปเตะที่ดุสเซลดอร์ฟ1 แมตช์
เนเธอร์แลนด์ อยู่ที่โวล์ฟบวร์ก ตรงกลางระหว่าง ฮัมบูร์ก,เบอร์ลินและไลป์ซิก ซึ่งพวกเขาต้องไปแข่งขัน เดินทางรถไฟจากแคมป์ไปฮัมบูร์ก 2 ช.ม. จาก โวล์ฟบวร์กไปเบอร์ลิน 1 ช.ม. อีกนัดหนึ่งเตะไลป์ซิก เดินทางไปไลป์ซิกใช้เวลา 1 ช.ม.45 นาที
คือไม่ต้องใช้เครื่องบินเลย....
แน่นอนว่าหลายทีมเลือกแคมป์เก็บตัวไม่ห่างจากสนามแข่งขันมากนัก เพื่อเป็นการลดการใช้เครื่องบิน ตัวการปล่อยก๊าสเรือนกระจก แถมยังประหยัดงบประมาณไปในตัวอีกด้วย...
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ....คือการจัดโปรแกรมแข่งขันโดยทีมเจ้าภาพนั้นใช้งานมือ (เจ้าหน้าที่สิบคน) ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ ทำ ทีมนี้จัดทำกันล่วงหน้าก่อนการจับสลาก เพื่อกำหนดเส้นทางให้แต่ละทีม แต่ละรอบแข่งขัน โดยลดการเดินทางด้วยเครื่องบินให้น้อยที่สุด
เรื่องสนามแข่งขัน....
มีผู้จัดการโครงการยูโรเพื่อความยั่งยืนทั้ง 10 สนามพร้อมอาสาสมัครทำงานคู่ขนานไปกับการแข่งขัน เน้นประสานงานกับฝ่ายจัดแข่งขัน ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น...การดูแลเรื่องพลังงานและการใช้น้ำในแต่ละสนามแข่งขัน
โดยเฉพาะ "ขยะ" ทั้งในและบริเวณรอบๆสนาม รวมทั้งในเมือง ซึ่งทางสภาเมืองจะช่วยดูแลส่วนนั้น ด้วยหลักการ 4R คือ reusing, reducing,recycling,recovering waste
ลูกบอลยูโร
Fussballliebe หรือสมาร์ต บอล ที่ผลิตโดยมีเทคโนโลยีเชื่อมต่อภายในลูกบอลเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของลูกบอลและตำแหน่งของมันแบบเรียลไทม์ อันนี้ผลิตมาเพื่อช่วยการตัดสินอย่าง "ล้ำหน้า" หรือ "แฮนด์บอล" แต่วัสดุที่ทางอดิดาสผลิตลูกบอลนี้ขึ้นมาจาก
60% polyurethane หรือหนังสังเคราะห์ PU
40% recycled polyester รีไซเคิลขยะพลาสติกเช่นขวดน้ำ...
นี่เป็นบางตัวอย่างที่ยกมานะครับ...ยังมีรายละเอียดต่างๆมากมายในความร่วมมือของหลากหลายองค์กรที่ร่วมกันรับผิดชอบในการจัดฟุตบอลยูโร 2024 เพื่อความยั่งยืน ซึ่งหาอ่านได้จาก www.uefa.com ครับ
หลังจบยูโร 2024 เมื่อเจ้าภาพสรุปผลงาน "ฟุตบอลยูโร เพื่อความยั่งยืน" ผมจะนำมาเขียนถึงอีกครั้งหนึ่งครับ
JACKIE